“การมีส่วนร่วมของประชาชน” เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความรู้สึกนึกคิด แสดงออกถึงสิ่งที่เขาต้องการ แสดงออกถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ แนวทางการแก้ไขปัญหา และการลงมือปฏิบัติ

ในสถานการณ์ปัจจุบัน เครือข่ายภาคประชาชนระดับจังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ได้มีการรวมตัวกันในรูปแบบประชาสังคมที่หลากหลายและดำเนินกิจกรรมร่วมกัน เพื่อแสดงความคิดเห็นและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและบริหารราชการให้มีความโปร่งใส สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน ในหลายพื้นที่ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งอย่างมาก
การศึกษาเชิงคุณภาพ ในพื้นที่กรณีศึกษา 10 พื้นที่ กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดน่าน จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเชียงราย จังหวัดตราด และจังหวัดขอนแก่น
ผลการศึกษา พบดังนี้
ภาพรวมของภาคประชาสังคมจังหวัด
การรวมกลุ่มของภาคประชาสังคมจังหวัดในกลุ่มที่ศึกษา เครือข่ายที่มีอายุยาวนานที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เครือข่ายฮักเมืองน่าน จังหวัดน่าน โดยมีอายุกลุ่มเครือข่ายยาวนานที่สุด คือ 30 ปี รองลงมาคือ กลุ่มเครือข่ายคนรักเมืองเพชร จังหวัดเพชรบุรี คือ 24 ปี และ กลุ่มเครือข่ายคนฮักถิ่น จังหวัดอำนาจเจริญที่มีอายุเครือข่าย 18 ปี
รูปแบบการรวมตัวมีจุดเริ่มและพัฒนาการที่มีความหลากหลาย สามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ คือ
- การรวมกลุ่มกันโดยเครือข่ายภาคประชาชน ประกอบด้วย จังหวัดน่าน จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดมหาสารคาม และ จังหวัดเพชรบุรี
- การรวมกลุ่มกันโดยศูนย์การเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดสุพรรณบุรี และ จังหวัดตราด
- การรวมกลุ่มกันโดยเครือข่ายภาคเอกชน คือ จังหวัดขอนแก่น
- การรวมกลุ่มกันโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ จังหวัดภูเก็ต
ปัจจัยความสำเร็จ
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่สามารถทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน คือ “การกำหนดจุดมุ่งหมาย/ประเด็นความสนใจร่วมกัน” และ “การมีบุคคลในพื้นที่ที่มีประสบการณ์หลากหลายมาร่วมมือกันทำงานด้วยความเสียสละ” เป็นปัจจัยร่วมในทุกพื้นที่
สำหรับกรณีของเครือข่ายฮักเมืองน่าน และ กลุ่มเครือข่ายคนฮักถิ่น นั้นยังมีปัจจัยสนับสนุน คือ “การจัดการการทำงานของเครือข่ายให้เป็นระบบ”ซึ่งมีทั้งการจดทะเบียนในรูปแบบของมูลนิธิและการตั้งกองทุนขึ้นมาสนับสนุนการทำงานเป็นการเฉพาะ
ปัจจัย “มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ”เพราะจากกรณีศึกษาจะพบว่าการรวมกลุ่มของประชาสังคมจากการที่มีบุคคลมาทำงานร่วมกันอย่างหลากหลายทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ ดังนั้นความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จึงต้องมีการทำงานในลักษณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนทุกกลุ่มได้มีบทบาทตามความสามารถและความถนัดเพื่อดึงศักยภาพออกมาใช้ในการทำงานร่วมกัน
ปัจจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการทำงาน คือ “การมีเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอ” จากการศึกษาพบว่า เครือข่ายที่ประสบความสำเร็จในการรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเริ่มต้นทุนประเดิมในการทำงาน ในขณะที่หลายเครือข่ายแม้ว่าจะเริ่มต้นการทำงานด้วยใจที่เสียสละและมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่แต่การทำงานในระยะต่อมา ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งปัจจัยนี้เองยังได้ส่งผล ให้เกิดอุปสรรคในการทำงานเพราะขาดงบประมาณที่เพียงพอ
ปัจจัยสนับสนุนที่มีส่วนช่วยให้มีความเข้มแข็ง คือ “การเริ่มต้นการทำงานอย่างเป็นวิชาการกับหน่วยวิชาการในพื้นที่” ดังกรณีของกลุ่มคนรักเมืองเพชร ที่มีจุดเริ่มต้นจากการทำวิจัยร่วมกับอาจารย์และคณะนักวิจัยท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และ กรณีสภาฮักแพงเบิ่งแงง คนมหาสารคาม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ปัญหาอุปสรรคต่อการรวมกลุ่ม
ปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่มและการความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ประกอบด้วย
- การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างกลุ่มเครือข่ายที่มาทำงานร่วมกัน
- การขาดงบประมาณที่เพียงพอ
- ขาดบุคคลากรเข้ามาสานต่อการทำงานในพื้นที่ให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะต้องออกไปทำงานต่างถิ่น
- ประชาชนในพื้นที่ขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับบทบาทการมีส่วนร่วมของตนเองในสถานะของความเป็นพลเมือง
- การคุกคามของฝ่ายที่เสียประโยชน์จากการรวมกลุ่มในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของภาคประชาสังคม
- ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ ขาดการปฏิบัติและการตอบสนองของหน่วยราชการในเรื่องของการมีส่วนร่วม
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 30 พ.ย. 2563