“ประชาชนมีส่วนร่วม”

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 25 กุมภาพันธ์ 2563

เพราะว่าการมีส่วนร่วมไม่ใช่เป็นเพียง “วาทกรรม” และไม่ใช่แค่ “พิธีกรรม”

มาตรการ “การมีส่วนร่วมของประชาชน” อาจไม่ใช่ตัวยาหลักของกระบวนการพัฒนา  แต่ก็เป็นเสมือน “ยาดำ” ที่แทรกผสานอยู่ในสูตรยาปฏิรูปทุกตำรับ  ขาดไม่ได้เช่นกัน

กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นงานปฏิรูปที่มุ่งเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบและโครงสร้าง หรือจะเป็นแค่งานพัฒนาในสภาวะปกติ  ด้านใดใดก็ล้วนต้องการกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งสิ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมที่ “จริงจังและมีคุณภาพ”

ขณะนี้มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มาจากแผนปฏิรูปประเทศ อย่างน้อย 3 ฉบับ

เป็นที่เข้าใจดีว่า  การมีกฎหมายสนับสนุนสักฉบับจะเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความมั่นคงมากกว่าแผนงาน มติ คำสั่ง หรือระเบียบใด  ในแผนปฏิรูปแต่ละด้านจึงมีข้อเสนอและผลักดันร่างกฎหมายมาให้เป็นประเด็นงานรูปธรรมที่ต้องติดตาม เสนอแนะ

เรื่องแรก  กรณี (ร่าง) พรบ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ พ.ศ. ...

(ร่าง) พรบ. ฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   และเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานด้วย

จุดตั้งต้นมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้จัดทำยกร่าง พรบ. ฉบับนี้เมื่อปี 2558  ต่อมาได้ผ่านกระบวนการเวทีมามากมาย  จนล่าสุดได้เข้าสู่การพิจารณาของครม. ซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อ 4 ธ.ค. 2561 และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

(ร่าง)กฎหมายนี้ มุ่งรับรองสิทธิประชาชนในการรับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการที่จะกระทบต่อชุมชน และสิทธิในการมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นในโครงการพัฒนา ให้หน่วยงานมีหน้าที่สนับสนุน  ถ้าหน่วยงานไม่ทำ ประชาชนก็มีสิทธิร้องต่อคณะกรรมการ ซึ่งมีบทลงโทษ

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว  แม้ว่าจะยังมีความเป็นห่วงอยู่บ้างในเรื่องสถานะและรูปแบบของหน่วยงานเลขานุการที่กำหนดให้เป็นหน่วยราชการภายในสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ด้วยเกรงว่าจะติดการทำงานแบบระบบราชการจนเกินไป  แต่เมื่อกระบวนการได้ก้าวหน้าไปค่อนข้างมากแล้ว จึงมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรเร่งรัดการทำงานของสคก. เพื่อจะได้นำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การทำงานร่วมกันในรัฐสภาโดยเร็ว

เรื่องที่ 2  กรณี (ร่าง) พรบ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบบประชาธิปไตย พ.ศ…

อันนี้เป็น (ร่าง)พรบ.ที่เสนอโดยกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐

มุ่งให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและสำนึกการเป็นพลเมือง มีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ต่อต้านทุจริต ใช้สิทธิทางการเมือง ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง นักการเมืองซื่อสัตย์สุจริต

ให้จัดตั้งสำนักงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีสถานะเป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

จัดให้มีสถาบันการศึกษาทางการเมืองในรัฐสภา สร้างหลักสูตรประชาธิปไตย สร้างวิทยากรหลัก อบรมนักการเมือง ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมใช้สิทธิใช้เสียงและพัฒนาประเทศ

เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว พบว่าในแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองยังขาดความชัดเจนว่า จะให้องค์กรใดรับผิดชอบผลักดันกฎหมายฉบับนี้ กระทรวงใดในฝ่ายบริหาร หรือว่าหน่วยงานใดจากฝ่ายรัฐสภา  

ข้อเสนอคือ  รัฐบาลควรจะได้ประสานกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองทำให้ชัด  ควรระบุเพิ่มเติมด้วยว่า นี่เป็นวัฒนธรรมการเมืองในระบบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

เรื่องที่ 3  กรณี(ร่าง)แก้ไข พรบ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ…

อันที่จริง เรื่องนี้มี พรบ.ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2542  แต่กลไกสนับสนุนตามกฎหมายนี้กำลังประสบปัญหาความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง

– ปี 2542 กำหนดให้สนง.กกต.เป็นกลไกสนับสนุน  

 – ปี 2556 เปลี่ยนมาเป็น 3 หน่วยงาน คือสภาพัฒนาการเมือง(สพม.)  สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) และสนง.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

 -ปี 2559  คำสั่ง คสช.ให้ยุบเลิก สพม.และ คปก.ไปเสียแล้ว จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานสนับสนุนไม่มีหน่วยตั้งงบประมาณไม่มีการทำงาน

นอกจากนั้น ในยุคของรัฐธรรมนูญ 2560  เงื่อนไขการเข้าชื่อเสนอกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงไป  กำหนดจำนวน ๑๐,๐๐๐ คนสำหรับการเสนอ พรบ. ทั่วไป  และ 50,000 คน สำหรับการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายรัฐธรรมนูญ  จึงเป็นที่มาของการต้องแก้ไขเพิ่มเติม พรบ. ฉบับนี้

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย  ระบุหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  จึงอยากให้รัฐบาลประสานกับสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อร่วมกันผลักดัน

เรื่องสุดท้าย  กรณี “คุณภาพและความจริงจังในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน”

เพราะว่าการมีส่วนร่วมไม่ใช่เป็นเพียง “วาทกรรม” และไม่ใช่แค่ “พิธีกรรม”

โชคไม่ดีที่หน่วยงานภาครัฐมักถูกตั้งเป้าหมายตัวชี้วัด และถูกกำกับการทำงานด้วยกรอบเวลาตามปีงบประมาณ  ทำให้ต้องเร่งใช้เงินงบประมาณแบบรีบร้อน  โดยเฉพาะในช่วงปลายปีงบประมาณ  กระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานราชการจึงมักเป็นไปในเชิง “รูปแบบ-พิธีกรรม”  มากกว่าที่จะพิธีพิถันในด้าน “คุณภาพและผลสัมฤทธิ์”

ในแต่ละปี  ประเทศชาติจึงต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับพิธีกรรมเหล่านี้อย่างมากมาย

มีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ว่า  รัฐบาลควรจัดให้มีหน่วยงานหรือสถาบันทางวิชาการที่ทำหน้าที่ในการพัฒนามาตรฐานด้านกระบวนการมีส่วนร่วม  รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการมีส่วนร่วมในรูปแบบใหม่ๆ  จัดฝึกอบรมด้านวิชาการ  

พูดเช่นนี้  มิได้หมายความว่าจะต้องให้ตั้งหน่วยงานใหม่  เพราะเราสามารถมอบหมายภารกิจและงบประมาณให้สถาบันวิชาการที่อยู่ตามภูมิภาค เลือกเอาส่วนที่มีศักยภาพ มอบให้ดูแลรับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานด้านการมีส่วนร่วมของหน่วยราชการกระทรวงต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ตั้งของตนก็ย่อมได้

นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานอิสระของรัฐอีก 2 แห่ง ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้และอยู่ในวิสัยที่จะช่วยรัฐบาล

หน่วยแรก คือ สถาบันพระปกเกล้า  ซึ่งเป็นองค์กรอิสระมหาชน ที่อยู่ในกำกับของประธานรัฐสภา  หน่วยงานนี้เขาเก่งในเรื่องวิจัยและพัฒนา  เรื่องจัดหลักสูตรการฝึกอบรม

ส่วนอีกหน่วยหนึ่ง คือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  เป็นองค์กรอิสระมหาชน ที่อยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี หน่วยงานนี้เก่งในเรื่องเครือข่าย และการขับเคลื่อนสังคม

ลองไปปรึกษาหารือกันดูนะครับ

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com