ระบบสุขภาพ ในโลกอันพลิกผัน คุยกับเลขาธิการ (5)

พลเดช  ปิ่นประทีป, พฤศจิกายน 2559

ระหว่าง 14-18 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา มีการประชุมทางวิชาการระดับโลกด้านวิจัยระบบสุขภาพ  ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา งานชื่อ Fourth Global Symposium on Health Systems Research (HSR2016)

มีนักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาชีพและภาคประชาสังคมจากทั่วโลกประมาณ 2,000 คนเข้าร่วม นับเป็นความพยายามรวมพลังประชาคมโลกเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพร่วมกัน

ผมและคณะมีโอกาสไปร่วมประชุมและนำเสนอประสบการณ์ของ สช. ให้กับทีมขององค์การอนามัยโลกเพื่อใช้ประกอบการจัดทำคู่มือสำคัญชิ้นหนึ่ง ชื่อ Strategizing national health in the 21st century

ส่วนรองเลขาธิการฯวีระศักดิ์ พุทธาศรี และคณะจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ   ก็ไปช่วยเขาดำเนินกระบวนการประชุมในห้องย่อยในเรื่องระบบการเงินและการอภิบาลระบบสุขภาพ รวมทั้งนำเสนอผลงานวิจัยทางโปสเตอร์ด้วย

เจ้าภาพจัด คือ Health Systems Global (HSG) ซึ่งเป็นองค์กรเชิงเครือข่ายระดับโลก ที่เกิดจากการรวมตัวของภาคีผู้นำและสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขของประเทศสำคัญๆที่มีองค์การอนามัยโลกสนับสนุน  ร่วมกับแคนาดา ประเทศเจ้าภาพ เขาจัดกันมาแล้วครั้งแรกที่มองเทรอ สวิสเซอร์แลนด์ครั้งที่สองที่ปักกิ่ง จีน  และครั้งที่สามที่เคปทาวน์ แอฟริกาใต้

ประเด็นแกนกลาง (theme) ของงานปีนี้คือ ระบบสุขภาพที่สามารถปรับตัวยืดหยุ่นและตอบสนองต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง (Resilient and responsive health systems for a changing world) เพราะนับวันสถานการณ์ขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในมุมต่างๆ ของโลกจะกระทบต่อสุขภาพประชาชนในวงกว้าง และไม่ว่าปัญหาจะเล็กหรือใหญ่ก็ไม่พ้นที่ระบบสุขภาพจะต้องรับมือ

ปัญหาการอพยพขนาดใหญ่ในยุโรปที่เป็นผลมาจากสงครามอัฟกานิสถาน อีรัค ซีเรียและไนจีเรียเหนือ ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน ปัญหาโรคระบาดที่รุนแรงแบบอีโบล่า ซิก้าและไข้เหลืองในแอฟริกากลาง หรือปัญหาภาวะโลกร้อน ฯลฯ ระบบสุขภาพแบบไหนที่จะสามารถรับมือกับภาวะเหล่านี้ และ ภาคประชาชนรวมทั้งภาคธุรกิจเอกชนจะมีบทบาทร่วมกันอย่างไร ในการรับรู้ ตัดสินใจและลงมือจัดการกับปัญหา

ภายหลังการนำเสนอประสบการณ์จาก สช. ปรากฏว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนฐานทางปัญญาหรือ 4P-W ของเราเป็นที่สนใจจากหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางจากแอฟริกาและอเมริกาใต้ เช่น แทนซาเนีย เอธิโอเปีย ตูนีเซียซีนีกัลป์ รวมทั้งองค์กรสนับสนุนระดับโลกเช่นองค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ

มีสุภาพสตรีคนหนึ่ง ชื่อ Nadege Ade เธอเป็นนักเขียนบล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียง เป็นผู้ประสานงานของกลุ่มชุมชนปฏิบัติการระดับสากลคนหนึ่ง (community of practices) มาขอสัมภาษณ์ต่อในเรื่อง 4P-W พวกเราจึงช่วยกันอธิบายกันใหญ่ เธอตื่นเต้นทำตาโตเมื่อรู้ว่าประเทศไทยเรามีรูปแบบกระบวนการที่หลากหลาย ทั้งสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพและการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เธอจะนำเรื่องของสช.และประเทศไทย ไปเขียนเผยแพร่ทางบล็อก ทั้งยังตั้งใจจะมาร่วมงานสมัชชาสุขภาพให้ได้ในปีหน้า

ส่วนคุณ Agnes Soucat และคุณ DeephaRajant แห่ง WHO ก็ตอบรับทันทีที่เราขอให้มาช่วยประเมินงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของเรา ในโอกาสที่จะครบรอบ 10 ปี โดยเธอจะขอมาร่วมสังเกตุการณ์และเก็บข้อมูลในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเดือนหน้านี้เพื่อประกอบการเขียนรายงานด้วย

ผมรู้สึกว่าในบรรดากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางทั่วโลก ระบบงานสุขภาพของเรามีความก้าวหน้าไปกว่าเพื่อนมากและเป็นที่สนใจของทุกประเทศ องค์กรตระกูล ส. ของเราทั้ง 6 หน่วยงานต่างเป็นต้นแบบและเป็นที่รู้จักของเครือข่ายสุขภาพระดับสากลทั้งสิ้น อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขของเราก็มีทั้งเกียรติภูมิและศักยภาพ

ดังนั้น ในฐานะที่ สช. เป็นกลไกระดับชาติ ที่ดูแลกระบวนการสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ผมจึงสนใจที่จะเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพงานวิชาการระดับโลกเช่นนี้บ้าง จึงริเริ่มหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดงานหลายระดับ รวมทั้งกรรมการบอร์ดของ HSG โดยมี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ประสานสนับสนุน

ล่าสุดมีข่าวดีก่อนกลับบ้านครับ Dr.Abdul Ghaffa ผู้อำนวยการบริหาร พันธมิตรเพื่อนโยบายและการวิจัยเชิงระบบด้านสุขภาพ (Alliance for Health Policy and Systems Research) บอกคุณหมอสมศักดิ์ว่า ไทยน่าจะเป็นเจ้าภาพได้ใน ครั้งที่ 6  คือ HSR 2020 โดยไม่ต้องกลัวว่าอินเดียจะเป็นคู่แข่ง หมายความว่าหลังจากนี้ สช.จะต้องเริ่มเดินเรื่องขอเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ และจะได้รับคำตอบก่อนการจัดงาน HSR 2018  ที่จะจัดครั้งหน้า ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เพราะเขาต้องประกาศชื่อประเทศเจ้าภาพรายต่อไปอย่างเป็นทางการ ในตอนนั้นครับ