จีน กับ ปัญหาคนยากจน ?

ถ้านึกไม่ออกว่าความยากจนของจีนเป็นอย่างไร ลองนึกสภาพว่ามีคนจนในประเทศ 88% ในปี 2524 (ค.ศ. 1981) มีรายได้ที่ประมาณ 40 บาทหรือน้อยกว่า มาอยู่ที่ 6.5% ในปี 2555 (ค.ศ. 2012)

ระหว่างปี 1978-2018, จีนยกระดับประชาชน 740 ล้านคนให้ก้าวพ้นเส้นความยากจน (สำนักงานสถิติแห่งชาติและสภาสำนักงานข้อมูลของจีน)

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเข้าประชุมคณะ อนุ กมธ. ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปเพื่อแก้ความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา อาคารสุขประพฤติ

พิจารณาเรื่อง การแก้ไขความยากจนของประเทศจีน โดยมี อ.สมพันธ์ เตชะอธิก คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นผู้นำเสนอ ผู้เขียนจึงขอสรุปใจความสำคัญออกมา แต่ก่อนอื่นมาลองดูนิยามความยากจนกับเงื่อนไข

ความยากจน หมายถึง ความยากจนในเชิง เศรษฐกิจซึ่งพิจารณาที่ระดับรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจของบุคคลว่ามีรายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ หรือมีรายได้ต่ำกว่ามาตรฐาน คุณภาพชีวิตขั้นต่ำท่ียอมรับได้ในแต่ละสังคม  (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2546) 

เงื่อนไขของความยากจน มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดปัญหาความยากจนขึ้น ทั้งปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการผลิตและปัจจัยการยังชีพที่เหมาะสม การไม่ได้รับการศึกษาอบรมชนิดที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความเสียเปรียบจากระบบเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่ตกงาน ชราภาพ พิการ เป็นเด็กเร่ร่อน ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ และการแก้ปัญหา (วิทยากร เชียงกูล, 2547)

ส่วนของประเทศจีน อ.สมพันธ์ เล่าว่า

อ.สมพันธ์ เตชะอธิก

ในปี ค.ศ. 1978 ประเทศจีนมีประชากรยากจน 770 ล้านคน ใน 334 อำเภอใน 24 มณฑล แต่ในปี ค.ศ. 2017 คนยากจนในจีนลดลงเหลือเพียง 30 ล้านคน ลดลงไป 70 % ในระยะ 40 ปี ที่ผ่านมา  พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงจัดให้วันที่ 17 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันขจัดความยากจนนานาชาติและจีน” (International Day for the Eradication of Poverty)

รัฐบาลจีนกำหนดความยากจนไว้ที่ 2,800 หยวน/ปี (~14,000 บาท) หรือวันละ 7.67 หยวน (ราววันละ 38.35 บาท)  ส่วนทางธนาคารโลกกำหนดไว้ที่ 19 ดอลลาร์ หรือ 13.4 หยวน/วัน (~67 บาท) ทั้งนี้ต้องดูบริบทของแต่ละประเทศคนจนในจีนกับคนจนในเมืองไทยคงใช้อัตราการวัดคงไม่เหมือนกัน

แนวคิดสำคัญของจีนในการแก้ปัญหาดังกล่าว

  • จีนเน้นไปที่แก้จน ตรงจุด ตรงกลุ่ม ภาษาจีนเรียกว่า จิงจุ่น
  • ช่วยเหลือประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน
  • แก้ปัญหาความยากจนแบบเจาะจง

ยึดปรัชญาที่ว่า “โดยสอนให้จับปลา ไม่แจกปลาเฉยๆ”

นโยบายสำคัญที่จีนใช้ในการแก้ความยากจน

  • เจาะจงถึงระดับบุคคลและครัวเรือนเพื่อความแม่นยำ
  • หน่วยงานจับคู่กับพื้นที่เป้าหมายในหมู่บ้านห่างไกล
  • ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ยากจนทั่วประเทศ
  • ตรวจสอบและคุยตัวต่อตัวกับคนยากจน
  • ได้ข้อมูลกว่า 89 ล้านแฟ้มโครงการ
  • โยกย้ายชุมชนยากจนไปทำมาหากินในที่ใหม่ ราว 5 ล้านคน

โดยตั้งกลไก สภาแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลัก มีการสร้างมาตรการ, ก่อตั้งทีมงาน, รับผิดชอบ, ติดตามประเมิน

แนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน

  1. นำอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยสินค้าเกษตร/ภูมิศาสตร์ โดดเด่นท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าสินค้า หาช่องทางระบายสินค้า ใช้อีคอมเมริ์ชชักนำ และให้การช่วยเหลือทางการตลาดจนมีช่องทางธุรกิจ
  2. กระตุ้นการจ้างงาน และฝึกให้คนยากจนหางานทำ จะเพิ่มทักษะวิชาชีพและรายได้ในทางไหน?
  3. โยกย้ายประชากรให้มีที่อยู่ใหม่และจ่ายเงินชดเชย  ลงทุนพื้นที่ให้สร้างคนสร้างงาน 5 ล้านคน
  4. ช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตสาธารณูปโภค ถนนน้ำ ไฟฟ้า โรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชนแข็งแรง และเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ
  5. ช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ชนบทห่างไกลอัดฉีดเงินและอาสาสมัครจำนวนมากไปช่วย
  6. ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
  7. ช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม
  8. เงินช่วยเหลือด้านกธารณสุขและเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถทำงานได้

ของไทยนั้นข้อ 1,2,3 นั้นประเทศไทยไม่ได้ทำนโยบายดังกล่าว

ลองมาดูตัวอย่างที่จีนทำสำเร็จกันบ้าง

รศ.ดร. Yu Haiqiu ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ แห่งมณฑลยูนนาน เล่าว่า ผู้บริหารและข้าราชการแต่ละคนติดชื่อตำแหน่งบันทึกภารกิจหลักฐานการทำงานการใช้จ่ายและตรวจสอบจับคู่กับครัวเรือนยากจนอย่างน้อยคนละ 2 ครัวเรือนจนกว่าจะสำเร็จ มีการเยี่ยมครอบครัว 4 ครั้งต่อปี ใช้เงินไม่เกิน 2-3 พันบาท

สถาบันฯ จับคู่หมู่บ้านยากจนในเมืองลี่เจียง มณฑลยูนนาน ประชากร 650 คน ปลูกข้าวโพด ยาสูบ เลี้ยงสัตว์ มีกระบวนการทำงาน ดังนี้

  1. ทำแผนลดความยากจนที่เหมาะสม
  2. มอบทุนตั้งต้นสำหรับอาชีพ
  3. ซื้อเฟอร์นิเจอร์ให้ 6 ชิ้นไม่เกิน 30,000 บาท
  4. สร้างห้องน้ำถูกสุขลักษณะให้ครอบครัว
  5. รัฐอุดหนุนสร้างบ้านใหม่ 4 แสนบาท

ตัวอย่างที่สองของ รศ.ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โมเดลเถาเป่า Taobao Village

  • เครืออาลีบาบา เป็นผู้ริเริ่มโครงการด้วยการปล่อยเงินกู้และระบบเว็บไซต์ให้โพสต์ขายสินค้าได้โดยง่าย รวมถึงจัดคอร์สการขายออนไลน์และช่วยเครือข่ายการขนส่งสินค้าให้เข้าถึงพื้นที่
  • ภาครัฐ สนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการค้าออนไลน์ จัดสรรพื้นที่เขตอุตสาหกรรมพิเศษ เสนอให้เอกชนเช่าเป็นโรงงานขนาดย่อม จัดให้มีอินเตอร์เน็ตไฟเบอร์ความเร็วสูงและมีเครือข่ายมือถือที่ครอบคลุม
  • ร้านค้าในชุมชนที่ห่างไกล เหล่านี้อาจจะประสบปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน, การโฆษณาออนไลน์, ขาดทักษะการแข่งขัน เป็นต้น  เครืออาลีบาบาจะมาช่วยแก้ปัญหาและวางระบบให้

จะเห็นว่า หมู่บ้านชนบทห่างไกลรวมตัวกันทำการค้าออนไลน์ เริ่มปี 2013 เพียง 20 หมู่บ้าน ในปี 2017 ขยายเป็น 2,118 หมู่บ้าน

คงมาถึงคำถามที่สำคัญว่าบทเรียนการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศจีนจะมาปรับแก้แล้วมาประยุกต์ใช้ได้จริงในสังคมไทยอย่างไร  ด้วยความแตกต่างด้านบริบทของพื้นที่ วัฒนธรรม

อีกหลายๆประเด็นที่น่าสน

  • ความมีเสถียรภาพทางการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน
  • จีนเน้นไปที่บรรเทาความยากจน ไม่ใช่ขจัดความยากจน
  • การแก้ปัญหาความยากจนเน้นไปที่ด้านเกษตร ไม่ใช่ด้านอุตสาหกรรม
  • การแก้ปัญหาเน้นไปที่ครัวเรือน จนถึงระดับชุมชน
  • ปัจจัย 4 และเสริมด้วย 1 เรื่องอาชีพ

ส่วนของไทยนั้นผู้เขียนอาจใช้คำพูดว่าเป็นนโยบายแบบ  “คุณพ่อคุณแม่รู้ดี”

ถึงวันนี้คงไม่ต้องมานั่งถกเถียงเรื่องความยากจนว่าคืออะไร คนยากจนต้องนิยามความยากจนด้วยตัวเอง

ปาลิต วรพงศ์พิบูลย์

เอกสารอ้างอิง

  • วิทยากร เชียงกูล. (2547). พัฒนาการแบบยั่งยืนกับการแก้ปัญหาคนจนกรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกดั (มหาชน).
  • ธนพล สราญจิตร์. (2558). ปัญหาความยากจนในสังคมไทย Problem of Poverty in Thailand. EAU HERITAGE JOURNAL Social Science and Humanity Vol. 5 No. 2 May-August 2015.
  • 40 ปี การปฏิรูปเศรษฐกิจจีน: ดูการเปลี่ยนผ่านของยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียผ่าน 9 ภาพ. (2562). https://www.bbc.com/thai/international-46596893, สืบค้นวันที่ 19 ธันวาคม 2562
  • เปลวสีเงิน. (2562). จีนจะให้ ‘คนจน’ หมดไปอย่างไร?, https://www.thaipost.net/main/detail/26247, สืบค้นวันที่ 19 ธันวาคม 2562