สานพลังชุมชน รับมือโควิด (3) “ทุนทางสังคม”

29 มีนาคม 2563

ถึง พี่น้องเครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนาจังหวัด ทุกพื้นที่

1) ถ้าจะถามว่า ต่อจากนี้ไปสถานการณ์และแนวโน้มข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ผมมองเห็นเป็น 3 ภาพครับ  ภาพแรก ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี – ประชาชนไม่ตื่นตระหนก ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี สามารถยันการระบาดได้สำเร็จ จนกระทั่งการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) สิ้นสุดลงตามสภาวะภูมิอากาศโลก

2) ภาพสอง ประเทศไทยควบคุมได้ดีพอสมควร – ประชาชนไม่ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ ให้ความร่วมมือกันดี สามารถยันการระบาดจนประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 แบบช้าๆ  ประชาชนและระบบสาธารณสุขมีเวลาปรับตัวได้ทัน ไม่โกลาหล โรงพยาบาลสามารถดูแลผู้ป่วยได้ โรงแรมที่ซบเซาถูกปรับเป็นระบบสถานที่กักกันโรคแบบชั่วคราว (Quarantine) จนผ่านการระบาดใหญ่ไปด้วยกัน อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศ

3) ภาพสาม  ประเทศไทยควบคุมไม่ได้ตามเป้าหมาย – ประชาชนตื่นตระหนกกันจนเกินเหตุ (Panic) หวาดกลัว  เอาตัวรอด ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร การระบาดเข้าสู่ระยะที่ 3 อย่างรวดเร็ว  ระบบสังคมและสาธารณสุขปรับตัวไม่ทัน เกิดโกลาหลทั้งในและนอกโรงพยาบาล  ระบบโรงพยาบาลล่มสลาย ประชาชนต้องดิ้นรนกันไปตามยะถากรรม

4) ถ้าหากโชคร้ายเป็นแบบสาม ถึงคราวต้องไปวัดดวงกันที่  ทุนทางสังคม (Social Capital) คือ ความรักความสามัคคีและความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน  พื้นที่ใด-จังหวัดใดที่มีทุนทางสังคมดีกว่า ชุมชนใดสามารถนำเอาทุนทางสังคมวัฒนธรรมของตนออกมาใช้จัดการวิกฤติของตนได้ก็จะดูแลฟื้นฟูกันไปได้  ส่วนพื้นที่หรือชุมชนใดที่มีทุนทางสังคมน้อย เห็นแก่ตัว ต่อสู้แย่งชิง แตกความสามัคคี ก็คงต้องเผชิญชะตากรรมกันไปแบบรวมหมู่

4) เพื่อตัดการแพร่ระบาดในช่วงวิกฤติ ลดปัญหาความสูญเสียในระดับชุมชนท้องถิ่นของเรา (Micro) ขอให้กลับมาพิจารณามาตรการพื้นฐานที่ง่ายที่สุด คือการแยกห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งที่พูดๆกัน มี 3 ระดับ ได้แก่ 

  1. ปิดประเทศ เป็นเรื่องที่นักการเมือง นักวิชาการในโครงสร้างอำนาจระดับบน เขาเรียกร้องกดดันอยู่ แต่รัฐบาลคงคิดว่ายังไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น
  2. ปิดเมือง ในขณะนี้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลได้มอบอำนาจในเรื่องนี้ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดไปแล้ว เราจึงได้เห็นข่าว กทม. และหลายจังหวัดออกประกาศมาตรการปิดเมืองแบบเฉพาะพื้นที่
  3. ปิดบ้าน เพื่อปกป้องคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวและชุมชนของเรา ในเรื่องนี้เราไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง ไม่ต้องมีใครมอบอำนาจ เพราะเราสามารถปิดบ้าน ปิดที่ทำงาน ปิดโรงงาน ปิดคุ้ม ปิดชุมชน ฯลฯ ของเราได้เอง ด้วยกฎจารีต ประเพณี การบริหารจัดการ และธรรมนูญหรือกติกาของสังคมระดับหน่วยย่อย ซึ่งเกิดขึ้นแบบเป็นไปเองตามธรรมชาติในชีวิตจริงอยู่แล้ว

พลังของชุมชน คือ พลังในการจัดการปัญหาด้วยตนเอง บนฐานของความถูกต้องดีงาม ทุนทางสังคม ทุนทางจารีตประเพณี ทุนทางภูมิปัญญาและทุนทางศีลธรรม

ปิดประเทศ ปิดเมือง ปล่อยให้ผู้มีอำนาจหน้าที่เขาว่ากันไป

ปิดบ้าน ปิดชุมชน เป็นเรื่องของเรา ฟังเสียงหัวใจดูซิครับ.

    นายแพทย์ พลเดช  ปิ่นประทีป

ประธานมูลนิธิพัฒนาประชาสังคม