ความก้าวหน้าการปฏิรูปประเทศ

โดย นายแพทย์ พลเดช  ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

หลุมพรางของการปฏิรูป ที่สังคมไทยมักจะพลาดพลั้งตกลงไปคือได้ทำแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นตัวแทนรัฐบาล มานำเสนอรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและ พรป. การปฏิรูป  ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องมีหน้าที่รายงานความคืบหน้าการดำเนินการปฏิรูปตามแผนทุกรอบ 3 เดือน ต่อวุฒิสภา  เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562 นับเป็นครั้งแรก  เป็นรอบ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2562  

ความคืบหน้าตามที่เสนอรายงาน

สศช. รายงานว่า จากการดำเนินงานตามแผนงานโครงการ และงานปฏิรูปเร่งด่วนของรัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ได้เกิดประโยชน์ขึ้นแล้ว 5 ระดับ คือ

  1. ประชาชนมีหลักประกัน สวัสดิการพื้นฐานและมีจิตอาสา
  2. มีสถาบันการเงินชุมชน
  3. ภาคธุรกิจได้รับการยกเลิก ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรค
  4. ภาครัฐมีระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศที่ดีขึ้น
  5. ประเทศมีความสงบเรียบร้อย

สำหรับโครงการปฏิรูปเร็ว หรือ Quick Win ได้บังเกิดผล

  1. ด้านยุติธรรม มีโครงการทนายความทุกโรงพัก
  2. ด้านกฎหมาย มีการทบทวนกฎหมายล้าสมัยและผลักดันกฎหมายลดความเหลื่อมล้ำ  
  3. ด้านเศรษฐกิจ มีการจัดตั้งสำนักงานบูรณาการแก้ปัญหาความยากจน และยกสถานะวิสาหกิจชุมชนเป็นนิติบุคคล
  4. ด้านสาธารณสุข มีโครงการความรอบรู้สุขภาพและคลินิกหมอครอบครัว
  5. ด้านสังคม มีโครงการปลูกต้นไม้เป็นทรัพย์สิน ส่งเสริมการออม และสร้างชุมชนเข้มแข็ง
  6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีโครงการจัดการน้ำเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม  
  7. ด้านพลังงาน มีโครงการเสรี solar roof top

ในมุมมองหมอพลเดช มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางประการ ดังนี้

1.ต่อลักษณะงานปฏิรูป

ความคืบหน้าตามที่ สศช.มารายงานต่อวุฒิสภาเป็นผลงานที่น่าชื่นชม แต่ส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะเป็นเพียง “นวัตกรรมงานพัฒนาและการบริหารจัดการ” เท่านั้น ซึ่งสามารถเป็นที่เข้าใจและยอมรับได้สำหรับยุครัฐบาลประยุทธ (1) เนื่องจากรัฐบาลในยุคนั้นมีภารกิจแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าของประเทศอยู่มากมาย

ดังนั้นเมื่อมาถึงรัฐบาลประยุทธ์ (2)  ต่อไปนี้ก็ควรต้องถึงเวลาขับเคลื่อนการปฏิรูปใหญ่ตามแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 11(+1) ด้าน ดังที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา กันอย่างจริงจังเสียที

2.ความเข้าใจต่อการปฏิรูป

ความหมายของการปฏิรูป คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและระบบ อันส่งผลสะเทือนขนานใหญ่ ซึ่งต้องการการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเก่า อย่างน้อยใน 3 ระดับ จากล่างสู่บน จากลึกสู่กว้าง

ได้แก่ 1)การปฏิรูปวิธีคิดและจิตสำนึกของสังคมและชุมชนที่เกี่ยวข้องต่อเรื่องนั้น  2)การปฏิรูประบบความสัมพันธ์ทางสังคมในเรื่องนั้นกันใหม่ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการกับประชาชน  ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ  ผู้ค้ากับผู้บริโภค หมอกับคนไข้ ครูกับนักเรียน  3)การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ กฎกติกาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.ระวังหลุมพราง

หลุมพรางของการปฏิรูป ที่สังคมไทยมักจะพลาดพลั้งตกลงไป จนทำให้การปฏิรูป “ได้ทำ” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  หลุมพรางเหล่านี้ ได้แก่ 1)วิธีการแบบ top-down strategy  2)การมุ่งเป้าหมายการออกกฎหมายเพื่อใช้บังคับแต่อย่างเดียว ไม่ทำอย่างอื่นไปด้วย  ซึ่งมักนำไปสู่สภาวะ“เสร็จแล้ว” และก็”จบกัน”แต่เพียงเท่านั้น  3)การปล่อยให้เป็นการปฏิรูปเป็นของราชการโดยราชการ เพื่อราชการ ขาดการมีส่วนร่วมของอีก 2 ภาคีใหญ่ คือภาคสังคมและภาคธุรกิจ  จึงไม่มีพลังที่มากพอที่จะไปให้ถึงและขาดสมดุล

4.หัวใจความสำเร็จ

ในยุคแห่งการปฏิรูปภาคปฏิบัติเช่นนี้  หัวใจความสำเร็จ คือ

“กระบวนการมีส่วนร่วม”

“การปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการและกระจายอำนาจ”

“การปฏิรูปเชิงพื้นที่ให้เกิดผลสำเร็จเชิงรูปธรรม”

ยุทธศาตร์การปฏิรูปเชิงพื้นที่  มี 3 ระดับที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ 1)เรื่องชุมชนเข้มแข็ง ควรใช้ตำบลพื้นที่เป้าหมาย  2)เรื่องบูรณาการแบบประชารัฐ ควรใช้อำเภอเป็นเป้าหมาย  3)ปฏิรูปเศรษฐกิจท้องถิ่น ควรใช้จังหวัดเป็นเป้าหมาย

5.การปฏิรูปเชิงพื้นที่

การปฏิรูปเชิงพื้นที่ ได้มีการริเริ่มมาบ้างแล้วตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ (1) โดยครม.ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้ดำเนินโครงการสร้างการรับรู้และมีสวนร่วมของประชาชนต่อยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป” เมื่อปี 2561

ในคราวนั้น สช.ได้ดำเนินการโดยอาศัยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศเป็นผู้ขับเคลื่อนเวที สร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปเชิงพื้นที่ รวม 102 เวที ใน 77 จังหวัด มีประเด็นปฏิรูปเชิงพื้นที่ ที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Local Reform Agenda เกิดขึ้นแล้วจากเวทีทั่วประเทศ รวม 531 เรื่อง

นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติยังมีฐานทุนสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 คือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจำนวน 81 เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพจังหวัด 126 เรื่อง และประเด็นร่วมของกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน อีกจำนวน  58 เรื่อง

ซึ่งรัฐบาลควรจัดงบประมาณสนับสนุนให้เครือข่ายเหล่านี้ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปดังกล่าวต่อไปอย่างต่อเนื่อง และมุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมในทุกจังหวัด

6.บทบาทของ ส.ว.

บทบาทของ ส.ว.ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่เพิ่มเติมในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูป  ส.ว.ควรใช้ยุทธศาสตร์แรงดึง (pull strategy) เพื่อประคับประคอบและเกื้อหนุนการปฏิรูปของฝ่ายบริหารและหน่วยงานกระทรวงต่างๆ  

เพราะ ส.ว. ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ ไม่มีหน้าที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (drive) เหมือนฝ่ายบริหาร และไม่ใช่ภาคประชาชนหรือประชาสังคมที่จะใช้วิธีกดดันเรียกร้อง (push strategy) หลักการสำคัญในการดึง ผู้ดึงต้องวางตนเองอยู่ในตำแหน่งข้างหน้าต่อสิ่งที่จะดึง ซึ่งในที่นี้ต้องออกแรงดึงทั้งสองมือ  ด้านหนึ่งดึงรัฐบาล อีกด้านหนึ่งต้องดึงประชาชน โดยต้องให้ทั้งสองส่วนประสานและเกื้อหนุนกันไป.

มี่มาของรูปหน้าปก https://www.nationweekend.com/columnist/28/2342?utm_source=bottom_relate&utm_medium=internal_referral