รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 18) “ลดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ปี 2562”

ประเด็นความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสาร

การเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชนในประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งในนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลปัจจุบัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงได้ดำเนินการโครงการเน็ตประชารัฐ มาตั้งแต่ปี 2560 โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงาน กสทช. ในการขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดแคลนบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

ปัจจุบันติดตั้งได้แล้ว 74,965 แห่ง ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน และจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการ หมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็ว 30 Mbps / 10 Mbps (Download/Upload) เพื่อทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการบนอินเทอร์เน็ตได้ทัดเทียมกับคนในเมือง

สำหรับกรณีการใช้มือถือ ไลน์ และเฟสบุ๊คของคนไทย จากผลสำรวจ “Global Digital 2019” ที่อัปเดตสถานการณ์การใช้งานดิจิทัล และอินเทอร์เน็ต ประจำปี 2019 ที่รวบรวมทั่วโลก โดย We Are Social และ Hootsuite มีสถิติน่าสนใจดังนี้

คนไทยใช้มือถือระบบ “Pre-paid” มากกว่า “Post-paid” และมากถึงร้อยละ 74 ทำธุรกรรม Mobile Banking จากจำนวนเลขหมายในประเทศไทย มากกว่า 92 ล้านเลขหมาย (มากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศ) พบว่า ร้อยละ 77 เป็นระบบ Pre-paid และร้อยละ 23 เป็นระบบ Post-paid

การใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนไทย ส่วนใหญ่ใช้แชทสนทนา (ร้อยละ 95) และดูวิดีโอออนไลน์ (ร้อยละ 95) ตามมาด้วยเล่นเกมออนไลน์ (ร้อยละ 85) ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 74ใช้สำหรับทำธุรกรรม Mobile Banking และร้อยละ 80 ใช้เปิดแผนที่เดินทาง

LINE เป็นแอปพลิเคชันที่คนไทยใช้งานมากสุดในปี 2018 ตามมาด้วย Facebook, Facebook Messenger, Instagram และ LAZADA

มีผู้ใช้ LINE อยู่ 44 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 78 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

Facebook Messenger เป็นแอปพลิเคชันที่คนไทยดาวน์โหลดมากสุดในปี 2561 ตามมาด้วย Tiktok, Facebook, LINE และ LAZADA

ประเทศไทยมีผู้ใช้ Facebook ทั้งหมด 45 ล้านบัญชี โดยมีผู้ที่เข้าใช้งานเฟซบุ๊กทุกวันมากถึง 37 ล้านบัญชี ซึ่งร้อยละ 98 ของผู้ใช้งานในไทยต่างเล่นเฟซบุ๊กผ่านสมาร์ทโฟน

ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ

ในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ในมิติของการจัดให้มีบริการสาธารณะพื้นฐาน 

ถือได้ว่ารัฐบาลได้ให้ความเอาใจใส่ในการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ทุกชุมชน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของนโยบาย Thailand 4.0 โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินการโครงการเน็ตประชารัฐ มาตั้งแต่ปี 2560 โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงาน กสทช. ในการขยายโครงข่ายไปยังพื้นที่ห่างไกลที่ยังขาดแคลนบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 

ผลงานความก้าวหน้าในปัจจุบันติดตั้งได้แล้ว 74,965 แห่ง ครอบคลุม 24,700 หมู่บ้าน และจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการ หมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็ว 30 Mbps / 10 Mbps (Download/Upload)

นับเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในชนบทห่างไกล สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการบอินเทอร์เน็ทได้ทัดเทียมกับคนในเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อภาครัฐลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้แล้ว ยังมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพจากภาคเอกชนเข้าไปสานต่อแต่นั่นย่อมหมายถึงไม่ใช่บริการฟรี ราคาถูก หรือคุณภาพแบบบริการรัฐ หากผู้ใช้บริการต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับบริการสาธารณะในรูปแบบของอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมของเอกชน ในราคาที่สมเหตุสมผลโดยรัฐคอยกำกับดูแล

ในแง่ของยุทธศาสตร์เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยมีการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างกว้างขวาง แพร่หลายและหลากหลายรูปแบบเทคโนโลยีแพล็ตฟอร์มจึงควรจะต้องติดตามเป้าหมายและความก้าวหน้าของแผนการปฏิรูปประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล โดยควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังความเหลื่อมล้ำ.

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 16 สิงหาคม 2563