เล่านะ เล่าเน้ง กับงานสงเคราะห์ชาวเขายุคใหม่

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 39/2566)

คณะทำงานของกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้รับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนจากพี่น้องชาวม้งอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์

มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย กำลังถูกไล่ออกจากพื้นที่เช่าอยู่อาศัยและทำกิน เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวบูมและเจ้าของที่ดินประสงค์จะใช้ทำกิจการ

เมื่อครั้งสงครามคอมมิวนิสต์ เขาค้อเคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อสามจังหวัด คือ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ การสู้รบและปฏิบัติการทางทหารที่นั่นเป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรงและต่อเนื่องร่วมยี่สิบปี กองทัพภาคที่ 3 จึงได้รับมอบหมายพื้นที่ให้ดูแลเป็นวงกว้าง ประมาณ 3 แสนไร่ มีการอพยพประชาชน ย้ายถิ่นฐานกันตามยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี โดยมีคำมั่นสัญญาว่าเมื่อเสร็จศึกจะจัดสรรที่ดินทำกินให้  

ปัจจุบันสงครามสงบมาร่วม 40 ปีแล้ว เส้นทางยุทธศาสตร์ที่เคยใช้ในการสู้รบของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้รับการพัฒนาเป็นถนนหนทางที่สะดวกสบาย  และด้วยความสวยงามของพื้นที่ ภูมิอากาศที่เย็นสบายตลอดปีของเขาค้อ ชุมชนชาวม้งดั้งเดิมและกลุ่มที่อพยพเข้ามาจากทางไกลอีก 2-3 ระลอก จากสงครามชายแดนในระยะหลัง รวมทั้งชาวบ้านชาวเมืองจากภายนอกต่างแห่เข้าไปจับจองที่ดินทำกิน อยู่อาศัย และประกอบกิจการ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีชื่อเสียงระดับต้นของประเทศ และเกิดเป็นชุมชนใหม่ๆขึ้นมากมาย 

ปัญหามีอยู่ว่า ยังมีหมู่บ้านชาวม้งดั้งเดิม ที่ไม่ใช่ม้งแดง ม้งขาว และม้งอพยพ อย่างน้อย 3 แห่งที่เคยถูกอพยพทางยุทธวิธีในครั้งกระโน้น คือ หมู่บ้านเล่านะ หมู่บ้านเล่าเน้ง และหมู่บ้านเล่าลือ  แต่มีเพียงชุมชนบ้านเล่าลือเท่านั้นที่ได้รับการดูแล จัดให้อยู่ในที่ใหม่ ใกล้กับชาติพันธุ์มูเซอร์บ้านเพชรดำ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทผลิตไฟฟ้าเข้าไปติดตั้งโรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังลม โดยเช่าที่ชาวบ้านติดตั้งกังหันขนาดยักษ์เป็นทิวแถว จนกลายแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เศรษฐกิจดี  ส่วนบ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง รวม 150 ครอบครัว กลับถูกทอดทิ้งให้ต้องดิ้นรนหาที่เช่าเพื่ออยู่อาศัยและรับจ้างทำงานกับชาวบ้านด้วยกันในละแวกนั้น

ต่อมา เมื่อครบระยะ 30 ปีของการใช้งาน ทางกองทัพฯ ได้คืนพื้นที่ให้แก่กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯรับไปดูแลตามเดิมแล้ว คงทิ้งไว้ในสภาพเทือกเขาหัวโล้นที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา กับความสลับซับซ้อนในการจัดการปัญหาความขัดแย้งของชุมชนและกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวที่บุกรุกพื้นที่ป่าตามกฎหมายใหม่ๆ

ทีมงานจากอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้รับทราบจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯเป็นผู้ดูแล แต่ก็มีประชาชน นายทุน และหน่วยราชการไปตั้งรกรากเป็นชุมชนสังคม อยู่กันมาช้านานโดยไม่มีเอกสารหรือกรรมสิทธิ์รับรองใดๆ  

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติ ครม. เมื่อ 14 มีนาคม 2566 ให้กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ดำเนินการเพิกถอนสภาพป่าในส่วนที่อยู่ตามแนวถนนสายหลักที่พาดผ่านพื้นที่เป็นระยะความกว้าง 1 กิโลเมตรทั้งสองฟากทาง และมอบให้กรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแลในการให้ประชาชนเช่าทำประโยชน์ตามระเบียบของทางราชการต่อไป

ในเรื่องนี้ คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานทั้ง 3 กรมและรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์มาให้ข้อมูลความคืบหน้าและหารือเรื่องแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว  ซึ่งทางกรมป่าไม้และกรมอุทยานแจ้งว่าขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด และถ้าหากจะดำเนินการ คงต้องใช้เวลาทำงานตามขั้นตอนไม่ต่ำกว่า 6 -12 เดือน ความหวังของชาวบ้านที่เดือดร้อนจึงดูเลือนลาง!

อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์แจ้งว่ามีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับอัตราค่าเช่าที่เป็นมาตรฐานทั่วไปอยู่แล้ว ทางจังหวัดจึงเปิดให้พี่น้องชาวม้งผู้เดือดร้อนมาจดแจ้งความจำนงขอเช่าที่กรมธนารักษ์เอาไว้ก่อน ซึ่งบัดนี้ผู้เดือดร้อนได้ไปลงทะเบียนไว้แล้ว  

ดังนั้นเพื่อหาทางบรรเทาทุกข์ชาวบ้าน อนุกรรมาธิการฯ จึงได้ลงพื้นที่ พบกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง และ อบต. ลงดูสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงของพี่น้องชาวม้งกลุ่มผู้ร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566  พบข้อเท็จจริงและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางประการ ดังนี้

1) บ้านอาศัยเป็นกะต๊อบชั่วคราว 

กลุ่มชาวม้งผู้เดือดร้อนทั้ง 150 ครอบครัว มีสถานภาพเป็นผู้เช่าที่ดินจากเพื่อนบ้านในชุมชน ลักษณะของบ้านที่อยู่อาศัยมีสภาพเป็นกะต็อบชั่วคราว ทำด้วยวัสดุไม้ใผ่ ขาดความมั่นคงและคุณภาพชีวิต

2) เล่านะ เล่าเน้ง ชนชาติส่วนน้อยที่ถูกทอดทิ้ง

ชาวม้งเป็นชนชาติส่วนน้อย ถือเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคม อีกทั้งชุมชนบ้านเล่านะ บ้านเล่าเน้ง ยังมีประวัติศาสตร์ร่วมกับทางราชการในการแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ และเป็นกลุ่มที่กำลังตกอยู่ในสภาพที่ถูกทอดทิ้ง จึงควรที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะต้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือตามภารกิจของกระทรวง

3) งานสงเคราะห์ชาวเขายุคใหม่

ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม.ในครั้งที่เป็นยังกรมประชาสงเคราะห์ ได้รับมอบหมายจากกรมป่าไม้ ให้ใช้พื้นที่ตามโครงการศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา จำนวนประมาณ 47,000 ไร่  และยังมิได้มีการส่งคืนกรมป่าไม้แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อปี 2533 พม. ยังได้แบ่งพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 600 ไร่เพื่อใช้ทำศูนย์วิจัยเกษตรพื้นที่สูง ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเหมือนถูกทิ้งร้าง

4) ยกระดับเป็นศูนย์วิจัยส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขา

คณะทำงานจึงมีข้อเสนอให้กระทรวง พม. โดยกรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ทำการศึกษาความเหมาะสมในการดูแลปัญหาชุมชนชาวไทยภูเขาท้องถิ่น และพัฒนายกระดับเป็นศูนย์วิจัยส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาในระยะยาวต่อไป.

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 23 ตุลาคม 2566