การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 3)

การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 3)

: วิสัยทัศน์ด้านการเมือง การปกครอง ใน 20 ปีข้างหน้า :

พลเดช  ปิ่นประทีป/ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เขียนให้โพสต์ทูเดย์  วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2557

 

การปฏิวัติสยาม 2475

     การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475  เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมีผลทำให้ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นราชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญ  และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา  เกิดขึ้นจากคณะนายทหารและพลเรือนที่ประกอบกัน เรียกตนเองว่า “คณะราษฎร” โดยเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์โลก  ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองภายในประเทศ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก

     ในระยะห้าปีแรกของการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ มีหลายเหตุกาณณ์เกิดขึ้น อันมีผลไปสู่ความคลอนแคลนของรัฐบาล    เหตุการณ์สำคัญเรื่องหนึ่งคือ  กรณีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี  พนมยงค์ เมื่อปี 2476  ซึ่งได้ยกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติจากนโยบายข้อสามของคณะราษฎร  แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่ามีลักษณะแนวทางแบบสังคมนิยม  ทำให้เกิดการแตกแยกกันในรัฐบาลรุนแรง  จนถึงขั้นมีการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา  ส่วนนายปรีดี ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

    หลังจากนั้นเป็นยุคที่คณะทหารและกองทัพได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองการปกครองของประเทศ  โดยการรัฐประหารยึดอำนาจและปกครองโดยราชการ จึงได้รับสมญาว่า “ยุคอมาตยธิปไตย”  ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวมีการรัฐประหารแย่งยื้ออำนาจการปกครองกันไปมาหลายครั้งโดยประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 ถามคนไทยในวาระสำคัญ

     “14 ตุลา” เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองยุคใหม่ของไทยที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะเป็นการลุกฮือของนักศึกษา ประชาชน เป็นจำนวนแสนๆ คนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร  อาจถือได้ว่าการลุกฮือดังกล่าวเป็นการเปิดประวัติศาสตร์บทใหม่ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

     เหตุการณ์ดังกล่าวได้ผ่านมาแล้ว 41 ปีแล้ว  สิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของนักเรียน  นิสิต นักศึกษา และประชาชนในยุคนั้น คือ  อยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นธรรมและอยากมีระบบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย  สิ่งดังกล่าวได้จุดประกายความหวังให้กับสังคมไทยขยายตัวออกไป  ที่สำคัญยังได้สร้างอุดมการณ์เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมและจิตอาสาให้เกิดขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวและผู้คนในยุคนั้นอย่างกว้างขวาง  จนสามารถสืบสาน ประคับประคองและดูแลประเทศ ตลอดจนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในมิติและวงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

     สำหรับการปฏิวัติสยามนั้นเล่า 82 ปีของการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  สังคมไทยได้ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองการปกครองและการพัฒนาประเทศมาแล้วอย่างโชกโชน  ในวันนี้กระแสความตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองและประชาชนคนไทยได้ขยายตัวไปมากกว่ายุค 14 ตุลามาก ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

     การอภิวัฒน์ประเทศไทยอันเป็นอุดมการณ์และความใฝ่ฝันที่ยิ่งใหญ่ของผู้นำการเปลี่ยนแปลงยุคนั้น  ได้ขับเคลื่อนเดินทางไกลและผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านรอยยิ้มและคราบน้ำตา  ผ่านความขัดแย้ง  และการต่อสู้จนเสียเลือดเนื้อและชีวิต  มาแล้วมากมายหลายเหตุการณ์

     คำถามคือ ในตอนนั้น แทนที่จะเลือกเป็นระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ทำไมคณะผู้ก่อการปฏิวัติสยามจึงได้ตัดสินใจเลือกระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและมุ่งมั่นเดินทางนั้นมาตั้งแต่ต้น และเมื่อมองไปในอนาคต  ระบอบการปกครองของเราจะยังดำรงอยู่ด้วยความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองเหมือนระบอบของอังกฤษที่มีอายุ 600 ปี และระบอบของเดนมาร์กที่มีอายุ 165 ปีในปัจจุบันหรือไม่

     คำถามที่มีต่อคนไทยในวันนี้ก็คือ จากนี้ไปอีกประมาณ 20 ปี เมื่อครอบวาระ 100 ปีของการปฏิวัติสยาม ประเทศไทยของเราจะเดินไปสู่สถานีที่เป็นจุดหมายปลายทางใด  และความใฝ่ฝันอันงดงามที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงริเริ่มและบุกเบิกไว้เมื่อ 80 ปี ก่อน เราจะสามารถส่งต่อให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลายได้ในสภาพเช่นไร

ปัญหาด้านการเมืองการปกครอง

  • ระบบราชการที่ใหญ่โตมากและพยายามรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ได้เปิดโอกาสให้นักธุรกิจการเมืองสามารถเข้ายึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จได้อย่างง่ายดาย   นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นที่มโหฬาร  พร้อมกับการทำลายระบบคุณธรรมจริยธรรมของข้าราชการแทบหมดสิ้น เป็นผลให้ระบบราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอ่อนแอ และเหนื่อยล้าลงทั้งระบบ เกียรติภูมิข้าราชการในสายตาของประชาชนเสื่อมถอยลงอย่างมากและรวดเร็ว  ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็แก้ให้ประชาชนไม่ได้ เพราะอยู่ห่างไกลและไม่รู้จริง  จะโยนให้ทอ้งถิ่นช่วยก็ไม่ได้ให้อำนาจและทรัพยากรแก่เขาอย่างเพียงพอ  ส่วนปัญหาใหญ่ ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง จนทำท่าว่าจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว
  • ระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือระบบเลือกตั้งตัวแทนเป็นใหญ่ ได้นำมาซึ่งการเติบโตของนักธุรกิจการเมืองและทุนนิยมสามานย์ที่ผนึกกำลังกันเข้ายึดกุมอนำาจรัฐแบบกินรวบเบ็ดเสร็จ  และดำเนินการโกงบ้านกินเมืองกันอย่างครึกโครมด้วยความย่ามใจขึ้นเรื่อยๆ  จนทำให้ประชาชนพลเมืองเกิดทนไม่ไหว จึงลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ชั่วรร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า ระหว่างปี 2551-2557  มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรง 8 ครั้ง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจการเมอืง แบบพลิกกลับกันไปมาอยู่หลายรอบ  สถิติคดีของศาลยุติธรรม พบว่าจำนวนคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงดังกล่าว คือในปี 2555 มี 83 คดี ส่วนปี 2556 มีเพิ่มขึ้นเป็น 233 คดี

วิสัยทัศน์ด้านการเมืองการปกครอง

  • วิสัยทัศน์ใน 20 ปี ข้างหน้า คือ ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการปฏิรูประบบการเมืองการปกครองครั้งใหญ่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน  สามารถปรับเปลี่ยนบทบาทและอำนาจหน้าที่จนเกิดความสมดุลระหว่างระบบราชการส่วนกลางและท้องถิ่น  มีจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นพิเศษขนาดใหญ่ที่สามารถจัดการตนเองได้มากขึ้น อย่างน้อยร้อยละ 50

     ระบบการเมืองระดับชาติเกิดความลงตัวในมิติใหม่ โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและระบบตรวจสอบถ่วงดุลทั้งระบบ อย่างมีประสิทธิภาพ  จนเกิดเสถียรภาพและวัฒนธรรมการเมืองที่อาระยะและโดดเด่นเป็นกรณีศึกษาสำหรับกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน

Be the first to comment on "การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 3)"

Leave a comment

Your email address will not be published.