โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 18 มกราคม 2563
ร่าง กม. ฉบับนี้ เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี
(ร่าง)พรบ.การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่..) พ.ศ….. ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี นับเป็นร่างกฎหมายที่เข้าข่ายการปฏิรูปฉบับแรก ที่เข้ามาสู่การพิจารณาร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 แต่จะสามารถผ่านกระบวนการพิจารณาจนออกได้เป็นฉบับที่เท่าไหร่ ก็ต้องติดตามดูกัน
มองในมุมของนักพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีเป็นเรื่องที่ดี เป็นการบรรเทาปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน
เนื่องจากความขัดแย้งในสังคมและชุมชน หรือแม้แต่ในครอบครัว เป็นเรื่องปกติธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน ประเด็นสำคัญต่อเรื่องนี้จึงอยู่ที่การจัดการกับความขัดแย้งอย่างเหมาะสม-ถูกวิธี
ถ้าไม่ตระหนักรู้ ไม่จัดการกับปัญหาตั้งแต่ต้นมือ ในที่สุดเมื่อปัญหายิ่งสะสมมากขึ้นจนถึงขนาดก็จะกลายเป็นความรุนแรง เป็นความเจ็บป่วย เป็นทุกขภาวะ ต้องพากันมาถึงโรงพยาบาล ถึงโรงถึงศาล ถึงโรงพัก เพื่อให้คนอื่นเข้ามาช่วยแก้ไข
แต่ถ้าคู่ขัดแย้งกระทำอย่างเหมาะสม-ถูกวิธี ด้วยกระบวนการปรึกษาหารือ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจ และปรับตัวเข้าหากัน ก็จะสามารถคลี่คลายกันไปได้เองในระดับครอบครัวและชุมชน
ในกระบวนการของงานพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น เราให้ความสำคัญมากต่อเรื่องการจัดการปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิถีและความสมานฉันท์ จึงมีทั้งองค์ความรู้ หลักวิชา และรูปแบบนวัตกรรมต่างๆเกิดขึ้นมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นงานยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ยุติธรรมเชิงฟื้นฟู-ป้องกัน
ในกระบวนการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติก็ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เอาไว้ ทั้งในมิติของการปฏิรูปด้านสังคม ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านกฎหมาย และด้านความมั่นคงแบบองค์รวม
ผมจึงรู้สึกดีใจเป็นพิเศษที่ได้เห็นการเสนอ (ร่าง)พรบ.การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ ฉบับนี้ ผ่านเข้ามาสู่กระบวนการนิติบัญญัติ อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าเป็นกฎหมายเชิงปฏิรูปฉบับแรกที่เข้ามาสู่การทำงานร่วมกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกระบวนการทางสังคมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย เป็นภูมิปัญญาที่พบได้ในวัฒนธรรมต่างๆทั่วโลก
ไม่ว่าจะมีการออกกฎหมายหรือไม่ ไม่ว่าจะเรียกในภาษาวิชาการว่างานยุติธรรมชุมชน ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ยุติธรรมเชิงฟื้นฟู หรืออื่นใด ในชีวิตความเป็นจริงแล้ว กระบวนการอยู่ร่วมกันในชุมชน-สังคม ไม่ว่ายุคไหนๆ ล้วนมีวิถีของการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าของตนอยู่แล้ว โดยอาศัยผู้ใหญ่หรือคนที่ได้รับความเคารพนับถือในชุมชนมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจนเป็นที่ยุติเลิกลากันไป
แต่เมื่อสังคมได้ขยายตัวใหญ่ขึ้น มีสมาชิกมากมายหลากหลายเป็นร้อยเท่าพันเท่า มีความสลับซับซ้อนของปัญหาในการอยู่ร่วมกัน จึงเกิดเป็นกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นระบบใหญ่ ในด้านหนึ่งได้เกิดเป็นเสาหลักที่ค้ำจุลระบบสังคมใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจไปครอบงำ บดบังและเบียดขับให้กระบวนการยุติธรรมชุมชนที่มีอยู่เดิมค่อยๆสูญหายไป
สังคมไทยได้เรียนรู้แล้วว่า ในเมื่อความขัดแย้งทุกเรื่องถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ในที่สุดภาระงานของเจ้าหน้าที่รัฐจึงล้นมือ สภาพไม่ผิดอะไรกับปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลรัฐแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันและยังแก้ไม่ตก คดีล้นศาล –คนล้นคุก ก็เป็นทุกขภาวะทางสังคมที่รอการปฏิรูปครั้งใหญ่เช่นกัน
ดังนั้น การที่หันกลับมาให้บทบาทความสำคัญต่องานไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องร้องคดีและงานยุติธรรมชุมชน จึงเป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางของระบบยุติธรรมไทย ให้เกิดความสมดุลและหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ระหว่างกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักและยุติธรรมทางเลือก
(ร่าง)พรบ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฯ ฉบับนี้ เป็นส่วนที่มาช่วยเติมเต็มและอุดช่องว่าง
แต่ก็อาจมีบางประเด็นที่ยังต้องดูแลให้เกิดความรอบคอบรอบด้าน เพราะในขณะนี้เรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแนวทางนี้อยู่บ้างแล้วหลายฉบับ อาทิ
1) พรบ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ที่เพิ่งออกมาในปีนี้เอง
2) กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.2553
3) กฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยความผิดที่มีโทษทางอาญา พ.ศ.2553 ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยฝ่ายบริหารหรือหน่วยงานของรัฐ
ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายฯฉบับนี้ จึงเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี โดยการดำเนินงานของศาล ได้อีกช่องทางหนึ่ง
เท่าที่ศึกษาในเบื้องต้น พบว่าในร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมีสิ่งที่เพิ่มมาเช่น
1) การใช้บทบาทของผู้ประนีประนอมของศาล ที่ศาลได้ขึ้นทะเบียนไว้
2) สภาพบังคับหลังการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากศาลสามารถ “พิพากษาตามยอม” หากคู่ความสามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้
3) เสียค่าขึ้นศาลน้อยลง และศาลมีอำนาจสั่งคืนค่าขึ้นศาลได้
แต่สิ่งที่อาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมให้เกิดความรอบคอบ คือประเด็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับอายุความของคดีในระหว่างที่มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ชัดเจน เพราะอาจเกิดการปล่อยปละละเลยหรือประวิงเวลาจนมีปัญหาการหมออายุความเกิดขึ้นได้
ตัวอย่างเช่น อาจต้องมีการกำหนดอายุความไว้ 60 วันนับแต่วันที่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสิ้นสุดลง และให้สามารถขยายอายุความต่อไปได้อีก 60 วัน แบบเดียวกับ พรบ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 .
ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com