คุยกับเลขาธิการ (8) “ พลังจิตอาสา กับประเด็นสาธารณะ”

เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐  ณ ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติของเรา  สามองค์กรสุขภาพตระกูล ส. คือ สช. สวรส.และสรพ. ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “เป็นองค์กรร่วมต่อต้านทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล”  นับเป็นอีกจังหวะก้าวหนึ่งที่ผมอยากให้ภาคีเครือข่ายคอยติดตามความเคลื่อนไหวและเข้าร่วมขบวนกันตามอัธยาศัย เพื่อเสริมสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน  สังคมเข้มแข็งและสังคมคุณธรรมไปพร้อมๆกัน

ในรอบเดือนที่ผ่านมา จากการเดินสายยกขบวนไปเยี่ยมคารวะและปรึกษาหารือกับท่านปลัดกระทรวงต่างๆ ทำให้ทีมบริหารของสช. ได้มีโอกาสเรียนรู้ รับฟังเสียงสะท้อนและรับข้อเสนอแนะที่มีคุณค่า อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนากระบวนการทำงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ(4PW) สู่ยุคใหม่

มีเสียงสะท้อนหนึ่งบอกเราว่า สมัชชาสุขภาพระดับชาติที่จัดปีละครั้งนั้นมีประเด็นที่ยิบย่อยมากไปหน่อย จนทำให้ขาดโอกาสในการร่วมกันโฟกัสเรื่องใหญ่ๆที่ต้องอาศัยการผนึกกำลังกันแบบข้ามกระทรวง ในขณะเดียวกันก็มีเสียงสนับสนุนให้ใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดในการขับเคลื่อนและจัดการปัญหาสาธารณะในพื้นที่ของตนแบบครบวงจร โดยไม่ต้องรอเข้าคิวบรรจุวาระที่สมัชชาส่วนกลาง

นอกจากนั้น หลายกระทรวงยังให้ความสนใจที่จะนำเครื่องมือสมัชชาสุขภาพเชิงประเด็น ไปปรับประยุกต์ใช้เพื่อการหาทางออกทางเลือกที่สร้างสรรค์ใหม่ๆสำหรับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้รับผลกระทบจากนโยบายสาธารณะที่เป็นระเบียบวาระสำคัญของชาติและนโยบายของรัฐบาล เช่น ปัญหาระบบจัดการขยะแบบยั่งยืน ปัญหาการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจร ปัญหาสัมปทานเหมืองแร่ หรือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้ คือเรื่องระบบงานอาสาสมัคร ซึ่งทุกกระทรวงต่างมีอาสาสมัครภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนภารกิจเฉพาะของหน่วยงาน เริ่มจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นต้นแบบ มีอสม.ปฏิบัติงานร่วมล้านคน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็มีอพม.  กรมป่าไม้มีราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า(รสทป.)  กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีทสม.  กระทรวงมหาดไทยมีอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม งานจิตอาสาที่เกิดขึ้นและมีพัฒนาการเรื่อยมาในประเทศไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักมีลักษณะ เป็น“งานจิตอาสาเชิงประเด็น” ซึ่งเป็นไปเพื่อรับใช้ภารกิจขององค์กรแม่ข่าย คือกระทรวง หรือหน่วยงานส่วนกลาง จึงทำให้ในพื้นที่ทุกจังหวัด อำเภอและตำบลหมู่บ้านทั่วประเทศ เต็มไปด้วยอาสาสมัครในชื่อต่างๆ อันสังกัดองค์กรแม่ข่ายส่วนกลางที่มีระบบสั่งการหรือนโยบายลงมาในแนวดิ่ง แต่ละคนมีเสื้ออาสาสมัครคนละหลายๆสีหลายสังกัดไว้ใช้สลับกัน

เพื่อเปิดโอกาสให้จังหวัด อำเภอและชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง โดยสามารถกำหนดตนเองและจัดการตนเองได้มากขึ้น สช.จึงมีความสนใจที่จะริเริ่มบุกเบิกงานจิตอาสาในกรอบแนวคิดใหม่ กล่าวคือ เป็นงานอาสาสมัครโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน หรือ“งานจิตอาสาเชิงพื้นที่” ซึ่งมิได้มีการสร้างใหม่ แต่เป็นการถักทอ เชื่อมร้อยอาสาสมัครเพื่อสังคมทุกประเภทในพื้นจังหวัดและอำเภอ ให้เข้ามาทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายอย่างบูรณาการ โดยมีโจทย์ปัญหาสาธารณะของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง

ทุกสังคมย่อมมีองค์ประกอบของประชากรที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มประชากรที่แข็งแรงและกลุ่มประชากรที่ยากลำบาก สังคมสุขภาวะอันเป็นเป้าหมายปลายทางของกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของเรา จึงควรเป็นสังคมที่มีค่านิยมของการให้ การเสียสละ การช่วยเหลือเกื้อกูลและเอื้ออาทรกัน เป็นค่านิยมแบบจิตอาสา ซึ่งผู้ที่แข็งแรงกว่ายื่นมือไปช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอและยากลำบาก เพื่อให้พวกเขาผ่านพ้นความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพสู่ความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ในระยะยาว

สังคมสุขภาวะ หมายถึงสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  ซึ่งมักประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญอย่างน้อย ๓ ประการ ได้แก่ เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสังคมที่เข้มแข็ง และเป็นสังคมคุณธรรม

สช.เล็งเห็นว่า งานจิตอาสาในแนวทางการรวมพลังทุกภาคีเครือข่ายแบบที่เรียกว่า “เป็นประชา-รัฐ” เพื่อช่วยเหลือผู้ยากลำบากในชุมชนท้องถิ่น หรือการลงมือสร้างระบบเฝ้าระวังและจัดการปัญหาพิบัติภัยชุมชนด้วยตนเอง จะเป็นรูปธรรมที่ดีที่สุดประการหนึ่งในการเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย ๔.๐  เพราะสามารถสะท้อนคุณลักษณะของสังคมทั้งสามอย่างได้

และเพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนกระบวนการทำงานจิตอาสา การช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในภาวะยากลำบากและสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในระยะยาว  บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเลยนะครับ.

 

พลเดช  ปิ่นประทีป

9 กุมภาพันธ์ 2560

Credit Photo Designed by rawpixel.com / Freepik