เสรีภาพสื่อไทยในยุคเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด

สื่อมวลชนได้กลายเป็นสื่อเชิงพาณิชย์มากขึ้น แสวงหากำไรสูงสุด บางสำนักก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฎิเสธยากในยุคการเมืองผูกขาด  ฝ่ายกองบรรณาธิการมีอำนาจน้อยกว่าฝ่ายจัดหาโฆษณา……

 

เรียบเรียง : สันสกฤต  มุนีโมไนย
กองบรรณาธิการ
: ทีมสื่อสารสาธารณะ

 

         เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดสัมมนาประจำปี เรื่อง เสรีภาพสื่อไทยในยุคเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด  เริ่มต้นการเสวนาโดยนักวิชาการนิเทศศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอรายงานวิจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ สื่อสารมวลชนไทยในแง่มุมต่างๆ
       โดยเริ่มจาก ดร.พิรงรอง รามสูตร รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอรายงานเรื่อง  การกำกับดูแลสื่อเชิงเนื้อหา”  ว่าปัญหาของการกำกับเนื้อหาของวิทยุโทรทัศน์คือขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการดูแลติดตาม ตรวจสอบ เนื่องจากอำนาจที่มีไม่เต็มที่ของคณะกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ(กกช.)

 

เพราะยังอยู่ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งยังเป็นของรัฐ จึงทำให้ขาดความหลากหลายในด้านเนื้อหา โดยเฉพาะเนื้อหาประเภทข่าวที่ปัจจุบันกลายเป็นแบบแผนตามนโยบายแต่ละสถานี ซึ่งผูกพันอยู่โครงสร้างและลักษณะการเป็นเจ้าของสถานีของรัฐ และผู้ที่เป็นเจ้าของงานประมูล ส่งผลให้นักข่าวถูกจำกัดเสรีภาพไม่กล้าเสนอข่าวที่แสดงความขัดแย้งของผลประโยชน์ของเจ้าของสถานีและผู้มีอำนาจรัฐ

 

ดร.พิรงรอง กล่าวว่า สำหรับการควบคุมเนื้อหนังสือพิมพ์นั้นรัฐสามารถทำได้โดยกลไกสำคัญคือตำรวจสันติบาล รวมทั้งการใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยการใช้วิธีการฟ้องหมิ่นประมาทนักหนังสือพิมพ์ซึ่งที่ผ่านมาพบว่านักหนังสือพิมพ์อยู่ในแนวโน้มที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐหรือนักการเมือง ข้อสังเกตอีกประการคือการพยายามเพิ่มความยุ่งยากให้แก่นักหนังสือพิมพ์ที่ถูกฟ้องทั้งกับตำรวจและศาล หรือฟ้องในหลายๆ จังหวัดเพื่อให้เสียเวลาเดินทางไปประกันตัวและเสียค่าประกันตัว นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะแทรกแซงความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการซึ่งปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือการอาศัยกลไกทางธุรกิจแล้วปลดหรือโยกย้ายบรรณาธิการข่าวไปสู่ตำแหน่งที่ไม่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางข่าว
         

 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่เจ้าของกิจการปลดนายวีระ ประทีปชัยกูร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ออกจากตำแหน่ง ทั้งๆที่นายวีระดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และในวันที่    ปลดนั้นคือวันที่ 3 พ.ค.ซึ่งถือเป็นวันเสรีภาพสื่อระดับสากล ถือว่ารัฐตบหน้าวงการสื่อสารมวลชน 2 ครั้งใหญ่ๆ   ดร.พิรงรอง กล่าว

 


ด้าน ดร.วิลาสินี พิพิธกุล
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์ของสื่อมวลชนในรอบปี 2546-2547 นี้ต้องเผชิญด้วยการถูกท้าทายอย่างเข้มข้นและรุนแรงกว่าช่วงปีอื่นๆแม้ว่าส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องมา ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในปี 2544 แต่ผลกระทบของการถูกท้าทายและแทรกแซงนั้นมาปรากฎชัดเจนยิ่งขึ้นในปี 2546 เรื่อยมาตามลำดับและเป็นที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพและคุณภาพในการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนในปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปี 2548 จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีก เพราะเป็นระยะสุดท้ายแห่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

 สภาพปัญหาวันนี้คือ การมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการทำหน้าที่บริหารงาน สาธารณะของกลุ่มธุรกิจของกลุ่มการเมืองพรรครัฐบาลที่มีกลุ่มทุนสื่อสารเป็นฐานเชื่อมต่ออำนาจทางการเมือง ทำให้การแทรกแซงและกวาดต้อนสื่อมาเป็นพวกเป็นไปอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการเข้าไปจัดการกับเนื้อหาและสัดส่วนรายการของสื่อต่างๆ  จนทำให้วิตกได้ว่าความกดดันเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อหลักการของความเป็นสื่อเสรี ที่มีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ  ดร.วิลาสินี กล่าว

               ดร.วิลาสินียังกล่าวอีกว่า  ในช่วงสถานการณ์การเลือกตั้งทั่วไป กลุ่มนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ จะผลักดันโครงการพัฒนาและเฝ้าระวังสื่อขึ้นมา เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อในการเสนอข่าวการเลือกตั้งว่ามีความเอนเอียงและมีความเป็นกลางมากน้อยแค่ไหน

 

 

                ต่อมา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ

      วันนี้ความชอบธรรมของรัฐลดน้อยถอยลง วาจาสิทธิของรัฐบาลที่ประชาชนเคยเชื่อ ประชาชนก็เห็นชัดว่าไม่ได้มีอยู่จริง คนในสังคมเริ่มรู้แล้ว โครงการต่าง ๆของรัฐบาลที่โฆษณาก็ล้มเหลว ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เช่น โครงการอีลิทการ์ด โครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น คนไม่เชื่อว่ารัฐบาลซื่อสัตย์สุจริต มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ความชอบธรรมลดลง การสั่งการจึงไม่ได้ผล ต้องใช้วิธีบีบบังคับ หรือซื้อด้วยเงิน ดร.สมเกียรติ กล่าว

                 ดร.สมเกียรติ ได้นำเสนอรูปแบบในการแทรกแซงสื่อของรัฐ 10 รูปแบบ คือ         

1. การใช้สื่อของรัฐโฆษณาประชาสัมพันธ์รัฐบาลฝ่ายเดียว และกีดกันคนที่คิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล ที่น่าห่วงตอนนี้คือรัฐบาลใช้สื่อโทรทัศน์สนับสนุนแนวคิดตัวบุคคลที่มีประวัติส่งเสริมเผด็จการ      ขวาจัดออกทีวี

2. แทรกแซงสื่อที่ได้รับสัมปานจากรัฐด้วยการกดดันเพื่อต่อรองเรื่องการต่อใบอนุญาต

3. ใช้กฎหมายการพิมพ์บีบรัดจำกัดเสรีภาพ

4. ใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น ใช้ กฎหมายฟอกเงินเล่นงานสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับตน

5. ใช้อำนาจรัฐขัดขวางการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจ และสื่อที่มีความคิดเห็นตรงข้ามรัฐบาล เช่นวิทยุชมชน และสื่อขนาดเล็ก

6. แทรกแซงบุคลากรผู้ปฎิบัติงานสื่อ เช่น ใช้อำนาจสั่งการปลดบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

7. การเข้าไปเป็นเจ้าของสื่อเสียเอง

8. ให้ความช่วยเหลือธุรกิจ ที่เจ้าของสื่อมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย และกีดกันธุรกิจอื่นที่เป็นปรปักษ์ทางการเมืองกับรัฐบาลเพื่อกดดันให้ร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐบาล

9. ใช้พันธมิตรทางการเมือง และธุรกิจของตนฟ้องร้องสื่อ แทนนักการเมือง เช่น กรณี ฟ้องแกนนำ คปส. ทั้งนี้ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพจากรัฐ
10. แทรกแซงสื่อผ่านเม็ดเงินในการลงโฆษณา

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนผูกขาด และกลุ่มทุนผูกขาดใช้สื่อสร้างภาพเพื่อให้เห็นว่าสินค้าของตัวเองมีความแตกต่างกับรายอื่น และการเลือกตั้งหน้าการเมืองผูกขาดมีความชัดเจน จะมีพรรคการเมืองเดียวได้เสียงข้างมาก ดังนั้นทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่ผูกขาด จะเป็นพลังอำนาจหยาบ ( Hard Power ) ที่อุดมไปด้วยพลังเงิน ทั้งกระสุนอำนาจ กระสุนเงิน จากเดิมที่ยังมีพลังของอำนาจละเอียด ( Softpower) คือมีความชอบธรรม ก็ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ ที่ผู้นำรัฐบาลมักจะอ้างว่าได้รับเลือกมาจากประชาชน 11 ล้านคน ตอนนี้ก็ไม่ค่อยได้รับความน่าเชื่อถือ

                    ด้านนายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย    ยอมรับว่ายุคนี้เป็นยุคที่เศรษฐกิจและการเมืองเข้มแข็งมาก โดยกลุ่มธุรกิจที่กุมอำนาจดังกล่าวมี 5 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม กลุ่มธุรกิจขนส่ง พลังงาน สถาบันการเงิน สาธารณสุข ที่ดิน ที่สำคัญคือสื่อสารมวลชนก็อยู่ในมือของเขา โดยกลุ่มเหล่านี้ใช้อำนาจรัฐบาลควบคุมสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. ซึ่งควบคุมมาถึงช่อง 3 และช่อง 5 และ ช่อง 7 ควบคุมโดยกองทัพบก รวมถึงช่อง 11 ที่ควบคุมโดยตรงจากกรมประชาสัมพันธ์ และควบคุมสถานีวิทยุกว่า 500 สถานี มีเพียงสื่อหนังสือพิมพ์ประเภทเดียวที่ยังเป็นอิสระอยู่

รัฐบาลปัจจุบันเป็นตระกูลที่เข้มแข็งที่สุด 5 ตระกูล ทีเกี่ยวพันกับสื่อ   อย่างน้อยทีวี 2 ช่อง  นสพ. 1 ฉบับ        นสพ. ที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ได้รับคำสั่งให้ให้เข้าไปประเมินในการซื้อหุ้นได้แล้ว และยิ่งเป็นรัฐบาลขาลง   กลุ่มทุนซึ่งมีเครือข่ายรัฐบาลเชื่อมโยงกับทั่วประเทศ ก็สามารถควบคุมได้ทั้งหมด นอกเหนือจากการสั่ง หรือไม่ได้สั่งโดยตรง ก็สามารถสั่งการได้ผ่านทางจดหมาย หรือมีเลขาส่วนตัวส่งสัญญาณทุกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งเป็นทางการ เมื่อไม่ต้องการให้ข่าวใดออกวิทยุ หรือโทรทัศน์    นายสมชาย กล่าว
            นายสมชาย ยอมรับว่า การทำหน้าที่ของสื่อกับการอยู่รอดเป็นเรื่องยาก การต่อสู้แบบหัวชนฝาก็อยู่ไม่ได้ บางครั้งต้องยอมถอยก้าวหนึ่งเพื่อเดินหน้าได้หลายก้าว วันนี้รัฐบาลชุดนี้ นอกจากกาเมือง   

เศรษฐกิจเข้มแข็งแล้ว ภาวะตลาดทุน และตลาดเงินก็เข้ามามีส่วนต่อสื่อด้วย โดยเฉพาะการนำสื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาสูงขึ้น หรือ กรณี การเข้าไปควบคุมองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.)  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า 7 คน ที่ได้รับเลือก มีการบล็อคกันไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มไหนที่เข้ามา กติกาก็จะถูกกำหนดโดยคนกลุ่มนี้

 

กรณีที่กำลังสับสนวุ่นวายในขณะนี้ คือ  การที่กรมประชาสัมพันธ์เข้าไปจัดระเบียบความถี่ของวิทยุชุมชน  โดยตอนนี้เปิดให้จดทะเบียน และทำให้เกิดความสับสน โดยรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้จัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชน แต่ปรากฏว่า ตอนนี้มีคลื่นนับพัน ทั้งจากนักการเมือง อบต. นักธุรกิจ นักจัดรายการวิทยุอิสระ บริษัทขายเทป กลุ่มนักธุรกิจบันเทิง ฯ ผู้ประกอบการสถานีวิทยุหลัก และเครือข่ายใหญ่ ๆ เร่งเข้ามาจับจองคลื่นความถี่ทั้งในเมือง และกทม. จนสับสนอลหม่านไปหมด ทำให้ราคาสูงขึ้นโดยไม่จำเเป็น ตอนนี้เครื่องของกรมประชาสัมพันธ์ ขายดิบขายดี ไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 เครื่อง  ราคา 2 แสนบาท/ชุด  นายสมชาย กล่าว

 

ด้าน นายพงษ์ศักดิ์  พยัฆวิเชียร บรรณาธิการอำนวยการใหญ่หนังสือพิมพ์มติชน กล่าวว่า       การที่เราพูดกันว่า ขาประจำ ขาถาวร   ประชาธิปไตยในระบอบรัฐธรรมนูญถือว่าทุกคนเป็นขาถาวร ไม่ว่าจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ อาจารย์ นักวิชาการ  ทุกคนต้องแสดงความคิดเห็น ต้องฟังกัน เราต้องเตือนให้รัฐมนตรีทำหน้าที่ของเขา    เราต้องให้ข้อมูลความรู้ที่มีออกสู่สาธารณะ คนเดียวพูดไม่ได้ ถูกกล่าวหา แรงไม่พอ ก็พูดในนามของสมาคม ของกลุ่มคณะ ของสาขาวิชาชีพ เขาก็ต้องฟัง เพราะอย่างไรก็ตามมันก็ยังมีระบบของการเมืองการเลือกตั้งของกฎรัฐธรรมนูญซึ่งบังคับอยู่ ในเวลาเดียวกัน เราต้องให้ความรู้นี้ ให้ข้อมูลรอบด้านมากขึ้น ให้สติปัญญา แก่ประชาชน เช่นถ้าเป็นสื่อเราต้องแยกสื่อออกมาให้ชัด ว่าขณะนี้แบ่งเป็นสองสื่อชัดเจนคือ สื่อของรัฐคือ วิทยุและโทรทัศน์  กับสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นของเอกชน มีการซื้อการขาย การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

เราต้องผลักดันผู้ที่มีอำนาจรัฐให้เข้าใจว่าการใช้สื่อของรัฐกับประชาชน ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ต้องให้ความรู้รอบด้านให้ปัญญา มีวิธีคิด ให้สติ ต้องเตือนว่ารายการบางรายการมันไม่ใช่ สื่อของรัฐปล่อยให้มีรายการบันเทิงมากมายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้และเป็นบันเทิงที่มอมเมา ไม่สร้างสรรค์หรือการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเรตติ้ง ส่งข้อความ sms อย่างนี้ไม่ควรทำ หรือการเข้าไปเจาะลึกในเรื่องราวต่างๆ Who What When Where Why How ในบางเรื่อง  How ต้องระมัดระวังในการทำ  ต้องพยายามหาคำตอบเรื่อง Why ให้มาก ในขณะนี้เราไม่ค่อยตอบคำถาม Why เราเน้นแต่ How เพียงอย่างเดียว บางครั้ง How ก็ไม่ค่อยทำ   ทำแค่ Who What  When Where   

อย่างในกรณีเหตุการณ์ที่ภาคใต้ ข้อเท็จจริงต่างๆไม่ได้ออกมาทั้งหมด ก็ไม่มีความรู้ทางด้านนั้น เราถึงพบว่า ความคิดของคนที่แสดงออกมา ไม่ได้แสดงถึงสติปัญญาและพื้นความรู้ที่ถูกต้องเลย อ่านแล้วมีความรู้สึกว่า สังคมนี้เป็นอย่างนี้หรือ ระบบทั้งหมดนี้มาจากเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด ไล่กันมาหลายตอน   รัฐผูกขาดเศรษฐกิจ การเมืองแต่ไม่ได้มีเรื่องเสรีภาพเลย แต่ถ้าเรามีปัญญา มีความรู้หลากหลาย มีความคิดในระดับนักวิชาการ เผยแพร่ความรู้ที่หลากหลายนั้นสังเคราะห์เป็นปัญญาและกระจายออกไปทุกด้าน ในขณะนี้สื่อไม่ได้มีแค่สื่อกระแสหลักเท่านั้น ทุกคนเป็นสื่อ เราสามารถเป็นสื่อมวลชนของเราเองได้ ออกทางอินเทอร์เน็ต วิทยุ หนังสือพิมพ์ของเราเองได้ จะให้ปัญญา ให้ความรู้อย่างไรก็ได้  เราต้องรู้เท่าทันสื่อ คือการรู้เท่าทันตนเอง  ว่าตนมีบทบาทอย่างไร และรู้เท่าทันคนอื่นว่าเขาทำอะไรล้ำเกินบทบาทบ้าง   เราต้องกล้าที่จะทำงานในหน้าที่ของเรา”

ขณะที่ รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

   กล่าวว่า ขณะนี้สื่อมวลชนได้กลายเป็นสื่อเชิงพาณิชย์มากขึ้น แสวงหากำไรสูงสุด บางสำนักก็เข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฎิเสธยากในยุคการเมืองผูกขาด  ฝ่ายกองบรรณาธิการมีอำนาจน้อยกว่าฝ่ายจัดหาโฆษณา โดยสื่อในเชิงพาณิชย์รับผิดชอบผู้ให้โฆษณามากกว่าผู้อ่านถึง 70 เปอร์เซนต์ ขณะที่สื่อวิทยุและโทรทัศน์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ให้โฆษณา 100 เปอร์เซ็นต์ เต็ม และที่แย่กว่านั้นยังต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นอีกด้วยในกรณีที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้กองบ.ก.ขาดความอิสระในทางวิชาชีพ สื่อไม่ให้ความสำคัญต่อคนมากกว่าระบบทุนนิยม ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเสนอข่าวทุกวันนี้สอดแทรกสาระบันเทิงมากกว่าการเจาะลึก ผู้เสพข่าวปัจจุบันไม่ได้มีฐานะเป็นพลเมืองแต่เป็นเพียงลูกค้าของสื่อเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยที่ปราศจากพลเมือง

Be the first to comment on "เสรีภาพสื่อไทยในยุคเศรษฐกิจการเมืองผูกขาด"

Leave a comment

Your email address will not be published.