“สู่ทศวรรษที่สอง” | คุยกับเลขาธิการ

ในเวทีวิชาการ 10 ปี พรบ. สุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2560 มีภาคีเครือข่ายสุขภาพจากทั่วประเทศและสื่อมวลชนมาร่วมงานกันอย่างอบอุ่นคึกคัก จนแน่นห้องประชุมสถาบันจุฬาภรณ์ ทำให้เวทีเกิดพลังแห่งความหวังและจินตนาการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า

ผมต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่กรุณามาร่วมให้ความคิดมุมมองที่ทรงคุณค่าและแสดงความยินดี ให้กำลังใจกับพวกเราชาว สช. สุชน คนใฝ่ดี

เมื่อตอนผมมารับไม้ต่อมือจากคุณหมออำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคนแรก สช. ได้สร้างสรรค์บุกเบิกงานและวางระบบพื้นฐานมาจนครบทุกด้านแล้ว งานของผมในปีที่ผ่านมาก็คือการเก็บรวบรวมงานของทศวรรษแรกและจัดทำให้สมบูรณ์เรียบร้อย และเตรียมความพร้อมที่จะนำพาองค์กรก้าวทะยานไปในทศวรรษที่สอง

องค์ปาฐกและวิทยากรทุกท่านที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในวันนั้น ต่างมองเห็นตรงกันในคุณค่าความสำเร็จของการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยจากอดีต อันทำให้ประเทศไทยล้ำหน้าประเทศเพื่อนบ้านและเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการสาธารณสุข เรื่องงานสาธารณสุขมูลฐาน งานส่งเสริมสุขภาพ งานปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้ชี้ให้เห็นปัญหาที่ยังคงคาราคาซังและตกมาอยู่ในมือคนรุ่นเรา โดยจะยังคงท้าทายต่อความสามารถในการจัดการของสังคมและภาคีเครือข่ายสุขภาพไปตลอดทศวรรษหน้า นั่นคือ ปัญหาประชาชนยังเจ็บป่วยกันมากจนล้นโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์พยาบาลโรงบาลรัฐทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยมาก ทำให้คุณภาพบริการไม่ดี มีเรื่องฟ้องร้องกัน โรงพยาบาลรัฐได้รับงบประมาณไม่เพียงพอและมีปัญหาประสิทธิภาพด้านบริหารจัดการ

เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่ปัญหาว่าจะแก้ไขปรับปรุง พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่  หรือจะ บูรณาการสามกองทุนเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำอย่างไร  แต่มันยังรวมไปถึงประเด็นที่ใหญ่กว่า คือทำอย่างไรประชาชนจึงจะสร้างเสริมสุขภาพและเจ็บป่วยกันน้อยลง ในส่วนที่ป่วยก็สามารถดูแลการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆได้ด้วยตัวเองหรือด้วยระบบพยาบาลชุมชนหรือสถานบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน เพื่อลดภาระความแออัดที่ไม่จำเป็นของโรงพยาบาลใหญ่

ในฐานะที่ สช. เป็นกลไกสนับสนุนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม และ เป็นองค์กรหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนสังคมเพื่อการปฏิรูปประเทศมาโดยตลอด จึงน่าจะมีประเด็นงานที่ควรทำเพิ่มเติมตามข้อเสนอของท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี อย่างน้อยใน 3 ลักษณะ

Drive

เพื่อแก้ปัญหาคนป่วยกันมากจนล้นโรงพยาบาลรัฐให้ได้ภายใน 10 ปี องค์กร ส. ทั้ง 7 คือ กสธ. สปสช. สสส. สพฉ. สวรส. สรพ. และ สช. ต้องรวมพลังกันขับเคลื่อนขบวนการ”สร้างนำซ่อม”อย่างจริงจัง ทั้งปรับเปลี่ยนวิธีคิด จิตสำนึกของสังคมไทย องค์กรและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งปรับระบบบริการ งบประมาณและกลไกการทำงานให้เอื้อ จัดให้มีระบบสุขภาพชุมชน พยาบาลชุมชน บริการปฐมภูมิอย่างทั่วถึง ให้มีบริการใกล้บ้านใกล้ใจ ให้คนไทยมีหมอพยาบาลประดุจญาติประจำทุกครอบครัว

Develop

เพื่อนำจุดแข็งและศักยภาพของภาคเอกชนมาช่วยแก้ปัญหาคุณภาพและความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุขสำหรับคนไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ความงามและความมีสุขภาพดีสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ สช. จึงควรเปิดประเด็นพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยเรื่องบทบาทและการส่งเสริมสนับสนุนโรงพยาบาลเอกชนว่าควรจะเป็นอย่างไร โดยเชิญกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันขบคิดและกำหนดรายละเอียดในการขับเคลื่อนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งประเด็นนโยบายว่าด้วยแรงงานอพยพต่างชาติและการช่วยพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านตามที่ท่านอาจารย์ผู้ใหญ่ได้เสนอไว้

Support

ในกระแสการปฏิรูปประเทศที่กำลังขึ้นสูง อันเนื่องมาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ พรบ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560  องค์กรอิสระตระกูล ส. โดยเฉพาะ สช. สสส. สปสช. และสวรส. น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะร่วมกันจัดตั้งหน่วยสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทย ทำหน้าที่เชื่อมโยงเสริมสร้างกลไกทางสมองของประเทศ และเป็นหน่วยสัมฤทธิศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆให้บังเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม.

พลเดช  ปิ่นประทีป, ในวันมหิดล  24 กันยายน 2560.

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป