รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 90) “ พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ”

ในขณะที่กระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามความหมายของ สหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมาย SDG 17 คาดหวังว่าภาคประชาสังคมและกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกๆเรื่อง

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรในภาคธุรกิจ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร ซึ่งมักมีโอกาสส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกและกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของประเทศและในภูมิภาค  ขณะที่ตัวแทนจากองค์กรภาคประชาสังคมยังไม่มีโอกาสเข้าเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในลักษณะเช่นนั้น

สาเหตุนั้น เนื่องมาจากองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลายเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ภารกิจ แนวคิดทฤษฎี อุดมการณ์ความเชื่อ ตลอดจนบุคลิกภาพและแนวทางการทำงาน

เครือข่ายภาคประชาสังคม 139 องค์กร จาก 77 จังหวัด จึงได้ประกาศจัดตั้งกลไกสนับสนุนและบริหารจัดการให้เกิดเอกภาพในนามของ “ สภาประชาสังคมไทย ” ให้ทำหน้าที่ประสานงานและเป็นตัวแทน ขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งในด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 เครือข่ายสภาประชาสังคมทั่วประเทศได้รวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 14,600 รายชื่อ เสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พ.ศ. …. ต่อประธานรัฐสภา

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย มีดังนี้ 

วิกฤติความขัดแย้งทางสังคมที่ยืดเยื้อเรือรัง อันมีสาเหตุมาจากความเห็นทางการเมืองและแนวทางการบริหารบ้านเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการพัฒนา ขาดความรักสามัคคี ความสงบสุขร่มเย็น และมีเสียงเรียงร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองอย่างเร่งด่วน

เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสำนึกความเป็นพลเมือง มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ให้ประชาชนและชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะ 

ร่วมมือกันในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  มีส่วนร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ร่วมการตัดสินใจทางการเมืองและกิจกรรมทางการเมือง  ยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน ใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระปราศจากการครอบงำ เสริมสร้างให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

ให้การขับเคลื่อนการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองฯ เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องให้การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร

ให้มี “คณะกรรมการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย” จำนวน 18 คน ประธานรัฐสภาเป็นประธานกรรมการ และรองประธานรัฐสภาเป็นรองประธานกรรมการ

ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดตั้ง สำนักเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ”  เป็นส่วนราชการภายใน เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับภารกิจของคณะกรรมการและการขับเคลื่อนตามแผนแม่บท

ให้มีสถาบันการศึกษาทางการเมืองในรัฐสภาเพื่อเป็นศูนย์การศึกษา ฝึกอบรม ให้ความรู้แก่สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ข้าราชการรัฐสภาสามัญ บุคคลในวงงานรัฐสภา บุคลากรในหน่วยงานของรัฐหน่วยงานเอกชน สถานศึกษา และองค์กรอื่น ๆ รวมทั้งประชาชนทั่วไป

ให้สถาบันพระปกเกล้าทำหน้าที่สนับสนุนงานของรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนแผนแม่บทเพื่อสร้างนักการเมืองที่ดี

ให้คณะกรรมการร่วมกับ กสทช. กรมประชาสัมพันธ์ สำนักสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมวลชนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนแม่บทด้านการประชาสัมพันธ์

จัดตั้ง “ กองทุนเพื่อการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานของสำนักเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองฯ และการขับเคลื่อนแผนแม่บทตามพระราชบัญญัตินี้ โดยโอนเงินและทรัพย์สินมาจากกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551

บัดนี้รอเพียงฝ่ายรัฐบาลส่งร่างกฎหมายเข้ามาประกบเพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของรัฐสภาเท่านั้น.

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 90) “ พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ”

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 6 ก.ย. 2564