นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เปิดเผยถึงข้อเสนอฝากผ่านไปยังคสช.เกี่ยวกับการปฏิรูปการปกครองและการกระจายอำนาจเพื่อให้นำไปพิจารณาว่า อยากให้คสช.นำเอาแนวความคิด เรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนพื้นที่จังหวัดที่มีความพร้อมให้สามารถปกครองตนเองไปพิจารณาด้วย เพราะถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ที่จะสามารถนำไปสู่ความปรองดองให้เกิดขึ้นไปประเทศ ทั้งยังสามารถลดความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ รวมถึงปัญหาการทุริตคอร์รัปชั่นได้ด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการก็ไม่ยาก เพียงทำให้เกิดการผ่านกฎหมายฉบับเดียว คือ(ร่าง)พ.ร.บ.การบริหารจังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ…ซึ่งเป็นร่างเดิมที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือ คปก. ได้ยกร่างไว้เรียบร้อยแล้ว สามารถนำมาดำเนินการได้เลย กฎหมายฉบับนี้หากมีขึ้นจริง ไม่ได้หมายความว่าทุกจังหวัดจะเป็นจังหวัดปกครองตนเอง จังหวัดใดที่มีความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่และมีความพร้อมเท่านั้น จึงจะมีโอกาสยกระดับเป็นจังหวัดท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่ปกครองตนเองได้
ส่วนรูปแบบก็คือร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ออกแบบไว้อย่างรอบคอบรัดกุมว่า ประชาชนจังหวัดนั้นๆ จะต้องรวบรวม 5 พันรายชื่อเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้ให้นายกฯดำเนินการให้ลงประชามติเฉพาะภายในจังหวัดนั้น จากนั้นนายกฯจะเสนอต่อไปยังคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.ไปจัดการทำประชามติในจังหวัดดังกล่าว และในวันลงประชามติ จะต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิ์มาลงประชามติ เกินกึ่งหนึ่ง หรือเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ต้องมาลงเสียง ถ้าผู้มีสิทธิ์ออกเสียงมาไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่ามีอันตกไป
“ยกตัวอย่าง จ.เชียงใหม่ ที่ตอนนี้นับว่ามีการตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมาก ก็ต้องดูว่า หากมีการทำประชามติปกครองตนเองจริงๆ ผลการทำประชามติก็คงจะไม่ผ่านง่ายๆแน่นอน เพราะการที่จะผ่านด่านประชามติได้ จังหวัดนั้นๆ ต้องมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะพลเมืองที่มีคุณภาพ ฉะนั้น จังหวัดใดที่จะมีการปกครองตนเอง ความพร้อมด้านพลเมืองที่มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าที่จังหวัดหนึ่งๆจะมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งได้ถึงขนาดนั้น”นพ.พลเดชกล่าว และว่า แต่หากจังหวัดนั้นๆ สามารถผ่านด่านประชามติในการปกครองตนเองมาได้ กล่าวคือเสียงเกิน 3ใน 5 รัฐบาลก็จะไปออกพระราชกฤษฏีกา เพื่อทำเป็นจังหวัดปกครองตนเอง ซึ่งการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาอันนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องผ่านสภาอีก สามารถใช้เป็นมติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ได้เลย เพราะถือเป็นการทำตามกฎหมายแม่ ฉะนั้นวันนี้ จึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ทำการออกกฎหมายแม่อย่างเดียวเพื่อเป็นการเปิดโอกาสเท่านั้น
นพ.พลเดช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อยากเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.การงบประมาณ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีแนวทางการจัดการคือ จัดให้มีงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ไว้กับทางจังหวัด โดยรวมร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อกระจายให้จังหวัดต่างๆมากน้อยโดยดูใน 4 มิติ คือ 1. ดูประชากร 2. ดูรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัว 3. ดูสัดส่วนคนยากจนในจังหวัดนั้น และ 4.ดูดัชนีความก้าวหน้าของการพัฒนามนุษย์ เมื่อนำหลักเกณฑ์นี้ขึ้นมาจับ ยกตัวอย่าง จังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นจังหวัดที่ร่ำรวย ก็จะได้เงินส่วนนี้ต่ำสุดเพราะจังหวัดนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีเงินจำนวนเยอะอยู่แล้ว ขณะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็จะได้เงินส่วนนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นรายได้ตรงนี้ จังหวัดจะสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้จริงจัง
ทั้งนี้หากผู้ว่าการฯ ได้เงินก้อนนี้มา ใช่ว่าจะสามารถใช้เงินดังกล่าวได้ตามลำพัง เพราะจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและบริหารจัดการอย่างมีแผนงานโครงการในรูปแบบของพหุพาคี ที่ไม่ใช่มีแต่ตัวแทนจากข้าราชการแต่ฝ่ายเดียว แต่ต้องมีตัวแทนจากภาคภาคประชาชนเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย ถึงจะใช้เงินก้อนนี้ได้
“อยากฝากไปยังคสช.และผู้มีอำนาจหน้าที่ในขณะนี้ว่า คำสั่งของคสช.ล่าสุดที่ยังไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นจนกว่าจะมีความชัดเจนด้านการปฏิรูปการเมืองการปกครองจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น นับเป็นความรอบคอบ แต่ขอยืนยันว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น รวมไปถึงข้อเสนอให้มีจังหวัดปกครองตนเอง เป็นสิ่งที่ดีและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว การกระจายอำนาจการปกครองและการจัดการปัญหาสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อมไปสู่ท้องถิ่นจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนแบบบูณาการ แนวความคิดรวมศูนย์อำนาจไว้กับกลางไม่ใช่แนวความคิดที่ดี ที่ท้ายสุดปัญหาความขัดแย้งต่างๆจากทั่วประเทศ จะวกมาที่จุดเดิม คือพุ่งเข้ามาที่ส่วนกลาง ไม่มีที่สิ้นสุด กลายเป็นโรคเรื้องรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้”นพ.พลเดช กล่าว.
Be the first to comment on "Press : ปฏิรูปการปกครองและการกระจายอำนาจ"