แนวคิดชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและการก่อเกิด LDI : กฤษฎา บุญชัย

1.บทนำ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.) ถือกำเนิดขึ้นมาในท่ามกลางพัฒนาการการต่อสู้ทางแนวคิดด้านการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองที่หลากหลายและเข้มข้นทั้งในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ โดยทั้งนี้ สทพ.ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ได้เริ่มต้นบุกเบิกแนวคิดเกี่ยวกับ “ชุมชนท้องถิ่น” ในบริบทของการเมืองของการพัฒนา ทั้งการใช้วิพากษ์ทิศทางการพัฒนาของประเทศ และการเสนอทางเลือกนโยบายการพัฒนาของท้องถิ่น

จากก่อนหน้านี้ที่แนวคิดชุมชนท้องถิ่นยังจำกัดวงวิชาการสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา[1] และในวงการพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนที่เสนอแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนซึ่งมีมิติการพัฒนาทางเลือกในระดับพื้นที่เท่านั้น

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าวก็ได้พัฒนามาสู่นัยทางการเมืองระดับนโยบายอย่างชัดเจนจากการเกิดขึ้นของวาทกรรม “สิทธิชุมชน” ที่สทพ.มีบทบาทผลักดัน โดยอาศัยงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้และการผลักดันนโยบาย เริ่มต้นจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการป่าชุมชน และขยายตัวมาสู่การจัดการลุ่มน้ำ การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ความหลากหลายทางชีวภาพ จนถึงทุกวันนี้วาทกรรม “สิทธิชุมชน” ไม่ใช่เพียงวาทกรรมหลักที่ขบวนการประชาชนโดยเฉพาะชนบทใช้ต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์อำนาจเท่านั้น แต่วาทกรรมดังกล่าวยังมีตำแหน่งแห่งที่ในรัฐธรรมนูญ อันทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อทางการเมืองนอกระบบกับในระบบ สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญจึงเป็นพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่ ภาษาใหม่ แนวคิดใหม่ ที่เป็นฐานให้ชุมชนได้ต่อรองกับอำนาจรัฐและโลกาภิวัตน์ได้มากขึ้น
ในขณะเดียวกันกับที่วาทกรรมการพัฒนาของโลกทุนนิยมได้พัฒนาไปอย่างซับซ้อน แนวคิดเรื่อง “ประชาสังคม” ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมานานในแวดวงวิชาการรัฐศาสตร์ ก็ได้รับการหยิบยกมากล่าวถึงในมิติของการพัฒนาโดยนักวิชาการ สถาบันการพัฒนาระหว่างประเทศ สำหรับในประเทศไทย กระแสการเติบโตของคนชั้นกลางที่เริ่มมีบทบาทในทางการเมืองหลังปี 2535 ทำให้องค์กรทางนโยบายต่างๆ ทั้งภาครัฐและสังคมก็ได้หยิบเอาแนวคิดประชาสังคมมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว พร้อมไปกับการสร้างพื้นที่ทางการเมืองของการพัฒนาให้แก่กลุ่มคนชั้นกลางในแต่ละภูมิภาคได้มีบทบาทการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศมากขึ้น สทพ.ยุคหลังก็ได้ปรับยุทธศาสตร์สิทธิชุมชนท้องถิ่นมาสู่ยุทธศาสตร์เสริมสร้างประชาสังคมภายใต้กระแสดังกล่าวด้วย
ภายหลังกระแสแนวคิดประชาสังคมได้ซบเซาลง เพราะบทบาทของรัฐที่เข้าครอบงำและจัดตั้ง “ประชาสังคม” อันทำให้สูญเสียความเป็นอิสระจากรัฐ และความเป็นอาสาสมัครอันเป็นความหมายที่แท้จริงของประชาสังคมไป อีกทั้งการที่บรรดาชนชั้นกลางที่ต้องการพัฒนาท้องถิ่นทั้งหลายขาดการวิเคราะห์ถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง และขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในสังคม ทำให้กลุ่มประชาสังคมต่างๆ ก็ตกอยู่ในกระแสวาทกรรมนานาชนิดที่ล่องลอยอยู่มากมาย เช่น ความเป็นพลเมือง จิตสำนึกสาธารณะ ธรรมรัฐ ธรรมาภิบาล ทุนทางสังคม ข่ายนิรภัยทางสังคม เมืองน่าอยู่ ในแง่นี้ทำให้ สทพ.ยุคหลังในฐานะผู้เป็นหัวหอกสำคัญของขบวนการประชาสังคม ต้องพยายามกระตุ้นและส่งเสริมกลุ่มประชาสังคมต่างๆ เพื่อให้มีฐานที่มั่นคง และเชื่อมต่อกับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น
ในบริบทของวาทกรรมการพัฒนาและการเมืองของการพัฒนาแต่ละยุคสมัย สทพ.ได้มีบทบาททั้งเป็นผู้คิดค้น ผลักดันวาทกรรมทางเลือก และเป็นผู้มีรับเอาวาทกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ วาทกรรมเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดความเป็นตัวตน (Identity) ของสทพ.ทั้งในเชิงคุณค่า แนวคิด เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ วิธีการทำงาน การจัดองค์กร ตลอดจนความสัมพันธ์ต่อกลุ่มเป้าหมาย พันธมิตรที่ทั้งสอดคล้องและแตกต่างกันไป ตัวตนของสทพ.จึงเป็นตัวตนที่หลากหลาย มีทั้งความสืบเนื่อง ความแตกต่าง และความลักลั่นในตัวเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องปกติขององค์กรเชิงยุทธศาสตร์ที่ดำรงอยู่ท่ามกลางความเป็นพลวัตของสถานการณ์ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ฐานความรู้ ประสบการณ์ เครือข่าย พันธมิตรต่างๆ ที่สทพ.ได้สั่งสมไว้กว่า 20 ปี จะสามารถเป็นบทเรียนเพื่อกำหนดตัวตนของสทพ.ที่มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อความผาสุกและความยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นได้อย่างไร ในแง่นี้หากเราสามารถเรียนรู้และจัดการกับบทเรียนที่หลากหลายของสทพ.ได้ สทพ.ก็น่าจะมีทิศทางเพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ชัดเจน
วิธีที่เราจะศึกษารู้จักตัวเองดังกล่าวได้นั้น ก็คือกลับไปทำความเข้าใจตัวตนของสทพ.ที่สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางสังคมการเมืองในแต่ละช่วงอย่างลึกซึ้ง และวิเคราะห์หาความสืบเนื่องและจุดเปลี่ยนในแต่ละช่วงมาจนถึงปัจจุบัน
2. ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กับการกำเนิดของสทพ. (2533-2537)
เมื่อครั้งตั้งสถาบัน คุณหมอประเวศมาถามว่าจะใช้ชื่ออะไรดี ผมเลยบอกว่าต้องเป็นชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มันตรงตัว โปรดสังเกตไว้ว่า ผมได้เติมคำว่าชุมชนเข้าไป ตรงนี้เป็นมิติสำคัญ” (เสน่ห์ จามริก, 2548)
เมื่อย้อนกลับไปก่อนที่จะจัดตั้งสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (local Development Institute) ในปี 2534 ก่อนหน้านี้กลุ่มนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนกลุ่มเดียวกับที่ก่อตั้งสทพ. ก็ได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาท้องถิ่น ไทย-แคนาดา (Local Development Assistance Program) ในปี 2527 ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้ทุนสนับสนุนการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่น ซึ่งเห็นได้ว่า การตั้งชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษนั้น มีแต่คำว่า “ท้องถิ่น” ซึ่งเป็นคำกว้างๆ ทั่วไป ซึ่งผลดีก็คือเปิดกว้าง เพราะอะไรที่ไม่ได้อยู่ในกลไกภาครัฐ ภาคทุน และไม่ได้เป็นเรื่องระดับชาติ ก็เป็นท้องถิ่นได้ทั้งนั้น แต่การเปิดกว้างก็เป็นข้อจำกัดของการขาดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะเป้าหมายคืออะไร และใช้อะไรเป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาท้องถิ่น
สิ่งที่น่าสนใจคือ นัยของคำว่า “ชุมชน” ที่อาจารย์เสน่ห์ ได้เติมเข้าไปในชื่อสถาบัน อันทำให้ชื่อภาษาไทยของสทพ.มีนัยที่แตกต่างจากชื่อภาษาอังกฤษอยู่มาก ทั้งนี้เพราะคำว่า “ชุมชน” มีนัยทั้งทางวิชาการ และในทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้นำเสนอ “ฐานะแนวคิดชุมชนในประวัติศาสตร์ความคิดไทย”[2] ไว้ว่า พัฒนาการแนวคิดชุมชนมี 4 ช่วง ช่วงแรกคือ แนวคิดชุมชนแบบลัทธิพระศรีอาริย์ในช่วงสมัยศักดินา (โบราณ-2475) ซึ่งแม้จะไม่มีคำว่า “ชุมชน” ในสมัยนั้น แต่ก็มีแนวคิดของกลุ่มพลังทางสังคมวัฒนธรรมที่มีระบบความเชื่อ อุดมการณ์ ประเพณีร่วมกัน ของชาวบ้านที่ใช้ต่อสู้กับระบบศักดินาที่เข้ามาบังคับเอาส่วยและเกณฑ์แรงงานจากหมู่บ้าน ชุมชนนัยดังกล่าวจึงเป็นความต้องการรักษาและพัฒนาระบบอนาธิปัตย์ของชุมชน หมู่บ้าน และเครือข่ายที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ช่วงที่สอง แนวคิดชุมชนในลัทธิชาตินิยม (2475-2500) ซึ่งเชิดชูชุมชนใหญ่คือ ชาติ แต่มโนภาพ “ชาติ” ไม่ได้มาจากเครือข่ายของชุมชนท้องถิ่น ช่วงที่สาม การก่อรูปแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน (2500-2540) เมื่อแนวคิดชุมชนหายไปจากสังคมไทยเพราะการพัฒนาทุนนิยม ขณะที่อุดมการณ์สังคมนิยมที่เป็นคู่ต่อสู้ก็เน้นความเป็นชนชั้นมากกว่าความเป็นชุมชน แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนจากกลุ่มนักพัฒนาเอกชนจึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาการเป็นอิสระของชุมชนหมู่บ้านแบบพึ่งตนเองโดยใช้วัฒนธรรมของท้องถิ่น และช่วงที่สี่ แนวคิดเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชนในฐานะแนวคิดคู่ขนานกับแนวคิดทุนนิยม (2540-ปัจจุบัน) ดังปรากฏการณ์เศรษฐกิจพอเพียง การจัดการทรัพยากรของชุมชน เป็นต้น
จากประวัติศาสตร์แนวคิดชุมชนดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การกำหนดให้ความเป็น “ชุมชน” เป็นทั้งเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาของสทพ.นั้น สืบเนื่องจากกระแสวัฒนธรรมชุมชน ที่ต้องการปลดปล่อยท้องถิ่นออกจากการครอบงำของการพัฒนาทุนนิยม และการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ โดยเสนอให้วัฒนธรรมชุมชนเป็นคำตอบของการพัฒนาจากระดับฐานล่าง ด้วยเหตุนี้ความเป็นสทพ.ในยุคเริ่มต้น จึงมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าการพัฒนาท้องถิ่นจะเป็นไปได้ ต้องอยู่บนฐานของความเป็นชุมชน ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ชุมชนเป็นเป้าหมายของการพัฒนา เป็นหน่วยการวิเคราะห์ เป็นหน่วยการผลิตและการจัดการทรัพยากร เป็นรูปธรรมของการกระจายอำนาจ
สิ่งที่สทพ.กระทำต่างจากนักพัฒนาในสายวัฒนธรรมชุมชนทั่วไปก็คือ การสร้างฐานความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งชุมชน ดังเช่น การประสานให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชุมชนในมิติการพัฒนา[3] และการจัดเวที “ทิศทางไท”(2532-2533) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการเกี่ยวกับชุมชนในช่วงก่อนก่อตั้งสถาบัน และใช้ฐานความรู้ดังกล่าวในการกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์การทำงานของสถาบัน ด้วยเหตุนี้ตัวตนของสทพ. จึงเป็นตัวตนที่ผสมผสานทั้งความเป็นสถาบันวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนไปพร้อมกัน จินตนาการและความใฝ่ฝันที่อยากเห็นสทพ.เป็น “TDRI[4] ภาคประชาชน”[5] จึงเกิดขึ้น
รูปธรรมของการดำเนินการของสทพ.ในมิติชุมชนได้แก่ การวิจัยเชิงปฏิบัติการป่าชุมชน การสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ การจัดเวทีสาธารณะด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น การจัดทำสื่อเผยแพร่เกี่ยวกับชุมชนด้านการเกษตร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้ดำเนินไปอย่างไร้ทิศทาง แต่เป็นไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นทั้งการผลิต การจัดการทรัพยากร การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนยกฐานะชุมชนท้องถิ่นในระดับวิชาการและระดับนโยบาย ภายใต้โครงสร้างการทำงานของสทพ.ที่ออกแบบอย่างชัดเจน คือ มีฝ่ายวิจัย ฝ่ายพัฒนา และฝ่ายบริหาร ที่ทำงานทั้งสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็กในท้องถิ่น การวิจัยร่วมกับชุมชน นักพัฒนา และนักวิชาการ และการรณรงค์ทางด้านนโยบายในมิติชุมชนท้องถิ่นร่วมกับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและขบวนการประชาชน
3. วาทกรรม “สิทธิชุมชน”
สิ่งที่สร้างผลสะเทือนสำคัญต่อแวดวงการพัฒนาและทางการเมืองของสทพ. หาใช่การสร้างความรู้และการพัฒนาด้านชุมชนท้องถิ่นในมิติของการพัฒนาเท่านั้น วาทกรรมหลักที่ทรงพลังทางสังคมที่สทพ.ผลิตก็คือแนวคิดเรื่อง “สิทธิชุมชน”
อันเนื่องมาจากการวิเคราะห์ของสทพ.ว่า ชุมชนท้องถิ่นจะเข้มแข็งไปไม่ได้หากกระทำแค่การพัฒนาในพื้นที่ แต่ต้องมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายและการเมือง ซึ่งนโยบายด้านการพัฒนาที่เน้นการเติบโตของภาคทุน โดยสนับสนุนให้ทุนเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรของท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความยากจน ปัญหาความอ่อนแอของชุมชน ลำพังเพียงวาทกรรม “ชุมชนท้องถิ่น” ในมิติการพัฒนาย่อมไม่เพียงพอที่จะเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ในระดับโครงสร้างได้ อาจารย์เสน่ห์จึงได้นำเอาวิธีคิดเรื่อง “สิทธิ” อันเป็นวิธีคิดที่ทรงพลังในการต่อสู้ทางการเมืองมาผนวกกับแนวคิดเรื่อง “ชุมชนท้องถิ่น” จนกลายเป็น “สิทธิชุมชนท้องถิ่น” (Community rights) ที่มีความหมายทางการเมืองทั้งด้านอิสรภาพในการดำเนินวิถีชีวิต สิทธิในการพัฒนา การจัดการทรัพยากร และการธำรงอัตลักษณ์ของชุมชน ซึ่งหากกล่าวในภาษาการพัฒนาแบบเดิม การพัฒนาควรจะสนับสนุนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง เพราะจะส่งผลให้การพัฒนาของสังคมแข็งแรงและมั่นคง โดยการพัฒนาชุมชนดังกล่าวอาจจะดำเนินโดยรัฐหรือชุมชนก็ได้ แต่หากกล่าวในภาษาของสิทธิชุมชน การพัฒนาจะดีหรือไม่อย่างไร ชุมชนมีสิทธิที่จะเลือกรับหรือกระทั่งปฏิเสธการพัฒนาจากภายนอก และมีสิทธิที่จะกำหนดการพัฒนาตนเอง ทั้งนี้เพราะสิทธิของประชาชนคือหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย และวิธีคิดสิทธิชุมชนนั้นก็พัฒนาจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนที่เป็นจริง
เหตุที่ทำให้แนวคิด “สิทธิชุมชน” เกิดขึ้นมาและทรงพลังในฐานะเป็นทั้งอุดมการณ์และเครื่องมือในการต่อสู้ของประชาชนนั้น ก็เพราะสถานการณ์ทางนโยบายที่รัฐเร่งรวมศูนย์อำนาจการพัฒนาและการจัดการทรัพยากร และการส่งเสริมภาคทุนเข้าแย่งชิงทรัพยากรจากท้องถิ่นเป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ซึ่งสทพ.โดยอาจารย์เสน่ห์เองก็ได้มีบทบาทสำคัญในการวิเคราะห์วิพากษ์นโยบายที่สร้างปัญหาให้กับชุมชนและฐานทรัพยากร เช่น นโยบายป่าไม้แห่งชาติ การปลูกสวนป่า ระบบเกษตรพาณิชย์ นโยบายที่ดิน นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น
วาทกรรมสิทธิชุมชนที่สทพ.ได้บุกเบิกนั้น ได้กลายเป็นอุดมการณ์และเครื่องมือการต่อสู้ทางนโยบายของขบวนการประชาชน เช่น การต่อสู้ผลักดันเรื่องร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ซึ่งพัฒนามาสู่การผลักดันนโยบายด้านสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากรอื่นๆ อีกหลายด้านตามมา ในช่วงเวลาดังกล่าว สทพ.จึงมีเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนที่ต่อสู้เชิงนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรอย่างกว้างขวาง พร้อมๆ ไปกับเครือข่ายและพันธมิตรด้านการพัฒนาชุมชนทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และภาครัฐด้วย
จากเป้าหมายที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการด้านชุมชนท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายชุมชนท้องถิ่น และการขับเคลื่อนทางนโยบายสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากร ทำให้สทพ.ต้องสร้างความพร้อมขององค์กรที่จะรองรับภารกิจดังกล่าวได้ อาจารย์เสน่ห์ จามริก ซึ่งเป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) (2532-2534) จึงได้ดึงเอาบุคลากรที่มีความสามารถทั้งด้านวิชาการและการบริหารมาเสริม เช่น การเชิญชวนคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ นักวิจัยจาก TDRI ที่สนใจงานชุมชนท้องถิ่น มาดูแลด้านฝ่ายพัฒนาและฝ่ายบริหาร เชิญอาจารย์ยศ สันตสมบัติ ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาดูแลด้านฝ่ายวิจัย นอกจากนี้ยังมีบรรดาเจ้าหน้าที่อีกหลายคนที่มีศักยภาพทางวิชาการ งานเผยแพร่มาร่วมคณะ
จากพัฒนาการแนวคิด และการรูปองค์กรดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ตัวตนของสทพ.ถูกหล่อหลอมขึ้นอย่างผสมผสานทั้งจากความเป็นสถาบันวิชาการ การเป็นองค์กรกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคม และการเป็นองค์กรสนับสนุนทุนในการพัฒนาแก่ท้องถิ่น ภายใต้เป้าหมายการเสริมสร้างความเข้มแข็งสิทธิชุมชนท้องถิ่นทั้งในระดับพื้นที่และนโยบาย
สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญของสทพ.ในช่วงนี้ก็คือ การสร้างฐานความพร้อมทั้งด้านความรู้ และบุคลากร ดังเช่น การศึกษาวิจัยและการจัดเวทีวิชาการเพื่อสร้างฐานความรู้ในการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของสทพ. ทำให้สทพ.มีฐานความรู้ และเป้าหมายที่ชัดเจนของตัวเอง และการจัดสร้างองค์กรโดยมีบุคลากรที่ตอบสนองภารกิจดังกล่าวได้ ทำให้สทพ.มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนไม่ได้ดำเนินบทบาทไปตามสถานการณ์ของแหล่งทุน หรือตามสถานการณ์ของกระแสการพัฒนาทั่วไป สทพ.จึงไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำจากกระแสสังคม แต่เป็นผู้กระทำการทางยุทธศาสตร์ด้านวิชาการชุมชนท้องถิ่น และการผลักดันแนวคิดสิทธิชุมชนร่วมกับเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและขบวนการประชาชนอย่างแข็งขัน
แต่สิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากบทเรียนของสทพ.ในยุคนี้อีกด้านหนึ่งก็คือ สิ่งที่สทพ.ตั้งเป้าหมายไว้เป็นสิ่งที่ใหญ่และมีความซับซ้อนมาก ทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนท้องถิ่นผ่านการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ มีเงื่อนไข ตัวแปรอันซับซ้อน และหลายปัจจัยอยู่นอกเหนือการควบคุมของสทพ.เอง เช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทัศนคติ วิธีคิดเกี่ยวกับการทำงานพัฒนา และการบริหารทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างสทพ.กับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ทำให้แม้จะมีเป้าหมายร่วมกัน แต่หลากหลายของวัฒนธรรมการทำงานดังกล่าวก็ส่งผลต่อความสามารถในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้
ในส่วนภารกิจด้านการผลักดันนโยบายสิทธิชุมชนนั้น ก็ต้องเผชิญกับปัญหาโครงสร้างทางการเมืองของรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ ไม่เปิดพื้นที่ให้แก่ภาคประชาชนนั้น ทำให้ภารกิจดังกล่าวยากที่จะสัมฤทธิ์ผลได้ง่าย หากพิจารณาจากฐานของกลุ่มเป้าหมาย เครือข่าย พันธมิตร ที่ยังจำกัดตัวอยู่เฉพาะองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการเท่านั้น ซึ่งในแง่นี้วาทกรรมสิทธิชุมชนแม้จะมีความแหลมคม สามารถท้าทายระบบอำนาจ และทิศทางการพัฒนาได้อย่างมีพลัง แต่อีกด้านหนึ่งก็จำกัดวงเฉพาะชุมชนฐานทรัพยากรและชุมชนการผลิตพึ่งตนเองเท่านั้น การที่สทพ.เองก็ยังไม่ได้ขยายวาทกรรมสิทธิชุมชนให้กว้างไปสู่ภาคสังคมส่วนอื่นๆ ทำให้ฐานทางการเมืองในการเปลี่ยนแปลงนโยบายมีน้อย
จากภาวะท้าทายทั้งด้านการพัฒนาและการผลักดันนโยบายดังกล่าว ในที่สุดก็ทำให้สทพ.ดำรงเงื่อนไขที่เข้มแข็งทางวิชาการและการขับเคลื่อนทางสังคมไว้ได้ระดับหนึ่งเท่านั้น จนนำมาสู่การปรับเปลี่ยนเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในยุคต่อมา
4. ประชาสังคม กับยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายพหุภาคี (2538-2548)
ความขัดแย้งทางการเมืองช่วงพฤษภาคม 2535 ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวทางการเมืองคนชั้นกลางอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ความตื่นตัวดังกล่าวไม่ได้จบเพียงแค่การโค่นล้มรัฐบาลสุจินดา แต่ยังพัฒนาต่อเนื่องถึงความต้องการมีส่วนร่วมกำหนดการพัฒนาในเมืองและท้องถิ่นของตนเอง
จนต่อมาในช่วงปี 2538 เกิดปรากฏการณ์สำคัญในทางกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ เมื่อผู้อาวุโสทางสังคม เช่น อาจารย์ประเวศ วะสี คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งเป็นประธานและกรรมการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และได้มีส่วนผลักดันให้สศช.ปฏิรูปการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา แทนที่จะเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นเดิม และกระบวนการจัดทำแผนต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่การร่างโดยผู้เชี่ยวชาญของสศช.ดังเช่นในอดีต
กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 จึงเกิดขึ้น โดย สศช.ได้ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และกลุ่มองค์กรด้านการพัฒนาต่างๆ ที่ตื่นตัวมาตั้งแต่พฤษภาฯ 35 ก็ได้เข้าร่วมเวทีระดมความคิดเพื่อจัดทำแผนฯ 8 ในทุกภูมิภาค แผนพัฒนาฯ ที่เคยเป็นพิมพ์เขียวของนโยบายพรรคการเมืองทุกพรรคมาตลอด มาบัดนี้กำลังถูกเขียนขึ้นโดยประชาชนอย่างกว้างขวาง
ปรากฏการณ์ตื่นตัวทางการเมือง และการพัฒนาดังกล่าวของคนชั้นกลาง ทำให้นักคิดทางสังคม นักวิชาการ ตลอดจนองค์กรทางนโยบายต่างๆ เริ่มพยายามแสวงหาคำอธิบาย และหาวาทกรรมที่จะเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางขึ้น วาทกรรมที่กว้างขวาง ยืดหยุ่น และสามารถยึดโยงพันธมิตรหลากหลายกลุ่มได้มากที่สุดที่ถูกนำมาใช้ก็คือ “ประชาสังคม” (Civil Society)[6]
แม้แนวคิดเรื่องประชาสังคม จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ แต่บรรดานักคิดทางสังคมอย่างเช่นอาจารย์ประเวศ และคุณไพบูลย์ก็พยายามหยิบขึ้นมาตีความใหม่ในบริบทของการพัฒนาท้องถิ่น อันทำให้แนวคิดประชาสังคมได้รับการขานรับจากสศช. อย่างมาก โดยปรับประยุกต์เป็นรูปแบบ “ประชาคม” เช่น การจัดตั้งเวทีประชาคมแผนฯ 8 ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางนโยบายของสศช.โดยมีอาจารย์ประเวศเป็นประธาน ในส่วนภาคปฏิบัติการแผนฯ 8 สศช.ก็สนับสนุนให้มีประชาคมจังหวัด และประชาคมตำบลเกิดขึ้นทั่วประเทศ
เมื่อผู้อาวุโสของสทพ.ได้เข้าไปมีบทบาทผลักดันเรื่องประชาคมจังหวัดดังกล่าว สทพ.จึงถูกผลักดันให้เข้าไปเป็นองค์กรเชื่อมประสานผลักดันกับภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อการก่อรูปและพัฒนากลุ่มประชาสังคมในทุกๆ ภาค สถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อตัวตนของสทพ. ทั้งในด้านเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ วิธีการทำงาน และกลุ่มเป้าหมายในการทำงาน
สทพ.นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมาได้เคลื่อนจากยุทธศาสตร์สิทธิชุมชนท้องถิ่นมาสู่ยุทธศาสตร์ประชาสังคม ในแง่นี้แล้วความเป็นตัวตนของสทพ.ปรับเปลี่ยนหลายด้าน[7]“ชุมชน” ที่เคยเน้นที่ชุมชนฐานทรัพยากร ชุมชนเกษตรยั่งยืน ได้เลื่อนไปสู่ความเป็นท้องถิ่นในวงกว้าง หรือกล่าวอีกด้านหนึ่ง “สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” ได้เปลี่ยนความหมายไปเป็นชื่อภาษาอังกฤษ คือ Local Development Institute ที่เปิดกว้างไม่จำกัดตนเฉพาะชุมชนท้องถิ่นอีกต่อไป ในแง่วิธีการทำงานสทพ.ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำงานด้านวิจัยและพัฒนาเชิงลึกอย่างเข้มข้นมาสู่การทำงานในขนาดมหภาคที่เน้นเชิงปริมาณมากขึ้น เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับสศช.ที่ต้องทำงานในระดับประเทศ ในด้านการผลักดันนโยบายจากเดิมที่สทพ.เน้นไปที่การวิพากษ์นโยบายที่สร้างปัญหาและเสนอนโยบายทางเลือกจากชุมชน ก็เปลี่ยนมาสู่การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทางนโยบายระหว่างรัฐกับประชาชน อันทำให้นัยการต่อสู้ทางการเมืองที่แหลมคมลดลงมาสู่การเมืองของความร่วมมือ และที่สำคัญสทพ.ได้เปลี่ยนพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ใหม่ จากที่เคยเน้นการร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการสายวิพากษ์ และขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิชุมชน มาเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและองค์กรประชาสังคมคนชั้นกลางในแต่ละภาค
ณ ห้วงเวลาดังกล่าว มิใช่มีแต่กระแสการเติบโตประชาสังคมของคนชั้นกลางเพียงกระแสเดียว กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมกับองค์กรประชาชนที่ต่อสู้กับปัญหานโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งได้ก่อตัวอย่างชัดเจนมาตั้งแต่การเดินขบวนคัดค้านโครงการจัดสรรที่ทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม (คจก.) ในปี 2535 ได้ก่อตัวขึ้นเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ที่เน้นยุทธศาสตร์การเมืองบนท้องถนนมากขึ้น นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของสมัชชาชาวนาชาวไร่อีสานปี 2535 สมัชชาประชาชนเพื่อที่ดินทำกินและการจัดการป่าอีสาน (สดท.) ปี 2535 เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ปี 2538 สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ ปี 2537 และสมัชชาคนจนปี 2538 ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าวได้ยกระดับการเมืองภาคประชาชน และต่อสู้เพื่อการสถาปนาสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิในการพัฒนาซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสทพ.ในช่วงแรก แต่เมื่อสทพ.ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์มาสู่ภาคประชาสังคม ทำให้บทบาทความสัมพันธ์ระหว่างสทพ.กับขบวนการทางสังคมที่เคยเป็นพันธมิตรมาแต่เดิมต้องห่างหายไป
การสร้างตัวตนของสทพ.ในยุคใหม่จึงเกิดขึ้น สทพ.ได้ผลิใบใหม่บุคลากรในช่วงเดิมที่ถูกสร้างขึ้นยุทธศาสตร์เดิมได้ออกไปพร้อมกับการดึงบุคคลากรใหม่เข้ามาทำงาน ต้นทุนทางความรู้เดิม เครือข่ายทางสังคมแบบเดิม และประสบการณ์การทำงานแบบเดิมจึงไม่ได้รับการสานต่อ สทพ.ยุคนี้ต้องสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ ทั้งความรู้ด้านการประสานงานเครือข่ายประชาสังคมในวงกว้าง การทำงานฝึกอบรมเชิงกระบวนการที่เน้นการสร้างความร่วมมือ เช่น AIC (Appreciate Influence Control) หรือ FSC (Future Search Conference) การทำ Mind Mapping เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยุคเฟื่องฟูของประชาสังคมของภาครัฐก็ดำเนินไปได้ไม่นาน เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลต้องสูญเสียอธิปไตยด้านการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่องค์กรข้ามชาติ คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ภายใต้แผนปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยให้เข้าสู่ระบบทุนนิยมเสรีอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การเปิดเสรีด้านการลงทุน การแปรรูปกิจการสาธารณะ การแปรรูปฐานทรัพยากรให้เป็นกรรมสิทธิ์ปัจเจก เป็นต้น สถานการณ์เช่นนี้ทำให้กระแสประชาสังคมต้องถูกลดทอนลง เช่น การปรับรื้อแผนฯ 8 ใหม่ให้เข้ากับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟ โดยที่ภาคประชาสังคมไม่ได้มีส่วนร่วมเหมือนแต่ก่อน รัฐต้องเน้นการปฏิรูปตามข้อตกลงมากกว่าจะคำนึงถึงการมีส่วนร่วมประชาชน เวทีประชาคมต่างๆ ที่เคยสร้างขึ้นทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นก็ไม่สามารถร่วมกำหนดทิศทางนโยบายได้
อย่างไรก็ตาม สทพ.ก็ยังสืบสานยุทธศาสตร์ประชาสังคมต่อมา เพราะแม้ว่าในส่วนภาครัฐจะไม่ได้สนใจการสนับสนุนประชาคมต่างๆ เช่นเดิม แต่เครือข่ายประชาสังคมในท้องถิ่นที่ก่อตัวขึ้นหลายแห่งก็พัฒนาไปได้ ภารกิจของสทพ.จึงมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของประชาสังคมเหล่านี้ได้ดำเนินต่อเนื่อง
ผมมองว่าจุดที่เราควรเติมเต็มนั้น ไม่ใช่เรื่องความรู้ เราขาดเครือข่าย ผมจึงจับเรื่องการถักทอเครือข่ายเป็นหลัก เพราะต้องการสะสมเครือข่ายคนที่ต้องการทำเรื่องดีๆ กับชุมชน…ตัวกลางมีความสำคัญ ผมจึงจับชุมชนชั้นกลางเพราะชนชั้นกลางมีมิติในเชิงบริหารจัดการ จากประสบการณ์ของเรา องค์กรหนึ่งจะแข็งแรงได้ใช้เวลา 5-10 ปี เราต้องอดทนฟูมฟัก” (นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสทพ. ปี 2541-ปัจจุบัน)
เพื่อให้ประชาสังคมแต่และแห่งมีความเข้มแข็ง สทพ.จึงเน้นการประสานแหล่งทุนภายในประเทศ ซึ่งมาจากภาครัฐที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนประชาคมท้องถิ่นให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สทพ.ต้องเชื่อมประสานกับแหล่งทุนนานาชนิดที่มีวัตถุประสงค์โครงการต่างกันไป เช่น โครงการประชาคมจังหวัด เศรษฐกิจพอเพียง การต่อต้านยาเสพติด การปฏิรูปสุขภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยเข้าไปสร้างเงื่อนไขว่าโครงการเหล่านี้จะไปหล่อเลี้ยงประชาคมท้องถิ่น และให้ประชาคมท้องถิ่นไปเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอีกทอดหนึ่ง
เกือบ 10 ปีที่สทพ.ได้เน้นการทำงานภาคประชาสังคม มองในแง่บทเรียน สทพ.ได้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้น สร้างความตื่นตัว และประสานทรัพยากรเพื่อสนับสนุนภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง กลุ่มประชาสังคมเหล่านี้หลายพื้นที่ก็ได้มีบทบาทเชื่อมต่อกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สทพ.ได้สร้างฐานในเชิงปริมาณระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เกิดประชาสังคมในเชิงคุณภาพขึ้นหลายที่
แต่สิ่งที่สทพ.ยุคปัจจุบันเผชิญกับการท้าทายในเวลานี้แตกต่างจากสทพ.ยุคก่อน วาทกรรม “ประชาสังคม” แม้จะเปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มทางสังคมที่หลากหลายกว่าวาทกรรม “สิทธิชุมชน” แต่การผนวกรวมทุกส่วนเข้ามาโดยไม่ได้มีการวิเคราะห์มิติโครงสร้างทางอำนาจ ทำให้นัยทางการเมืองภาคประชาชนที่ชัดเจนลดลงไป บทบาทการตั้งคำถาม วิพากษ์นโยบายที่ก่อปัญหา และการนำเสนอนโยบายทางเลือกก็เลือนหายไปด้วย
ในแง่การสร้างความรู้ สทพ.เปลี่ยนจากการสร้างฐานความรู้ที่เข้มข้น มาสู่การทำงานประสานเครือข่าย ในแง่ผลดีก็คือ มีการทำงานที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย แต่ในแง่ปัญหาคือ สทพ.ไม่มีองค์ความรู้ของตัวเอง ทำให้ความสามารถในการวิเคราะห์ทิศทางสังคมลดน้อยลง หรือไม่เท่าทันสถานการณ์ ต้องพึ่งพาภูมิความรู้และการกำหนดยุทธศาสตร์จากผู้อาวุโสของสถาบันดังเช่น อาจารย์ประเวศ วะสี หรือคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมเป็นหลัก มากกว่าจะสร้างความรู้ของตัวสถาบันเองเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุก
ในแง่ของการบริหารองค์กร ด้วยความต้องการแสวงหาแหล่งทุนภาครัฐที่หลากหลาย ทำให้โครงสร้างของสทพ.มีลักษณะแตกตัว กระจัดกระจาย ขาดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันภายในอย่างทั่วถึง องค์กรแม้จะมีขนาดใหญ่แต่พลังของการเรียนรู้ในองค์กรกลับมีน้อย
บทเรียนดังกล่าว กำลังนำมาสู่การปรับตัวครั้งใหญ่ของสทพ.อีกครั้ง ตัวตนใหม่ของสทพ.กำลังจะก่อรูปโดยการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของสทพ.ก้าวต่อไปให้เข้มแข็งขึ้น
สถานการณ์ตรงนี้มันเปลี่ยนแปลงไป เราไม่จำเป็นต้องทำแบบอย่างที่สทพ.เคยทำ ภาคประชาสังคมค่อนข้างกว้าง ปริมาณเยอะ แต่ในแง่คุณภาพต้องประเมิน และประเมินทั้งหมดเป็นต้นทุน อย่าให้ต้นทุนสูญเปล่า” (อาจารย์เสน่ห์ จามริก)
5. ทิศทางการขับเคลื่อนประชาสังคมเพื่อความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น (2549-อนาคต)
ผมอยากเห็น สทพ.เป็นสถาบันวิจัยที่มีฐานยึดโยงกับเครือข่ายภาคประชาชนฐานล่าง เป็น TDRI ภาคประชาชน ซึ่งผมใช้เวลา 7 ปีที่ถักทอฐานล่างมาจนถึงวันนี้ จังหวะต่อไปเราต้องปรับตัวไปสู่สถาบั้นวิจัยที่อยู่บนฐานเครือข่าย ความรู้และภูมิปัญญาของบุคคล อาจารย์ผู้ใหญ่ นักวิจัยอาวุโส ถึงเวลาที่สามารถกลับมาใหม่….. งานในช่วงต่อไปของสทพ.เป็นช่วงคุณภาพ” (นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, อ้างแล้ว)
สทพ.ในยุคหลังงานเครือข่ายเชิงปริมาณ (Post-Quantitative network) กำลังเริ่มต้นผนวกบทเรียนจากอดีตตั้งแต่ในยุคชุมชนท้องถิ่นพัฒนามาเชื่อมประสานกับยุคประชาสังคม โดยวาดหวังว่าจะเกิดตัวตนแบบใหม่
ตัวตนใหม่ที่สทพ.อยากจะเป็นคือ ความเป็นสถาบันวิชาการที่เชื่อมประสานขับเคลื่อนกับเครือข่ายทางสังคมทั้งเครือข่ายประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมา สทพ.ทั้งในยุคชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมก็ได้สร้างเครือข่ายไว้อย่างกว้างขวางระดับหนึ่งแล้ว ขั้นตอนการขับเคลื่อนต่อไปมี 3 ระดับ (พลเดช ปิ่นประทีป, อ้างแล้ว)
ระดับที่หนึ่ง การสร้างความรู้เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเครือข่ายปฏิบัติการที่หลากหลาย ฐานความรู้เดิมที่สั่งสมมาเช่น เกษตรกรรมทางเลือก การจัดการทรัพยากรของชุมชน และอื่นๆ จะต้องนำมากลับมาพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
ระดับที่สอง การขับเคลื่อนในลักษณะภาคีพันธมิตร ซึ่งสทพ.ได้สร้างสายสัมพันธ์กับพันธมิตรที่หลากหลากหลาย ทั้งองค์กรชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรธุรกิจ หน่วยราชาการ องค์กรอิสระ และอื่นๆ โดยจะเอาความรู้ไปสนับสนุนการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายระดับท้องถิ่นเป็นหลัก
ระดับที่สาม การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายระดับท้องถิ่นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จากยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนทั้ง 3 ระดับดังกล่าว สทพ.จะต้องพัฒนาการบริหารวิชาการ บริหารองค์กร บริหารบุคคลให้สอดคล้องกับตัวตนใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่
การสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการเพื่อประชาชนไปพร้อมกับเป็นองค์กรขับเคลื่อนที่เปิดพื้นที่นโยบายใหม่ได้อย่างแหลมคม และสร้างพันธมิตรการขับเคลื่อนที่หลากหลายตั้งแต่คนชายขอบ ชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ไปจนถึงประชาสังคมคนชั้นกลาง จะสำเร็จได้หรือไม่ นี่เป็นภารกิจที่ท้าทาย แต่อย่างน้อยรอยอดีตที่สทพ.ได้เคยบุกเบิกเส้นทางเอาไว้ก็เป็นต้นทุนที่มีคุณค่ายิ่ง ณ เวลานี้ การเดินทางเพื่อสร้างตัวตนใหม่ของสทพ.ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
—————————
เอกสารอ้างอิง
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และวัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ (บก.), ประวัติศาสตร์ความคิดไทยกับแนวคิดชุมชน, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์,กรุงเทพฯ, 2548.
กฤษฎา บุญชัย,ประชาคมตำบล, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, กรุงเทพฯ, 2541


[1] แนวคิดเรื่อง “ชุมชนศึกษา” (Community Studies) เฟื่องฟูมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 สำหรับในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลจากนักวิชาการสายมหาวิทยาลัยคอลแนลล์ (Cornell University) ทั้งที่เป็นนักวิชาการต่างประเทศ และนักวิชาการไทยที่มาศึกษาชุมชนในประเทศไทย
[2] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และวัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ (บก.) (2548), ประวัติศาสตร์ความคิดไทยกับแนวคิดชุมชน, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ กรุงเทพฯ, หน้า 104-116.
[3] งานวิจัยในช่วงเวลาดังกล่าวได้แก่ พัฒนาการองค์กรเอกชน องค์กรของรัฐด้านการพัฒนา การพัฒนาชนบท เป็นต้น ขณะที่เวทีทิศทางไทมีประเด็นด้านชุมชน ได้แก่ ป่าชุมชน, การเกษตรปัจจุบันและอนาคต, ธุรกิจ อุตสาหกรรชนบท, เทคโนโลยีกับการพัฒนาชนบท, นโยบายที่ดินกับผลกระทบชนบท เป็นต้น
[4]TDRI ย่อมาจาก Thailand Development Research Institute หรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำการวิจัยเชิงนโยบาย และเผยแพร่ผลงานวิจัยต่อภาครัฐบาลและเอกชน นับว่าเป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบายแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไรและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ดังนั้นสถาบันจึงเน้นการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายระยะยาวอันมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง สถาบันได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2527 โดยความริเริ่มของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ปิแอร์ ทรูโด แห่งประเทศแคนาดา เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามในข้อตกลงให้ความช่วยเหลือเพื่อมอบทุนดำเนินการจัดตั้งสถาบันในระยะเริ่มแรก
TDRI เป็นที่รวมของบรรดานักเศรษฐศาสตร์แนวนีโอคลาสิค (Neo-Classic) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนนโยบายระบบตลาดเสรีในฐานะเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนภาคเอกชนทั้งในด้านการผลิต การเป็นเจ้าของทรัพากร และการพัฒนา เป็นต้น นับเป็นหนึ่งในองค์กรเทคโนแครตที่มีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายของรัฐให้มุ่งหน้าสู่ความเป็นทุนนิยมเสรี
[5] แนวคิด “TDRI ภาคประชาชน” ไม่ได้หมายถึงการตั้งสถาบันวิชาการเทคโนแครตของทุนนิยมเสรีให้แก่ประชาชน แต่มีนัยตรงข้ามคือ เป็นสถาบันวิชาการที่เกิดจากภาคประชาชนฐานล่าง ทำหน้าที่เพื่อผลิตความรู้ และสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่น และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสร้างความรู้ ทั้งในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมสิทธิชุมชนที่เข้มแข็งทั้งในด้านการกำหนดตัวตนทางวัฒนธรรม การพัฒนาตนเอง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างเศรษฐกิจชุมชน และอื่นๆ โดยอาศัยฐานวิชาการหลากหลาย เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น นิเวศวิทยาการเมือง ทฤษฎีเชิงวิพากษ์ และอื่นๆ โดยมีเป้าหมายว่าความเข้มแข็งทางวิชาการของประชาชนดังกล่าวจะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้ขบวนการประชาชนมีอำนาจต่อรองกับอำนาจรัฐ ทุน และโลกภิวัตน์ได้อย่างเข้มแข็ง
[6] แนวคิดเรื่อง ประชาสังคม (Civil Society) ในทางด้านรัฐศาสตร์นั้น หมายถึงพื้นที่ทางสังคมและการเมืองที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งกำเนิดขึ้นจากการพัฒนาประชาธิปไตยและการเติบโตของคนชั้นกลาง ซึ่งเกิดภาวะตื่นตัวและต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ องค์กรในภาคประชาสังคมมีความหลากหลายตั้งแต่ท้องถิ่น กลุ่มวิชาชีพ กลุ่มกิจกรรมอาสาสมัคร กลุ่มธุรกิจ รายละเอียดติดตามได้ในกฤษฎา บุญชัย (2541) ประชาคมตำบล, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, กรุงเทพฯ
[7]การเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมของสทพ. เกิดขึ้นหลายด้าน เช่น ศิลปะที่ใช้นำเสนอตัวตน จากที่เป็นภาพจิตรกรรมไทยที่สะท้อนถึงวิถีชุมชนไทยกับฐานทรัพยากร ก็เปลี่ยนไปสู่ศิลปะแบบสมัยใหม่ที่เสนอความเป็นสากล และเป็นนามธรรม ซึ่งปรากฏในหนังสือชุดประชาสังคม หรือภาษาที่ใช้ให้ความหมายก็เปลี่ยน เช่น คำว่า “สิทธิชุมชน” “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” “สิทธิการกำหนดใจตนเอง” ก็เปลี่ยนมาสู่คำใหม่ๆ เช่น “จิตสำนึกสาธารณะ” “ความเป็นพลเมือง” “ประชาสังคม” เป็นต้น

Be the first to comment on "แนวคิดชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและการก่อเกิด LDI : กฤษฎา บุญชัย"

Leave a comment

Your email address will not be published.