การปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ภาคประชาชน

บัดนี้แผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ได้ผ่านกระบวนการจัดทำและพิจารณา ตามลำดับขั้นตอน จนออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561

ส่วนกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เพิ่งผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไป ซึ่งคาดว่าจะนำเข้า ครม.ให้เห็นชอบ และรายงานสนช.รับทราบ จนกระทั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีกเช่นกัน ภายในเดือนมิถุนายน

แต่คำถามที่ตามมาคือ เมื่อมียุทธศาสตร์ชาติกับแผนปฏิรูปประเทศ แล้วจะอย่างไรต่อไป

จากการเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ที่เคยขึ้นสู่กระแสสูงมาตั้งแต่ช่วงก่อนการยึดอำนาจของคสช. ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้ทยอยตั้งกลไกต่างๆขึ้นมาทำงาน ดูเหมือนว่าได้ช่วยสร้างความเป็นสถาบันของการปฏิรูปประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั้งกระแสได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นมารองรับ

แต่น่าเสียดายที่กระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมในยุคเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างจำกัดมาก เพราะคสช.ต้องระมัดระวังปัญหาความมั่นคง เมื่อประกอบกับการจัดตั้งกลไกเฉพาะกิจขึ้นมากมายจนเวียนหัว กับวงรอบการทำงานที่ไม่รู้จบสิ้น จึงนำมาสู่สถานการณ์การปฏิรูปที่อ่อนล้าหมดเรี่ยวแรง สังคมโดยทั่วไปเลิกติดตามการปฏิรูปของรัฐบาลไปเสียแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองด้วยใจที่เป็นธรรม ผมยังเห็นว่ารัฐบาลมีความพยายามขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคปฏิบัติควบคู่กันมาตามจังหวะโอกาส โดยผ่านการทำงานของหลายกลไก อาทิ คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0ซึ่งกำลังขับเคลื่อนปรับปรุงประสิทธิภาพการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย.ให้รวดเร็วและไม่มีเรื่องตกค้าง การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของกระทรวงพาณิชย์ การจดทะเบียนและบริการข้อมูลที่ดินของกระทรวงมหาดไทย การนำเข้าส่งออกของกรมศุลกากร การแก้ไขพื้นที่ป่าจังหวัดน่าน และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาที่ใช้รูปแบบสานพลังประชารัฐ ฯลฯ

ในภาพรวมของแผนปฏิรูปประเทศ 11 แผน ประกอบไปด้วยประเด็นปฏิรูปที่มีจำนวนมากถึง 109ประเด็น มีพันธกิจย่อย 128 อย่าง  และหากดำเนินการตามแผนทั้งหมดนี้ จะต้องปรับปรุงกฎหมายเดิม 119 ฉบับและจัดทำกฎหมายใหม่อีก 77 ฉบับ รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรใหม่56 องค์กร และปรับปรุงองค์กรเดิมอีก 42 องค์กร

ในส่วนยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย ๖ ด้าน มี ๓๕ ประเด็นยุทธศาสตร์ ๓๒ เป้าหมายและ ๖๔ จุดหมายปลายทางรูปธรรมที่จะบรรลุให้ได้ภายใน ๒๐ ปี ซึ่งน่าสังเกตว่าเป็นภารกิจที่ดำเนินโดยภาครัฐและกลไกโครงสร้างอำนาจส่วนบนทั้งสิ้น ประชาชนคงเข้าไปมีส่วนร่วมได้อยากอยู่สักหน่อย

ด้านหนึ่ง การที่แต่ละคณะกรรมการต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเร่งทำแผนเพื่อส่งการบ้านให้ทัน จึงไม่มีเวลาได้ประสานหรือตรวจเช็คระหว่างกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ เช่น การเสนอจัดตั้งหน่วยงานใหม่โดยไม่ยุบเลิกหน่วยเก่าเลยนั้น จะไปขัดแย้งกับแผนปฏิรูประบบราชการหรือไม่ และจะมีทางออกอย่างไร

อีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนแผนทั้งหมดจะเป็นแผนปฏิรูปที่คิดโดยข้าราชการ อดีตราชการและชนชั้นนำ ที่มุ่งแก้ไขปรับปรุงในระดับโครงสร้างส่วนบน โดยขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางของสังคมและภาคีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริงเสียงจริง

ดังนั้น จึงคาดได้ว่า เมื่อถึงขั้นการลงรายละเอียดและการปฏิบัติการ น่าจะมีปรากฏการณ์แรงต้านและความหนืดเกิดขึ้นในระบบจนอาจกลายเป็นปัญหาอุปสรรคไปได้ตลอดเส้นทาง ในขณะที่แรงหนุนจากสังคมกลับจะเฉื่อยเนือย

จากประสบการณ์ของขบวนปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งร่วมกระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ 2540 เรื่อยมา เราเรียนรู้จากความล้มเหลวมากมาย ที่สำเร็จก็มีไม่น้อย โดยยังคงเคลื่อนไหวและนำพาการเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย

เมื่อปี 2540 รณรงค์ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(“ธงเขียว”)แล้ว นึกว่าเสร็จภารกิจจึงปล่อยให้นักธุรกิจการเมือง ข้าราชการและชนชั้นนำ เข้ามายึดครองบทบาทการบริหารบ้านเมือง ใช้อำนาจรัฐและกุมบังเหียรงานพัฒนา ขาดกระบวนการตรวจสอบตรวจตราที่เหมาะสม จนกระทั่งนำพาประเทศสู่วิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่า

พรบ.การศึกษาแห่งชาติ  พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ การจัดตั้งองค์กรอิสระอย่างสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง สำนักงานป.ป.ช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ ควรเป็นตัวอย่างที่เตือนสติและความทรงจำว่า แม้มีกฎหมายที่งดงามและกลไกที่ก้าวหน้าแต่ต้องกลับจบลงด้วยความล้มเหลว นั่นเพราะเหตุใด

เราเรียนรู้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป กฎหมายปฏิรูปและกลไกต่างๆ เป็นเพียงแค่องค์ประกอบส่วนน้อยนิดที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจส่วนบน ซึ่งไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่จริงจังและยั่งยืนได้เลย หากปราศจากการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสังคม(mindset)  ไม่มีกระบวนการที่เอื้อให้เกิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง

 

การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมจากแนวดิ่งสู่แนวราบ ไม่สามารถใช้การสั่งการบังคับ แต่ต้องใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติระหว่างผู้คนทุกภาคส่วนในสถานการณ์จริงของปัญหา และต้องอาศัยกระบวนการบริหารจัดการแบบใหม่ ซึ่งระบบราชการมักทำไม่ได้ เรื่องนี้ลองกันมามากแล้ว ควรที่รัฐบาลคสช.จะมองให้เห็นในจุดตายเหล่านี้ด้วย

สำหรับ สช.(สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ในสถานภาพขององค์กรรัฐแบบใหม่ จะช่วยหนุนเสริมในกระบวนการสร้างความเข้าใจของสังคมและเอื้ออำนวยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมปฏิบัติการปฏิรูปในระดับชุมชนท้องถิ่นและสังคมส่วนย่อยๆของตน(Public Engagement)

สช.จะใช้กระบวนการเวทีสมัชชาสุขภาพแบบปรับประยุกต์ในทุกจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาคมที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกรอบแนวคิด ทิศทางและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ จากนั้นจึงเชิญชวนให้ร่วมกันใช้วิจารณญาณในการเลือกหยิบเอาบางเรื่องที่สนใจและคิดว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาคมของตน เพื่อนำไปปฏิบัติการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานล่าง ด้วยวิธีการและวิถีทางของตน

นี่เป็นระเบียบวาระการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติของภาคประชาชน เป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นภารกิจโดยตรงของ สช. ครับ.

พลเดช  ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2561