ข่าวและสกู๊ป เดือนพฤศจิกายน 2559

PAOW รับฟังความเห็นผู้หญิงนราธิวาส

โครงการขบวนผู้หญิงกับการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้(PAOW) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้หญิงจากชุมชนบองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 ณ มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวเด็กกำพร้า(FECo-Foundation for education and curable orphans) บ้านบองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส

เวทีรับฟังเสียงของผู้หญิงและชาวบ้านใน 4 ประเด็นคือ 1.ขอให้การเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยหรือ ปาร์ตี้เอ (Party A) และฝ่ายผู้มีความเห็นต่างหรือ ปาร์ตี้บี (Party B) ดำเนินต่อไปจนกว่าจะได้สันติภาพที่ถาวรและให้รับฟังข้อเสนอของผู้หญิงบ้าง 2.กรณีต้องกระทำความรุนแรงก็ขอให้เลือกคู่ต่อสู้ให้ชัดละเว้นผู้บริสุทธิ์ 3.ต้องคำนึงถึงความยุติธรรมและไม่หวาดระแวงเพราะความไม่เป็นธรรมนั้นเป็นแรงผลักดันให้ผู้อ่อนแอลุกขึ้นใช้อาวุธ และ 4.ทั้งสองฝ่ายต้องคิดถึงคุณภาพชีวิตหรือที่เรียกว่า “สันติภาพที่กินได้”

เจ้าหน้าที่โครงการช.ช.ต. เรียนรู้การใช้ GIS

โครงการช.ช.ต. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จัด “การประชุมปฏิบัติการสร้างความเข้าใจและออกแบบระบบข้อมูลเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น” ให้กับนักวิชาการโครงการช.ช.ต. ณ โรงแรมหาดใหญ่ฮอลิเดย์ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2559

นายฮัมดี เจะเฮาะ เจ้าหน้าที่โครงการช.ช.ต. กล่าวว่า ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ดีในเรื่องการจัดการระบบข้อมูลเพื่อการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้เครื่องมือพื้นฐานสำคัญคือ Participation GIS ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสนับสนุนการทำงานของกลุ่มเป้าหมายคือ อปท.และภาคประชาสังคม รวมถึงการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ในงานช.ช.ต.สู่สาธารณะผ่านเครื่องมือนี้ เป็นอย่างมากในอนาคต

บ้านโคกกะเปาะดูงานสหกรณ์ออมทรัพย์ษะกอฟะฮอิสลาม จ.กระบี่

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 คณะทำงานโครงการช.ช.ต.ระดับชุมชน บ้านโคกกะเปาะ ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ได้เดินทางไปศึกษาเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน โดยได้รับการต้อนรับจาก ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ษะกอฟะฮอิสลาม จ.กระบี่ และทีมคณะทำงานได้แลกเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานของสหกรณ์ในหลักอิสลามพร้อมแนวทางการตลาดของสหกรณ์เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์และร้านค้าชุมชนโคกกะเปาะ(ดารุลฟาละห์) ซึ่งมีคณะศึกษาดูงานจำนวน 20 คน เป็นคณะทำงานฯ 15 คน ทีมงาน TIC 3 คน ผู้ประสานงาน 1 คน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน 1 คน

สิ่งที่ชุมชนได้เรียนรู้คือ กระบวนการดำเนินงานและระบบการตลาดของสหกรณ์ในหลักอิสลาม พร้อมนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์และร้านค้าชุมชนโคกกะเปาะ เพื่อพัฒนาให้ถูกหลักศาสนาและใช้ในชีวิตประจำวัน

เปิดตัวฟอนต์ยาวี หนุนใช้เพื่อมีมาตรฐาน

ศอ.บต.หนุนตั้งศูนย์ภาษายาวี

อาวัณบุ๊คเปิดตัวชุดแบบอักษรยาวี(ฟอนต์ยาวี) หวังเป็นมาตรฐานในการสื่อสารและสิ่งพิมพ์ พร้อมผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อใช้ในมาตรฐานเดียวกัน ศอ.บต.เน้นหนุนทุกภาษาในพื้นที่

จากเวทีสัมมนานำเสนอชุดแบบอักษรยาวีของโครงการพัฒนาระบบชุดแบบอักษรยาวีเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ ของกลุ่มอาวัณบุ๊ค สนับสนุนโดยโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้(ช.ช.ต.) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี(หลังเก่า) มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชุดแบบอักษรยาวีกว่าร้อยคน

นายซอลาหุดดีน กริยา ประธานกลุ่มอาวัณบุ๊คและประธานโครงการพัฒนาระบบชุดแบบอักษรยาวีเพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ กล่าวถึงที่มาและจุดประสงค์ของโครงการนี้ว่า จากการที่กลุ่มอาวัณบุ๊ครณรงค์การใช้ภาษามลายู เห็นว่าการพัฒนาฟอนต์ยาวีเพื่อรองรับการใช้งานและเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญเพื่อการใช้งานี่ถูกต้อง จึงได้จัดทำชุดแบบอักษรยาวีเพื่อพัฒนาฟอนต์ยาวีที่ถูกต้อง มีมาตรฐานในการพิมพ์ เกิดการใช้อย่างเข้าถึงและแพร่หลาย รวมทั้งสร้างพื้นที่กลางในการเรียนรู้และพัฒนาระบบการพิมพ์ตัวอักษรยาวี และภารกิจที่ต้องทำต่อคือ ผลักดันให้การใช้ฟอนต์ยาวีเข้าสู่นโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ใช้กว้างขวางยิ่งขึ้นและมีมาตรฐานเดียวกัน

นายอารี ดิเรกกิจ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบาย การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวเปิดงานครั้งนี้ว่า

“เราเป็นเมล็ดพันธุ์น้อยๆ แต่มีมันสมองในการก้าวเดินในสังคม กิจกรรมดีๆ เหล่านี้เป็นการรวมพลังสมอง ที่เป็นคุณูปการกับพื้นที่ สร้างโอกาสให้กับเด็กๆ เป็นการร่วมกันแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ภาษายาวีมีความสำคัญในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพว่าศอ.บต.พร้อมสนับสนุนกับทุกคนที่ทำดี ภาษายาวีเป็นส่วนหนึ่งที่ศอ.บต.ต้องหนุนให้ยังคงอยู่ ขณะนี้จีนกำลังส่งเสริมเศรษฐกิจและรุกโลกด้วยภาษา ชาวโลกเห็นความสำคัญของภาษาจีนและ นำความเจริญมาสู่จีน การส่งเสริมให้ทุกคนได้เข้าใจ เรียนรู้และใช้ภาษายาวีได้อย่างง่ายดาย ด้วยการช่วยกันเผยแพร่เอกสาร การพูด เชื่อว่าภาษายาวีต้องมีการใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน”

“ในส่วนของสำนักฯ ต้องส่งเสริมทุกภาษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแผนจัดตั้งศูนย์ภาษายาวีที่ปัตตานี ศูนย์ภาษาจีนที่ยะลา และค้นหาผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษา เมื่อมีศูนย์ภาษา เยาวชนที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศสามารถมาเรียนรู้ได้เพื่อให้มีความชำนาญ เมื่อไปเรียนประเทศไหนก็ไม่ต้องไปเรียนปรับพื้นฐานภาษาอีก เป็นการหนุนเสริมสันติภาพด้วยการเป็นสื่อให้คนที่ไม่เข้าใจในพื้นที่ได้เข้าใจง่ายขึ้น ด้วยการสื่อความเข้าใจที่ตรงกัน”

ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกรับฟังความคืบหน้าโครงการกาเซะฮฺซูงา ต.ปะเสยะวอ

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 นางสาววาสิฏฐี อุดชาชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจากธนาคารโลก(ประเทศไทย) รับฟังความคืบหน้าโครงการกาเซะฮฺซูงา ต.ปะเสยะวอ ณ มัสยิดบ้านปะเสยะวอ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยมีตัวแทนคณะทำงานตำบลนำเสนอผลการดำเนินงาน

โครงการฟื้นฟูคลองปะเสยะวอแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน “กาเซะฮฺซูงา”(รักคลอง) ของต.ปะเสยะวอ มีการดำเนินงานโครงการคือ1.ถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่เยาวชน ปลูกฝังการอนุรักษ์คลอง สำรวจคลอง เรียนรู้คุณภาพน้ำ จัดค่ายวาดฝันกาเซะฮฺซูงาแก่เยาวชนใน 5 โรงเรียนของตำบล 2.บำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์(EM Ball) 3.ขุดลอกคลองให้ตะกอนสลาย กระสอบทรายกั้นแนวไม่ให้ตลิ่งพัง 4.อาสาสมัครคนรักคลองปะเสยะวอทั้ง 7 หมู่บ้านและจัดทำแผนที่พิกัดคลองปะเสยะวอที่มีความยาว 13 กม. จัดทำข้อมูลพื้นฐาน ปัญหา และรวบรวมเป็นฐานข้อมูลเพื่อการต่อยอดและเสนอเชิงนโยบายได้ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในการฟื้นฟูคลอง มีอัตลักษณ์ของชุมชนที่ชัดเจนเช่น การทำบูดูและเรือกอและ

ผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการคือ ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตอบโจทย์การแก้ปัญหาและความต้องการจริงของพื้นที่ รวมทั้งได้เรียนรู้การปฏิบัติการด้วยแนวคิดใหม่ๆ

หัวใจหลักของโครงการคือ ต้องมีการร่วมมือเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเมื่อจัดการได้ ปะเสยะวอจะมีทรัพยากรมหาศาล

ผู้เชี่ยวชาญฯ ได้กล่าวถึงโครงการว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมากในการจัดการฐานทรัพยากรของชุมชน ในการดำเนินงานรอบต่อไปต้องให้ครอบคลุมประเด็นมากขึ้น

“ต้องรู้สาเหตุหลักของปัญหาที่ต้องการแก้ปัญหา เรากำลังเล่นกับสุนทรียภาพของความงาม ต้องปลูกฝังเยาวชน ร่วมมือให้คนเข้ามาท่องเที่ยว มีสถานประกอบการสีเขียวที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ อบต.ต้องมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับน้ำเสียและเข้ามาร่วมดูแลด้วย การทำให้เห็นประโยชน์ในการอนุรักษ์คลองว่า น้ำดีกับชีวิตของตนเองและได้ประโยชน์อย่างไรจะทำให้ชาวบ้านและชุมชนเข้ามาร่วมมือมากขึ้น”

คณะกรรมการโครงการกล่าวว่า หากช.ช.ต.ถอนตัวออกจากพื้นที่ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินงานต่อไป และโครงการนี้ได้บรรจุอยู่ในแผนงานของอบต.ปะเสยะวอแล้วด้วย ทำให้การดูและรักษาคลองมีความยั่งยืน แม้ว่าโครงการช.ช.ต.จะถอนตัวออกจากพื้นที่ไปแล้ว

กยส.เห็นชอบแผนผู้หญิงกับสันติภาพ

ผู้หญิงชายแดนใต้ชี้ยาเสพติดทำให้ครัวเรือนขาดความมั่นคง

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ UN WOMAN จัดเวที การประชุมเพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็ก เพื่อเสนอต่อร่างมาตรการและแนวทางด้านสตรีและส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง โดยมีคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) องค์กรภาคประชาสังคมข้าราชการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 60 คน ณ โรงแรมบีพี สมิหลา จ.สงขลา

นางมิว่า คาโต้ ผู้อำนวยการ UN WOMAN สำนักงานภาคพื้นที่เอเชียและแปซิฟิก  กล่าวว่า UN WOMAN มีบทบาทในการสนับสนุน ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้มีการดำเนินงานในเรื่องผู้หญิงกับสันติภาพและความมั่นคง โดยมีความร่วมมือจากภาครัฐและมีการสนับสนุนด้านงบประมาณและนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงและความก้าวหน้าของผู้หญิง

“UN Woman ร่วมทำงานกับทุกฝ่ายเพื่อมุ่งเดินหน้าในการดำเนินตามมติคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ 1325 รวมไปถึงมติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นผ่านการพัฒนาร่างนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงแห่งชาติและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในข้อมติเพื่อยุติความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ”

ด้าน นางรัตนา สัยยะนิฐี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ได้เห็นชอบร่าง “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” แล้ว โดยอนุวัตรตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ประเทศไทยให้คำมั่นว่าจะพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านสตรี สันติภาพและความมั่นคง ซึ่งจะมีผลให้หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก UN Women

ทั้งนี้ “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ดังกล่าวมีวิสัยทัศน์ให้ “สตรีได้รับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ ได้รับความเป็นธรรมและเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในงานด้านสันติภาพและความมั่นคง” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อให้สตรีได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิจากปัญหาความขัดแย้งอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ส่งเสริมบทบาทของสตรีในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง ให้ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ประชาชน และผู้นำในพื้นที่ รวมทั้งสื่อมวลชน มีบทบาทปกป้อง คุ้มครองสิทธิสตรีและฟื้นฟูเยียวยาสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้ง และให้มีกลไกในการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพและความมั่นคง ทั้งในและต่างประเทศ

และมีเป้าหมายหลักคือ สตรีในพื้นที่สถานการณ์ความขัดแย้งได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในทุกขั้นตอนและทุกระดับ ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ประชาชน ผู้นำในพื้นที่และสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง มีกลไกส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพ และมีฐานข้อมูลกลางด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงที่เป็นระบบ ทันสมัย เข้าถึงง่าย

ด้วยความที่รัฐบาลไทยไม่สามารถยอมรับว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ” (Arm conflict) ยอมรับเป็นเพียง “เหตุการณ์ความไม่สงบ” แม้ความขัดแย้งและรุนแรงดังกล่าวเป็นความขัดแย้งที่ทำให้ถึงตายมีผู้เสียชีวิตเกือบ 7,000 คนตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ทำให้คณะรัฐมนตรีไม่สามารถออกมติครม. เป็น (ร่าง) “ยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านสตรี สันติภาพ และความมั่นคง” ที่สอดคล้องตามตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1325 ได้ จึงลดทอนลงเป็นเพียง “มาตรการและแนวปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง” ภายใต้ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) แม้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการขับเคลื่อนก็ตาม

กลุ่มผู้หญิงยกตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบทางจิตใจ ชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของผู้หญิงในท้องถิ่น เช่น วิถีการทำนา ซึ่งในอดีตเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนชาวไทยพุทธและมุสลิม ให้ได้มีกิจกรรมร่วมกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน  2 ศาสนา เริ่มน้อยลง ส่งผลให้เกิดความระแวงต่อกัน อีกทั้งการทำนาจากปราชญ์ชาวบ้านก็มีให้เห็นน้อยลง ส่งผลให้ความรู้ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา (คติชนวิทยา) สูญหายไป

ผู้ได้รับผลกระทบที่สูญเสียลูกชายจากเหตุการณ์ความไม่สงบบริเวณตลาด เรียกร้องให้ทางการและทุกภาคส่วนรณรงค์ให้ตลาดเป็นพื้นที่ปลอดภัยอย่างจริงจัง ท้ายสุด ในเวที มีการสนับสนุนให้จัดตั้งสมาคมสตรีมุสลิมในแต่ละจังหวัด ซึ่งในจังหวัดที่มีองค์กรอยู่แล้วได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษากับบุตรหลานผู้ได้รับผลกระทบ

สำหรับในมุมมองของมุสลิมในพื้นที่ ประเด็นการถอนทหารออกจากพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ผอ. โรงเรียนหนึ่งกล่าวถึงการถอนทหารออกจากโรงเรียนกรณีเกิดการปิดล้อมเพื่อตรวจค้นว่า

“ทหารควรแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนให้รับรู้รับทราบ การให้คนในชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลสถานที่ปลอดภัย เช่น ตลาด และ โรงเรียน เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดช่องว่างเรื่องความหวาดระแวง ให้คนชุมชนจัดการกันเองย่อมเข้าใจในบริบทของพื้นที่ตรงกัน และข้อเรียกร้องอีกข้อหนึ่งคือต้องการให้ เจ้าหน้าที่หรือทหาร ที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ เข้าใจถึงวิถีของมุสลิม เข้าใจหลักการของศาสนาอิสลามในเบื้องต้น”

ในการเสวนาเวทีปิดนั้น ผู้ได้รับผลกระทบกล่าวถึงปัญหายาเสพติดที่แพร่กระจายในพื้นที่สามจังหวัดใช้แดนภาคใต้อันมีผลต่อความมั่นคงในครัวเรือนความมั่นคงในที่นี้หมายถึงชีวิตทรัพย์สินและความมั่นคงทางสังคม ประเด็นหลักคือกลุ่มผู้นำสตรีและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงคือ ความรุนแรงในครอบครัวอันเป็นผลมาจากการขาดสภาพคล่องในการใช้ชีวิตและการทำมาหากินในท่ามกลางความเสี่ยงทางกายภาพ รวมไปถึงความรุนแรงที่เกิดจากการกระทบกระทั่งทางสภาวะจิตใจและความรุนแรงที่เกิดจากการทำร้ายร่างกายของผู้หญิงในฐานะบุคคลผู้เป็นเสาหลักคนหนึ่งในครอบครัว

หวังว่า ข้อเรียกร้องทั้งหลายของผู้หญิงชายแดนใต้จะส่งเสียงไปยังผู้รับผิดชอบ ผู้ปฎิบัติ และผู้เกี่ยวข้องให้ได้รับรู้ พร้อมหาทางออกร่วมกัน…

ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมประชุมกับครม.ส่วนหน้า

ตัวแทนของภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ภาคเอกชน หน่วยงานราชการ ประมาณ 300 คน ได้รับเชิญจากหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล(ครม.ส่วนหน้า)และคณะ ร่วมประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานราชการ หน่วยงาน และภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการรับทราบข้อมูลและนโยบายของรัฐบาล ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธีและสร้างความไว้วางใจ ความร่วมมือระหว่างกันต่อไปโดยมี พลเอกอุดมเดช สีตะบุตร เป็นประธานและคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเข้าร่วมประชุม ณ แหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559

ทั้งนี้ การพูดคุยสันติสุขได้ตอบรับข้อเสนอพื้นที่สาธารณะปลอดภัยเป็นโมเดลหนึ่งในการพิจารณา คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้(PA0W) และเครือข่ายยังคงทำงานต่อจากนี้กับสภาวะแวดล้อมอื่นนอกจากพื้นที่ปลอดภัยที่เอื้อต่อการพูดคุยและการสร้างสันติภาพต่อ

ภาคประชาสังคมหารือกับกองทัพภาคที่ 4 หาความร่วมมือสร้างสันติสุข

ภาคประชาสังคมร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ณ ศูนย์สันติวิธี ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เนื่องจากรัฐบาลกำหนดแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติสุขเป็นทางออกของการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จประการหนึ่ง คือบทบาทขององค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมในฐานะของการเป็นโซ่ข้อกลาง ที่เชื่อมประสานระหว่างคู่เจรจา ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งทางสันติวิธี และสร้างความไว้วางใจ ความร่วมมือระหว่างกันต่อไป

แม่ทัพภาคที่4 กล่าวสรุปว่า เห็นด้วยกับการพูดคุยและภาคประชาชน หากต้องให้เห็นว่าอนาคตจะได้อะไรจะได้พูดคุยกันต่อไป และทุกคนต้องช่วยกัน

“เรื่องพื้นที่ปลอดภัย เป้าหมายรักษาความปลอดภัยของประชาชน ผมบอกไม่ได้เพราะเป็นความลับ”

“เรื่องท้าทายต่อกอรมน. ไม่มีอะไรท้าทายนอกจากคน คนคือจุดใหญ่ เรื่องภาษาคนต้องพูดกันรู้เรื่อง”

ด้านพันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4สน. ชี้แจงว่า ยุทธศาสตร์รัฐในเรื่องภาคใต้มีสามระยะ คือ 1. ปี 2547-53 การควบคุมสถานการณ์ ทำการหยุดเลือดไหล เพราะมีความวุ่นวาย ก่อความไม่สงบทั่วพื้นที่2. ปี 2554-ปัจจุบัน สร้างเข้มแข็งฝ่ายพลเรือน ถอนทหารกลับ  ตำรวจขยายกำลังมากพอ กำลังของผู้ว่าราชการจังหวัดเข้มแข็ง ขณะนี้ได้จัดการ กำลังพล 8,000 อัตรา ถอนกำลังออกแล้วในปีนี้3. ระยะพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำการการบริหารปกติโดยผู้ว่าฯ แต่ยังไม่ถึงขั้นนี้ ในตอนนี้ถือว่าเป็นระยะที่สองตอนปลาย

พลโทชินวัฒน์ แม้นเดช รองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้อำนวยการกอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้แทนของกองทัพบก และแต่งตั้งพลตรีวิทยา เป็นผู้แทนคณะพูดคุยฝ่ายไทยการพบปะในครั้งล่าสุด เป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการและมีการก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรกคือ มีการตกลงตั้งพื้นที่ปลอดภัยตั้งกรรมการร่วมในการศึกษาการก่อตั้งพื้นที่ปลอดภัยโดยได้พิจารณาพื้นที่ปลอดภัยว่ามี 4 แบบ คือแบบตามพื้นที่ (territories) อำเภอ ฯลฯ แบบที่เสนอโดยวาระผู้หญิงเป้าหมายตัวบุคคลซึ่งเสนอโดยภาณุ และแบบอื่นๆแล้วแต่ข้อเสนอขณะนี้คณะกรรมการกำลังทำข้อสรุปเพื่อเสนอปลายเดือนนี้

ส่วนสำนักส่งเสริมการสร้างสันติสุขมีหน้าที่รับผิดชอบคือ สร้างสัมพันธ์ประชาสังคมสร้างสภาวะแวดล้อม พื้นที่กลางส่งเสริมสันติสุขสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อออกจากความขัดแย้งอย่างสันติการวิจัยทางวิชาการเป็นผู้สร้างสภาวะแวดล้อมเอื้อต่อพูดคุย(Common Space) และ”การทหารตาม””การเมืองขยาย”เตรียมความพร้อมพัฒนาในแนวสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ

นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนไม่ได้ต้องการอำนาจรัฐ แต่ต้องการนำเสนอความต้องการของประชาชนว่าต้องการอะไรหรือต้องการเห็นการพูดคุยเพื่อสันติภาพแบบไหน แม้ภาคประชาสังคมบางกลุ่มจะมีความเห็นที่แตกต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือหาทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง จึงต้องเชิญทุกกลุ่มประชาสังคมมาพูดคุยพร้อมกัน

“จะเห็นได้ว่าบางครั้งเรานับเขาเป็นปัญหา แต่เมื่อมีการพูดคุยเพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา เรากลับไม่นับเขาเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกระบวนการสันติภาพจะต้องนับรวมทุกคนมาสู่การแก้ไขปัญหา

ประเด็นที่สำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการรายงานข่าวอย่างมีวิสัยทัศน์ ที่สามารถชี้ให้เห็น “คุณค่า” ของกระบวนการสันติภาพ ให้สามารถแทรกซึมลงสู่พื้นทีให้ผู้คนได้ตระหนักว่า การต่อสู้ของประชาสังคมโดยไม่ใช้ความรุนแรงมีความสำคัญอย่างไร”