หลีกเลี่ยงการแตกหัก?

หลีกเลี่ยงการแตกหัก?

พลเดช ปิ่นประทีป/เขียนให้โพสต์ทูเดย์ พุธที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗

           ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คราวนี้ บ้านเมืองเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าหวั่นวิตก สับสนและยังไม่มีใครกล้าทำนายว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะคลี่คลายอย่างไร ยกเว้นเกจิอาจารย์ที่เป็นหมอดู

รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำใจยุบสภาไปแล้ว แต่ยังคงยืนหยัดในหลักการที่จะต้องเป็นรัฐบาลรักษาการและกึ่งดูแลกึ่งบีบบังคับให้ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ให้ได้ ไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น เข้าใจว่าทีมยุทธศาสตร์คงกลัวจะเข้าทางฝ่ายตรงข้ามที่หมายจะบีบให้รัฐบาลลาออกซ้ำเพื่อให้เกิดสภาพสูญญากาศทางอำนาจ

ข้างฝ่าย กปปส. และมวลมหาประชาชนที่นำโดยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ชูประเด็นการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ประกาศเดินหน้าการปฏิวัติประชาชนแบบสันติอหิงสา ไม่ใช้ความรุนแรง ปราศจากอาวุธ โดยจะกดดันด้วยการปิดกรุงเทพฯ ให้เป็นอัมพาต มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลนอมินี ขจัดระบอบทักษิณที่ผูกขาดอำนาจ แก้ปัญหาทุจริตคดโกงชาติและทำการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

เมื่อดูท่าว่าสองฝ่ายจะไม่สามารถพูดกันได้แล้ว เพราะรัฐบาลยังคงยืนกรานตลอดเวลาและ กปปส. ก็ยืนยันโดยไม่มีการต่อรอง กลุ่มองค์กรและสถาบันทางสังคมจึงต่างพากันออกมาแสดงจุดยืน แสดงบทบาท ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกห่วงใยและเสนอทางออกทางเลือกที่ให้ทั้งสองฝ่ายได้มีทางลง มีที่ยืนและไม่มีใครต้องเสียหน้ามากเกินไป องค์กรแล้วองค์กรเล่า แต่ก็คำแถลงเหล่านั้นกลับแทบไม่มีความหมายเลยแม้แต่น้อย

เมื่อฝูงชนชุมนุมนานวันเข้า กองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับคำสั่งให้มารักษาความสงบเรียบร้อยยิ่งเกิดความตึงเครียด มีการปะทะกับผู้ชุมนุมบ่อยครั้งขึ้น นอกจากนั้นหลายเหตุการณ์ยังถูกสื่อจับได้ว่ามีกลุ่มชายชุดดำและกองกำลังรับจ้างต่างชาติถูกใช้ให้เข้ามาผสมโรงอีกด้วย ความเสี่ยงที่เหตุการณ์จะเกิดบานปลายไปสู่การจราจลยังคงมีแนวโน้มอยู่ตลอดเวลา กระแสข่าวลือในช่วงสิ้นปีคงทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าบ้านเมืองอาจจะหนีไม่พ้นการรัฐประหารและกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้ง

โดยส่วนตัวผมไม่อยากเห็นการรัฐประหารและการแตกหักในบ้านเมืองอีกเลย แต่ถ้ามันจะเกิดก็คงช่วยอะไรใครไม่ได้ ขอเอาใจช่วยให้ไปแต่ในทางที่ดี

ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้หวังดีใดๆ (Fighting) ถึงที่สุดแล้วมักไม่สามารถ

แก้ปัญหาสังคมและประชาชนส่วนใหญ่ได้ เพราะการต่อสู้โค่นล้มกันนั้นล้วนต้องใช้ความเกลียดชังและอารมณ์ที่รุนแรงเป็นเครื่องนำพา เมื่อโค่นล้มกันลงไปแล้วงานแก้ปัญหาประชาชนที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่านั้นรออยู่ข้างหน้า ยิ่งกว่านั้นในการต่อสู้ที่มิได้มีผู้ใดชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่มีผู้ใดที่พ่ายแพ้อย่างศิโรราบสิ้นเชิง ก็คงหนีไม่พ้นที่จะนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่เก็บกดและรอวันประทุครั้งใหม่

ตรงข้ามกับการพัฒนา (Development) ที่มีธรรมชาติอันแตกต่าง ด้วยงานพัฒนานั้นตั้งอยู่บนฐานของความรักในเพื่อนมนุษย์และการใช้องค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการพัฒนาในเชิงปฏิรูปที่ต้องใส่ใจลงลึกไปถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ระบบและกลไกที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ โดยมิได้ใช้การบังคับ

ผมเคยพูดผ่านสื่อด้วยความห่วงใยฝากไปถึงคุณยิ่งลักษณ์หลายครั้ง ซึ่งแกก็คงไม่ได้ยินหรอก ผมอยากให้คุณยิ่งลักษณ์รับรู้ความจริงของสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริงว่า ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากมายมหาศาลขึ้นเรื่อยๆ ที่โกรธแค้นเกลียดชังรัฐบาลและวงศ์ตระกูลของคุณ ขืนดื้อดึงไปอย่างนี้นานวันเข้าจะรักษาอะไรเอาไว้ไม่ได้เลย แม้แต่ครอบครัวและธุรกิจของวงศ์ตระกูล การถอยเพื่อรักษาชีวิตและฐานทุนที่มีอยู่ ยังจะมีโอกาสได้กลับมากอบกู้ชื่อเสียงได้ในภายหลัง

ในเวลาเดียวกัน ผมก็สื่อสารไปยังคุณสุเทพด้วยว่า การยึดแนวทางสันติวิธีอย่างเคร่งครัดเป็นเหตุผลสำคัญที่สังคมให้การสนับสนุนฝ่าย กปปส. แต่ก็ต้องยึดหลัก “มีเหตุผล ได้ประโยชน์และรู้ประมาณ” ควบคู่ไปด้วย โดยต้องระวังอย่าลุกไล่จนฝ่ายตรงข้ามจนตรอกหรือพาตัวเองพลัดตกไปอยู่ในวงล้อมโดยประมาท แต่แกก็คงไม่ได้ยินเช่นกัน

ข้อมูลความเคลื่อนไหวจากเครือข่ายทางภาคอิสานบางส่วนเพิ่งแจ้งมาว่า เวลานี้มวลชนซีกรัฐบาลเขาก็ไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์เหมือนกัน บางส่วนมีการเตรียมต่อสู้แบบใต้ดินกันแล้ว งานสมานแผ่นดินต่อแต่นี้ไปนับวันยิ่งยากลำบาก ในขณะที่แกนนำเสื้อแดงบางส่วนที่นั่นก็สะท้อนว่าเขาก็อยากเห็นใครมากวาดล้างตระกูลชินออกไปจากการเมืองไทยเสียที เพราะที่ผ่านมา “โกงกินบ้านเมืองมากเกินไปแล้ว

ในสภาวะที่บ้านเมืองแตกแยกกันทางความคิด-ความเชื่ออย่างรุนแรง และโครงสร้างทางสังคมกำลังอยู่ในสภาพ “รวนทั้งระบบ” อย่างขณะนี้ ผมอยากเห็นองค์กรและสถาบันทางสังคมที่มีศักยภาพและมีสถานภาพจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (Mediator) ในการเชื่อมโยงให้ทั้งสองขั้วขัดแย้งได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การพูดคุยเจรจากัน เพราะแค่การออกแถลงการณ์ของแต่ละองค์กรคงไม่เพียงพอ ครั้นจะดำเนินการโดยปัจเจกบุคคลหรือองค์กรใดเพียงลำพังนั้นทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

ผมจึงนึกถึงกลุ่มองค์กรและสถาบันทางสังคมที่กำลังมีบทบาท “สร้างพื้นที่กลาง” อยู่ในขณะนี้ อยากให้ตั้งวงพูดคุยหารือกันถึงความเป็นไปได้และความเหมาะในการร่วมกันทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมสองฝั่งเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง อย่างเช่น ภาคีธุรกิจ ๗ องค์กร ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและกองทัพไทย (หรือจะมอบวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรก็ได้)

หากเห็นว่าวิธีนี้อาจพอจะช่วยให้บ้านเมืองมีทางออก สามารถหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองได้ และเปิดโอกาสให้กับแก้ปัญหาความขัดแย้งที่หมักหมมของประเทศและนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปได้ ก็คงต้องพยายามช่วยกัน

ใครคิดได้ก่อนก็เป็นผู้เริ่มเขี่ยลูกเลยนะครับ ส่วนความสำเร็จยังอีกยาวไกลและเป็นเรื่องของฟ้าดิน อย่าไปคิดอะไรมาก

Be the first to comment on "หลีกเลี่ยงการแตกหัก?"

Leave a comment

Your email address will not be published.