รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 45) “วิเคราะห์ สภาเด็กและเยาวชน”

วิเคราะห์สภาเด็กและเยาวชน ปี 2563

จากการพิจารณาศึกษาสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน มีข้อค้นพบที่สำคัญ ดังนี้

สภาเด็กและเยาวชน (สดย.) เป็นกลไกการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยผ่านกระบวนการทำกิจกรรมเพื่อสังคม เสริมสร้างสำนึกสาธารณะและค่านิยมการเป็นอาสาสมัคร เป็นประเด็นเรื่องสิทธิของเด็กที่ต้องได้รับการพัฒนา (child right) ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่ควรต้องตระหนักและดำเนินการควบคู่กันไป คือ การปกป้องคุ้มครองเด็กจากการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าจากฝ่ายใด (child protection)

เด็กและเยาวชนทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะได้รับการศึกษาเรียนรู้ ในเจตนารมณ์และความหมายความสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีความรอบรู้และเท่าทันการเมืองระบบตัวแทน รวมทั้งมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกที่จะเชื่อถือแนวคิด ทัศนคติ อุดมการณ์หรือสนับสนุนนโยบายของพรรคการเมืองแบบใดก็ได้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหน่วยงาน องค์กรและภาคีที่เกี่ยวข้องควรต้องมีหลักการร่วมกันเช่นนี้ในการส่งเสริมเด็กและเยาวชน

เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาด้านจิตสำนึก-วิธีคิดเพื่อบ้านเมือง ภาวะผู้นำ ทักษะกระบวนการ และการบริหารจัดการเครือข่าย ฯลฯ

กลไกสภาเด็กและเยาวชนในระดับอำเภอ จำนวน ๘๗๘ แห่ง กับ สภาเด็กและเยาวชนระดับเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๕๐ แห่ง รวมทั้งสิ้น ๙๒๘ แห่ง ถือเป็นกลไกสำคัญประเภทหนึ่งสำหรับการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากมีกฎหมายรองรับ มีโครงสร้างที่ชัดเจนในทุกระดับทั่วประเทศและมีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเป็นระบบ จึงควรมีการจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลสภาเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุมและเป็นปัจจุบัน ทั้งในระดับองค์กร ผู้นำเครือข่ายและมวลสมาชิก ตลอดจนองค์กรภาคีที่ร่วมสนับสนุน

การพัฒนาเด็กและเยาวชนควรยึดแนวนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ครบถ้วนสำหรับโลกในศตวรรษที่ ๒๑ กล่าวคือ เน้นการพัฒนาให้มีทักษะในการดำรงอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และควรมีการปรับเปลี่ยน Mindset หรือการ “ปรับฐานความคิดความเข้าใจ” พัฒนาจิตอาสาเพื่อท้องถิ่น พัฒนาชุมชนของตน และ Mindset ที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างองค์กรหรือเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 21 ธ.ค. 2563