หยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉินเถอะครับ…เพื่อดับไฟใต้

หยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉินเถอะครับ…เพื่อดับไฟใต้

           เผลอแผล็บเดียว ไฟใต้รอบนี้ได้ล่วงผ่านมาครบแปดปีแล้ว  นับเป็นแปดปีที่เต็มไปด้วยเสียงปืนเสียงระเบิดและเรื่องที่เจ็บปวดน่าขมขื่น   

แม้เครือข่ายนักพัฒนาและสื่อมวลชนฝ่ายสร้างสรรค์จะพยายามค้นหาเรื่องดีๆ ในพื้นที่ออกมาเผยแพร่บ้างเพื่อมิให้สังคมภายนอกรับรู้แต่สถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงด้านเดียว  แต่บรรยากาศและความเป็นจริงนั้นปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันเป็นภาวะสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับกลุ่มขบวนการ ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านมากขึ้นเรื่อย จนสุดที่องคาพยพของสังคมท้องถิ่นจะทนทานต่อไปแล้ว

เมื่อไฟใต้เริ่มขึ้นได้ราวปีเศษ วันที่ ๑๙ กรกฎาคมรัฐบาลคุณทักษิณได้ประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นครั้งแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้   จากนั้นทุกรัฐบาลต่อมาก็มีมติคณะรัฐมนตรีให้ต่ออายุกันเรื่อยมาทุกรอบ ๓ เดือน จนบัดนี้ผ่านมา ๗ รัฐบาล ๖ นายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดใช้ได้เมื่อไร

ผมไม่ได้เป็นทหารตำรวจ แต่ก็พอเข้าใจได้ถึงความจำเป็นทางวิชาชีพ ว่าในบางครั้งบางสถานการณ์ผู้ปฏิบัติการก็ต้องการเครื่องมือพิเศษมาช่วยในการแก้ปัญหาของประชาชนส่วนรวม   การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินย่อมหมายถึงการริดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางส่วนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเป็นการชั่วคราว เพื่อแลกกับความสะดวกและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ (ด้านความมั่นคง) ของเจ้าหน้าที่รัฐ  การตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้  จะหยุดหรือจะต่อ พ.ร.ก. ก็ล้วนมีต้นทุนที่สังคมประเทศชาติต้องจ่ายทั้งสิ้น

ผมนึกถึงภาพคนไข้ฉุกเฉินมาเป็นกรณีเปรียบเทียบ  การตัดสินใจส่งผู้ที่เรารักสักคนเข้าห้องผ่าตัดหรือห้องไอซียูตามที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์นั้นคงไม่มีใครว่า ญาติพี่น้องสามารถทำใจได้และไม่มีทางเลือกอื่น  นอกจากอดทนรอคอยด้วยความหวังว่าอีกไม่นานเขาผู้นั้นจะได้กลับออกมาแบบตัวเป็นๆ  แต่หากวันเวลาผ่านไปอย่างเนินนานโดยที่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร จะตายหรือจะรอด บรรดาญาติพี่น้องคงไม่มีใครเซ็นต์เช็คเปล่าให้คุณหมอไปตลอด   แรงกดดันจึงวกมาที่แพทย์เจ้าของไข้อย่างไม่มีทางเลี่ยง   แม้หมอจะบอกว่าเอาอยู่และขอเวลาอีกหน่อย  ญาติก็คงไม่ฟังและขอให้หยุดรักษาเพื่อเอากลับไปดูแลกันเองที่บ้านจะดีกว่า  ความหมดหวังหมดศรัทธาในวิธีที่ทำอยู่ แบบนี้ ครั้นจะไปตำหนิชาวบ้านโดยที่ไม่สำรวจตนเองและไม่ยอมปรับเปลี่ยนแนวทางบ้างเลยคงไม่ได้

ต้องยอมรับกันว่า การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้นั้นส่งผลกระทบเชิงมหภาพต่อประชาชนหลายแสนคน  ที่เดือดร้อนโดยตรงก็นับหมื่น  ตัวเลขจาก กอ.รมน. ส่วนหน้าให้ข้อมูลว่า ในรอบ ๗ ปีเศษได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัย (หมาย ฉฉ.)ไปแล้วรวม ๓,๔๓๔ หมาย จับกุมได้ ๓,๓๘๐ ราย  แต่ละรายล้วนมีญาติพี่น้องที่กระทบด้วยอีกนับสิบ   จำนวนหมายมากที่สุดในปี ๒๕๕๑ และเวลานี้ลดลงมากแล้วเพราะออกเฉพาะกรณีสำคัญจริงๆ เท่านั้น   ทางฝ่ายทนายมุสลิมเขาวิจัยพบว่าคดีเหล่านี้เมื่อขึ้นสู่ศาลมักขาดหลักฐาน จึงมีอัตรายกฟ้องสูงมากถึงร้อยละ ๗๒    แต่ทางตำรวจโต้แย้งว่าเหตุปัจจัยที่ยกฟ้องนั้นยังมีเรื่องพยานกลับคำให้การ ไม่ยอมไปศาล และที่พยานหลบหนีไปก็มีมาก  ทั้งยังให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ มีคดีความมั่นคงที่ศาลพิพากษาแล้ว ๒๖๒ คดี  เป็นการลงโทษรวม ๑๔๓ คดี (คิดเป็นร้อยละ ๕๔.๕)  ในจำนวนนี้เป็นโทษประหารชีวิต ๒๑ คดี ๒๑คน  โทษจำคุกตลอดชีวิต ๔๐คดี ๕๖ คน และโทษจำคุกไม่เกิน ๕๐ ปีอีก ๘๕ คดี ๑๖๙ คนครับ

จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อปี ๒๕๕๒ ชี้ว่า จากหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์นั้น เอาเข้าจริงการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินไม่สามารถลดระดับความรุนแรงได้แบบทันทีทันใด เพราะในระยะ ๒ ปีแรกเกือบไม่มีผลแตกต่าง   ส่วนเหตุการณ์รุนแรงที่จำนวนลดลงในภายหลังจากนั้นก็ไม่น่าเป็นผลจากนโยบายและกฎหมายดังกล่าว  แต่เกิดจากการดำเนินยุทธวิธีทางการทหารที่ใช้การปิดล้อม ตรวจค้นและใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่ควบคู่กันมาเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นการขอให้เลิกใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น  แม้ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเรียกร้องต้องการ  ก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่อยากให้คงไว้  ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้  กลุ่มทหาร ตำรวจ  ข้าราชการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน ผู้นำศาสนา (โดยรวม) และประชาชนคนพุทธ (ร้อยละ ๘๐) อยากให้คงไว้   ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากให้เลิกใช้คือกลุ่มผู้ถูกหมาย ฉฉ.  ผู้รับการเยียวยา กลุ่มเยาวชน  เอ็นจีโอ  ผู้นำศาสนาอิสลาม และประชาชนคนมุสลิม (ร้อยละ๕๗)   แต่สำหรับกลุ่มอัยการและผู้พิพากษานั้น บอกว่าอะไรก็ได้  ขออย่าใช้กฎหมายพิเศษหลายฉบับจนเวียนหัวก็แล้วกัน

เมื่อเวลาผ่านมาเนินนานถึงแปดปี สถานการณ์ความรุนแรงยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน  จำนวนคนเจ็บคนตายสะสมเพิ่มขึ้นไปเรื่อย  ผู้รับผลกระทบทางตรงจากเหตุการณ์และจากมาตรการทางนโยบายขยายวงออกไปตลอดเวลา  กระแสเรียกร้องจากภาคประชาชนให้รัฐบาลหยุดใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินและปรับเปลี่ยนแนวทางดับไฟใต้อย่างจริงจังเสียที จึงดังขึ้นอีกเป็นธรรมดา

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งเป็นกลไกประสานงานกลางของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่มีถิ่นฐานที่ตั้งและปฏิบัติภารกิจแบบถาวรอยู่ในพื้นที่  พวกเขาได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือกันอย่างเคร่งเครียดหลายรอบ  จนในที่สุดมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ฝ่ายความมั่นคงใช้มานานนั้น บัดนี้ได้กลายเป็นเงื่อนไขสงครามมากกว่าที่จะเป็นปัจจัยแก้ปัญหา จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเลิกใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเสียที  โดยเฉพาะหน้าเสนอให้ร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคมแบบไตรภาคี ทำการประเมินพื้นที่ระดับอำเภอสัก ๑ ใน ๕ เพื่อนำร่องยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.และบุกเบิกสร้างบรรยากาศสันติสมานฉันท์อย่างจริงจัง

ระยะยาวเขาขอให้รัฐบาลประกาศโรดแม็ปที่จะใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงแทน พ.ร.ก. ฉุกเฉินให้ได้ภายในปี ๒๕๕๕  ในระหว่างนี้พวกเขาขอให้ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ทหาร)  ศูนย์พิทักษ์สันติ (ตำรวจ) และศูนย์สันติสุข (ศอ.บต.) ช่วยกันทำหน้าฝึกอบรมผู้กลับใจ ผู้หลงผิด ผู้มอบตัว ฯลฯ อย่างเต็มที่เพื่อปรับสถานภาพเข้าสู่ปกติ  นอกจากนั้นยังต้องช่วยกันสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรม พัฒนาบุคลากรด้านตำรวจ  อัยการและศาลเพื่อรองรับ  อบรมเจ้าหน้าที่ด้านงานการเมืองนำการทหาร และดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด (กฎหมายและวินัย) ให้เป็นเยี่ยงอย่าง   ซึ่งทั้งหมดนี้ภาคประชาสังคมเขายินดีให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

คงต้องฝากรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์และผู้มีอำนาจสูงสุดช่วยพิจารณาครับ

 

 

พลเดช  ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "หยุด พ.ร.ก. ฉุกเฉินเถอะครับ…เพื่อดับไฟใต้"

Leave a comment

Your email address will not be published.