นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปการจัดการที่ดินและทรัพยากรของประเทศไทยว่าถือเป็นหัวใจหลักของการลดความเหลื่อมล้ำในด้านปากท้องของคนในประเทศที่ชัดเจนที่สุดเรื่องหนึ่ง โดยในห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังจะมีการวางกรอบการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งในชั้นของ สนช. จะเป็นกระบวนการของกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมากจึงอยากให้ คสช.ช่วยผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.เพื่อคนจน 4 ฉบับด้วย
“องค์กรหน่วยงานภาคประชาชนฝากความหวังกับ “(ร่าง) พ.ร.บ.เพื่อคนจน 4 ฉบับ” ที่ถือเป็นเครื่องมืออันสำคัญในแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งด้านที่ดิน-ป่าไม้อย่างเป็นธรรม และให้เป็นสวัสดิการชีวิตของคนยากจนคนชายขอบและผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในชุมชนชนบท จึงหวังให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้กลไกสภาที่กำลังจะเกิดขึ้น รับข้อเสนอดังกล่าวเพื่อช่วยให้งานภาคประชาชนสามารถขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบได้สำเร็จ” นพ.พลเดช ระบุ
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวมาจากการศึกษาวิจัยและจัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดินจาก 11 หน่วยงาน/องค์กร ได้ดำเนินการมาล่วงหน้านับสิบปี มีมาตรการต่างๆที่หลากหลายรวม 6ด้าน 58 มาตรการ ซึ่งในที่สุดนั้นได้ผ่านการสังเคราะห์จากสมัชชาปฏิรูประดับชาติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติโดยสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 11 ออกมาเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.4 ฉบับอันได้แก่
1.(ร่าง) พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พ.ศ…..แต่เดิมชื่อร่าง พ.ร.บ.โฉนดชุมชน แต่มีการปรับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่การดำเนินการเรื่องที่ดินอย่างเดียว จะเป็นเรื่องดิน น้ำ ป่าและทรัพยากรอื่นในทะเลด้วย ดังนั้นจึงเอาเรื่องสิทธิชุมชนป็นหลัก นำไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นธรรมและเป็นระบบ
2. (ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ….. โดยหลักแล้วเมื่อมีธนาคารที่ดินก็จะทำให้มีกองทุนดำเนินการ ถ้าหากว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า ธนาคารที่ดินจะเข้าไปขอซื้อจากนายทุน เอามาจัดการในรูปโฉนดชุมชนและให้ประชาชนที่ต้องการใช้ที่ดินสามารถเช่าทำกินในระยะยาวได้ ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ให้เป็นสมบัติส่วนรวม
3. (ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ศ…. หัวใจหลักเป็นเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้า กฎหมายจะกำหนดคนเป็นเจ้าของที่ดินเกินกว่า 50 ไร่ได้ แต่ต้องเสียภาษีอัตราก้าวหน้า ถ้าไม่เกิน 50 ไร่ก็เสียอัตราธรรมดา เพื่อที่จะให้คนที่มีที่ดินมากๆ มีภาระจะต้องจ่ายภาษี ถ้าไม่นำที่ดินไปใช้ประโยชน์ แต่ถ้าใช้ประโยชน์ก็จะถูกลง เพราะมีรายได้จากส่วนอื่นมาชดเชย
4.(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ….เรื่องกองทุนยุติธรรม ขณะนี้มีอยู่แล้ว แต่เป็นแค่ระเบียบของกระทรวงยุติธรรมและมีเงินจำนวนไม่มาก ข้อเสนอนี้ให้ยกระดับระเบียบนี้เป็น พ.ร.บ.และมีกองทุนที่ใหญ่ขึ้น มีภารกิจช่วยเหลือคนยากจนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมกว้างขวางขึ้น รวมทั้งช่วยเหลือคนจนในคดีที่ดินที่มีเป็นจำนวนมากด้วย
นพ.พลเดช กล่าวด้วยร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 4 ฉบับนี้มีความจำเป็นและภาคประชนอยากได้ทั้ง 4 ฉบับ เพราะมีความเชื่อมโยงกัน จากภาษีที่ดินก้าวหน้า เมื่อได้เงินมาจะเอาไปใช้ทำธนาคารที่ดิน นำเอาไปซื้อที่ดินมาจัดสรรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในรูปแบบโฉนดชุมชน ถ้าหากว่ามีปัญหาฟ้องร้องต่างๆ ก็มีกองทุนยุติธรรมช่วยอยู่
“กฎหมายเพื่อคนจน 4 ฉบับนี้ มันต้องเคลื่อนด้วยวาระพิเศษช่วงนี้เท่านั้น เคลื่อนด้วยรัฐบาลและสภาของนักการเมืองปกติก็ไม่มีทางเป็นไปได้ แม้เอ็นจีโอของไทยส่วนหนึ่งรังเกียจการรัฐประหาร ต้องการให้ผ่านกฎหมายเหล่านี้ในช่วงการเมืองปกติก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับนี้มันจะเชื่อมโยงกันถ้าได้ได้ทั้งแพ็กเกจจะดีมาก ผมจะบอกว่าข้อเสนอชุดนี้ได้กลั่นมาแล้วว่ามีมาตรการทางนโยบายที่เป็นรูปธรรมคือกฎหมาย 4 ฉบับที่คนยากจนต้องการ ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินของกรมที่ดิน กรมป่าไม้และกรมต่างๆ มีอยู่แล้ว ค้างอยู่ในท่อกระบวนการนิติบัญญัติอีก 6 ฉบับ เป็นคนละส่วน นั่นก็หมายความว่าเรื่องที่ดินมีกฎหมายอย่างน้อย 10 ฉบับแล้ว ตรงนี้จะกลายเป็นภาระงานที่ต้องนำเข้าสู่สภา สนช. เราอยากจะพูดว่าควรให้ความสำคัญกับ 4 ฉบับของภาคประชาชนก่อน ส่วนของราชการนั้นมองดูแล้วไม่ค่อยเกี่ยวกับประชาชนเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เอื้อให้ราชการมีอำนาจมากขึ้น คือเอาข้าราชการเป็นตัวตั้ง” นพ.พลเดช ระบุ
ทั้งนี้จากเอกสารข้อเสนอคณะทำงานวิชาการเวทีภาคีพัฒนาประเทศไทย(Thailand Development Forum) ระบุถึงการถือครองที่ดินโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ว่าเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญในสังคมไทยโดยที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเกิดจากการซื้อขายที่ดินเก็งกำไรและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หากใช้เพื่อมูลค่าเพิ่มทางภาคเกษตร ก็จะช่วยเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยเมื่อมาพิจารณาการถือครองที่ดินในประเทศไทยตามข้อมูลการออกเอกสารสิทธิที่ดินทั่วประเทศปี พ.ศ.2555 พบว่ามีการออกเอกสารสิทธิจำนวน 33,082,303 แปลง แบ่งเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 28,478,046 แปลง น.ส.3 ก.จำนวน3,391,523 น.ส.3 จำนวน 1,076,223 แปลง และใบจองจำนวน 139,511 แปลง
และจากสัดส่วนการถือครองที่ดินในประเทศไทยจำแนกตามขนาดการถือครองปี พ.ศ.2555 จะเห็นได้ว่าผู้ถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ มีสัดส่วนจำนวนมากถึง 50.17% และผู้ถือครองที่ดินระหว่าง 1-5 ไร่มีสัดส่วน 21.9% นั่นคือผู้ถือครองที่ดิน 27.07% เป็นผู้ที่มีที่ดินไม่เกิน 5 ไร่ ในขณะที่ผู้ถือครองที่ดินตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไปมีสัดส่วนเพียง 1.33%
โดยสรุป สัดส่วนการถือครองที่ดินของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา กลุ่มที่มีที่ดินมากที่สุด 20%แรกถือครองที่ดินต่างจากกลุ่มที่มีที่ดินน้อยสุดถึง 600 กว่าเท่า โดยผู้ที่ถือครองที่ดินสูงสุดมีที่ดินในครอบครองถึง 630,000 ไร่ หากจำแนกผู้ถือครองที่ดินโดยนำสัดส่วนการถือครองที่ดินของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาหาค่าเฉลี่ย ยังพบตัวเลขกลุ่มผู้ที่ถือครองมากสุด 10% แรกถือครองที่ดินถึง 80% ของที่ดินมีโฉนดทั้งหมดของประเทศ ส่วนประชาชนกลุ่มที่เหลืออีก 90% กลับถือครองที่ดินเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอย่างมาก
Be the first to comment on "Press : ปฏิรูปการจัดการที่ดินและทรัพยากร"