“ ตามรอยอารยธรรมทวารวดี ” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 140)

ทวารวดี

ทวารวดี เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลงมาจากคำว่า โตโลโปตี้ (Tolopoti)

“ ตามรอยอารยธรรมทวารวดี” รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 140)

เป็นชื่อของอาณาจักรที่ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรศรีเกษตรและอาณาจักรอิศานปุระตามบันทึกของภิกษุชาวจีนคนส่วนใหญ่เป็นชาวมอญ หลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบมากมาย แต่เดิมไม่สามารถจัดกลุ่มได้ว่าเป็นของขอม–เขมรหรือของไทย แต่มีลักษณะคล้ายกับศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ – หลังคุปตะ 

ในปี 2496  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่กำหนดเรียกชื่อดินแดนที่เมืองโบราณเหล่านี้ตั้งอยู่ รวมทั้งงานศิลปกรรมที่พบว่า “ทวารวดี”  โดยใช้เหตุผลของตำแหน่งที่ตั้งอาณาจักรและอายุตามบันทึกของจีน กับอายุของงานศิลปกรรมที่ตรงกัน อาณาจักรทวารวดีจึงกลายเป็นอาณาจักรแรกในดินแดนไทย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 16

ในยุคกระโน้น ขอบเขตชายทะเลอยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดิน นักวิชาการประวัติศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า เมืองนครปฐมโบราณน่าจะเป็นเมืองท่าศูนย์กลางหรือเมืองหลวงของอาณาจักร  แต่บางท่านเชื่อว่าเป็นที่อำเภออู่ทอง หรือ ที่ลพบุรีมากกว่า  ปัจจุบันร่องรอยเมืองโบราณ รวมทั้งศิลปะโบราณ วัตถุสถานและจารึกต่าง ๆ ในสมัยทวารวดีพบเพิ่มขึ้นอีกมากมาย กระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย โดยไม่มีหลักฐานของการแผ่อำนาจทางการเมืองจากจุดศูนย์กลางเฉกเช่นรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักรทั่วไป  

ประกอบกับการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศพบเมืองโบราณจากยุคสมัยนี้ถึง 63 เมืองด้วยกัน เมืองโบราณแทบทุกแห่งจะมีลักษณะของการต่อเนื่องทางวัฒนธรรมจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาการขึ้นมาสู่ช่วงสมัยทวารวดีเมื่อมีการติดต่อกับอารยธรรมอินเดีย

ดังนั้นทฤษฎีความเชื่อเรื่องรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักรและเมืองศูนย์กลางจึงเปลี่ยนไป สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลักษณะของเมืองก่อนรัฐ (Proto-State) ในรูปของเมืองเบ็ดเสร็จหรือเมืองที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ในตัวเองทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความเชื่อศาสนา เมืองใหญ่เหล่านี้แต่ละเมืองจะมีอิสระต่อกัน และเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กัน ติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมจากอินเดีย โดยเฉพาะทางด้านศาสนาพุทธแบบหินยาน รวมทั้งภาษาและรูปแบบศิลปกรรมแบบเดียวกัน

เมืองเหล่านี้ ได้พัฒนาขยายตัวจากสังคมครอบครัวและสังคมหมู่บ้าน มาเป็นสังคมเมืองที่มีชุมชนเล็ก ๆ ล้อมรอบ มีหัวหน้าปกครอง มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่อเมืองหรือรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่ความสัมพันธ์โดยการเมือง แต่โดยการค้า ศาสนา และความเหมือนกันทางวัฒนธรรม

ชาวทวารวดีมีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีอันก้าวหน้าจากการจัดระบบชลประทานทั้งภายในและภายนอกเมือง มีการขุดคลอง สระน้ำ การทำคันบังคับน้ำหรือทำนบ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังในสมัยลพบุรีและสมัยอาณาจักรสุโขทัย 

ด้านการคมนาคม มีการสัญจรทั้งทางน้ำและทางบก นอกเหนือจากการติดต่อกับชาวเรือที่เดินทางค้าขายแล้ว ยังปรากฏร่องรอยของคันดินซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นถนนเชื่อมระหว่างเมือง นอกจากนี้หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรือประติมากรรมล้วนแล้วแต่แสดงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และศิลปกรรม เช่น เทคนิคตัดศิลาแลง การสกัดหิน การทำประติมากรรม การหล่อสำริด การหลอมแก้ว

จากสภาพทางภูมิศาสตร์ ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองแต่ละเมืองสามารถติดต่อถึงกันได้สะดวกทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเฉพาะเมืองในที่ราบภาคกลาง มักตั้งใกล้ชายฝั่งทะเลเดิม มีร่องรอยทางน้ำติดต่อกับเมืองในภูมิภาคภายในและยังมีทางน้ำเข้าออกกับฝั่งทะเลโดยตรง สะดวกต่อการติดต่อภายในกันเองและติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวอินเดีย

วัฒนธรรมทวารวดีเริ่มเสื่อมลงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณจากกัมพูชา ที่มีคติความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรมที่แตกต่างออกไปเข้ามาแทนที่

วัดมหาธาตุวรวิหาร 

บางทีเรียกว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ วัดหน้าพระธาตุ  เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่บนถนนเขางู ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง สันนิษฐานกันว่า น่าจะสร้างในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 หรือประมาณยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรเขมร

ต่อมามีการสร้างปราสาทศิลปะเขมรซ้อนทับเข้าไปราวพุทธศตวรรษที่ 18 เพื่อสร้างที่นี่ให้เป็นศูนย์กลางของเมือง ตามความเชื่อในเรื่องคติจักรวาลของเขมร แต่ภายหลังเมื่อปราสาทที่สร้างพังทลายลง จึงมีการสร้างปรางค์ใหม่อีกครั้งในสมัยต้นอยุธยา หรือราวพุทธศตวรรษที่ 20-21     

ปัจจุบันภายในวัดมหาธาตุวรวิหารแห่งนี้จึงมีทั้งวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระมงคลบุรี  พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ที่มีพระพักตร์สุโขทัย พระองค์ยาวพระชาณุสั้น (ตัวยาวเข่าสั้น) หันหน้าสู่ทิศตะวันออก และมีการสร้างพระหันหลังให้กันอีกองค์หนึ่ง หันหน้าสู่ทิศตะวันตก อันเป็นการอาราธนาให้ช่วยระวังภัยพิบัติทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เรียกว่าพระรักษาเมือง อันนี้เป็นไปตามความเชื่อของคนสมัยอยุธยา 

นอกจากนั้นยังมีพระปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงสูง 12 วา มีจิตรกรรมฝาผนังที่พระปรางค์ และเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย รวมไปถึง วิหารราย แท่นถือน้ำสาบาน กำแพงแก้ว มณฑป เป็นต้น ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ที่นั่นมีแสดงประวัติศาสตร์และโบราณคดีของราชบุรีเรียงลำดับตามยุคสมัย ตั้งแต่ราชบุรีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ราชบุรีในวัฒนธรรมทวารวดีราชบุรีในวัฒนธรรมเขมรราชบุรีในสมัยสุโขทัย – ธนบุรี  และราชบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์.

โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป, 22 ส.ค. 2565