รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 10) “น้ำท่วม กับปัญหาความยากจน ปี 2562”

พื้นที่ปัญหาน้ำท่วมในรอบปี

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551-2560) พบว่า ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด ปัญหาน้ำท่วมหนักที่มีความรุนแรง คือ พ.ศ. 2554 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 74 จังหวัด 53,380 หมู่บ้าน มีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย 11,798,241 ไร่ มูลค่าความเสียหายสูงถึง 23,839 ล้านบาท

ปี 2560 มีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจำนวน 68 จังหวัด 39,769 หมู่บ้าน มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายแล้ว จำนวน 5,087,352 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,050,281,997 บาท 

ปี 2561 สถานการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เบบินคา” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน  ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่มในพื้นที่ 19 จังหวัด, ปี 2562 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุ  “โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ดินสไลด์ วาตภัย ในพื้นที่ต่าง ๆ รวม 32 จังหวัด

จังหวัดที่มักมีปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ได้แก่ น่าน เชียงราย ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย หนองคาย นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี เลย ศรีสะเกษ สกลนคร บึงกาฬ เพชรบุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว กระบี่ ระนอง และชุมพร 

จังหวัดที่มักมีปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม

ข้อสังเกต-เสนอแนะต่อประเด็นปัญหาน้ำท่วม

น้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากฝนที่ตกในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำมีปริมาณมาก และตกติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเกิด“น้ำไหลบ่า”เหนือผิวดินลงสู่ร่องน้ำลำธารและในแม่น้ำมากกว่าปกติ หากลำน้ำตอนใด ไม่สามารถรับปริมาณน้ำทั้งหมดให้ไหลอยู่เฉพาะภายในตัวลำน้ำได้ ก็จะทำให้น้ำมีระดับท้นสูงกว่าตลิ่ง แล้วไหล “ล้นฝั่ง” บ่าไปท่วมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำ หรืออาจไหลไปท่วมขังตามที่ลุ่มต่ำไกลออกไปเป็นบริเวณกว้างด้วย นอกจากนั้นตามพื้นที่ลุ่ม

และพื้นที่ในเขตชุมชน ซึ่งไม่มีระบบการระบายน้ำที่สมบูรณ์ เมื่อเกิดฝนตกหนักเป็นเวลานานๆ ในแต่ละครั้ง มักเป็นปัญหา ทำให้เกิด “น้ำท่วมขัง” หรือ “น้ำรอระบาย” บนพื้นที่ ซึ่งทำความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูกและทรัพย์สินต่างๆ ได้เสมอ.

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย อยู่ในเขตที่มีลมมรสุมและพายุโซนร้อนเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิค แต่ละปีจะมีหลายๆลูก แต่ส่วนใหญ่ประเทศด่านหน้าที่จะรับแรงกระแทกก่อนเมื่อพายุพัดขึ้นบก คือเวียดนาม ลาว และกัมพูชา กว่าจะเข้ามาถึงประเทศไทยก็มักจะอ่อนกำลังลงกลายเป็นพายุดีเปรสชั่นที่นำเอาฝนมาให้ เช่นเดียวกับพายุไต้ฝุ่นในส่วนที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียก็มักขึ้นฝั่งปะทะกับประเทศพม่าก่อนที่จะอ่อนกำลังกลายเป็นดีเปรสชั่นเมื่อถึงประเทศไทย.

ในสภาพเช่นนี้ ประเทศไทยและคนไทยตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษจึงมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่อยู่กับน้ำมาโดยตลอด น้ำท่วมจึงเป็นสภาวะของฤดูกาล. แต่เนื่องจากการพัฒนาประเทศที่ขาดการวางแผนอย่างรอบคอบ รอบด้านและรอบรู้ จึงทำให้มีการก่อสร้างถนนหนทางและการตั้งถิ่นฐานบ้านเมือง สร้างที่พักอาศัย ขวางเส้นทางน้ำ บุกรุกพื้นที่รับน้ำ จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหา “น้ำท่วมขัง” และ”น้ำรอระบาย”กันในเกือบทุกพื้นที่ ทุกเมือง ปีละหลายๆรอบ.

ดังนั้น ปัญหาน้ำท่วมประเด็นใหญ่จึงไม่ใช่ประเด็นของการจัดการทรัพยากรน้ำ แต่เป็นเรื่องพิบัติภัยธรรมชาติที่ต้องมีระบบเฝ้าระวัง ป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีวิกฤติดินโคลนถล่มเข้ามาร่วมด้วย.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 21 มิถุนายน 2563.