คุยกับเลขาธิการ (15) ” ประภาคาร ในคืนฟ้าคะนอง”

ผลจากการทำงานหนักของพนักงานและผู้บริหารทุกคนในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางตามแผนงานหลักฉบับที่ 3 ของ สช. สามารถทำระยะทางมาได้ค่อนข้างไก

จากเป้าหมายของแผนฯที่กำหนดว่า ภายใน 5 ปี ต้องมีนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเกิดขึ้น 500 เรื่อง และในจำนวนนี้ ร้อยละ 25 จะต้องแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

เพียงเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ของปีแรก สช.ก็มีผลงานในเชิงปริมาณที่เกี่ยวข้องมาเทียบเคียงได้แล้ว ดังนี้ 1)มีผลงานเชิงข้อเสนอนโยบายใหม่ๆเกิดขึ้น 546 เรื่อง 2)มีผลงานนโยบายสาธารณะที่ประกาศใหม่ 154 เรื่อง 3)มีผลงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของเดิมอย่างต่อเนื่อง 824 เรื่อง 4)มีการประเมินความก้าวหน้าของกระบวนการนโยบายสาธารณะ(เบื้องต้น) 715 เรื่อง

โดยเฉพาะสมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งเป็นกลไกและกระบวนการบูรณาการสำคัญในระดับพื้นที่ ได้มีมติสมัชชาสุขภาพที่ถือเป็นนโยบายสาธารณะเกิดขึ้นแล้ว จำนวน 318 เรื่อง หรือเฉลี่ย 5.5 เรื่องต่อจังหวัด โดยในจำนวนนี้ คณะทำงานที่รับผิดชอบของจังหวัดเหล่านั้น ได้ประเมินสถานะเบื้องต้นพบว่ามีความคืบหน้าและสามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นที่พอใจ 118 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 37.1

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนภารกิจของสช.และภาคีเครือข่ายในปีที่สอง จะยังคงเดินไปข้างหน้าตามเจตนารมณ์และทิศทางของแผนงานหลักฉบับที่ 3 อยู่เช่นเดิม แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองยังมีภาวะเสี่ยงและผันผวนอยู่ในทุกวงการ รวมทั้งเกิดกระแสความพยายามในการปฏิรูปประเทศ ที่เคลื่อนเข้าสู่วงรอบที่ 4

วงรอบที่ 1 การปฏิรูปประเทศไทยเริ่มต้นในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและคำสั่งนายกรัฐมนตรี ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) ตั้งศ.นพ.ประเวศ วะสีเป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.)และให้สช.ทำหน้าที่ดูแลสำนักงานปฏิรูป(สปร.) ใช้เวลาทำงานอยู่ 3 ปี ระหว่าง 2553-2556

วงรอบที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อมีการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในปี 2557 และมีการแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จำนวน 250 คนขึ้นมาดำเนินการศึกษาและพิจารณาร่วมกัน จนได้เป็นข้อเสนอแผนการปฏิรูปวาระพิเศษ 15 เรื่อง วาระปฏิรูป 37 เรื่อง วาระพัฒนา 8 เรื่องและวาระการปฏิรูปเร็ว 1 ชุด

วงรอบที่ 3 เมื่อสปช.สิ้นสุดไปภายหลังจากการโหวตไม่ผ่าน(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับกมธ.ในปี 2558 คสช. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) จำนวน 200 คนขึ้นมาทำงานต่อเนื่อง จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญใหม่และมีพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น สปท.จึงหมดวาระลงพร้อมกับมีข้อเสนอรายงานการปฏิรูปรวมทั้งสิ้น 164 เรื่อง คือจากคณะกรรมาธิการ 13 ด้าน 157 เรื่อง และคณะกรรมการ 5 ชุด 7 เรื่อง

บัดนี้ เข้าสู่วงรอบที่ 4  ผลข้างหน้าจะเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่ในรอบนี้จะมีกลไก 4 อย่าง ที่มาทำหน้าที่ ประกอบด้วย 1)คณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ 11 คณะ 2)คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 3)รัฐบาล 4)รัฐสภา  ซึ่งทั้ง 4 ส่วนจะดำเนินงานปฏิรูปประเทศโดยประสานและถ่วงดุลกันและกัน

เป็นที่น่าสังเกตุว่า ท่ามกลางขบวนปฏิรูปประเทศที่ส่งทอดกันในทุกวงรอบที่กล่าวข้างต้  สช.ยังคงมีบทบาทที่โดดเด่น ด้วยบุคลากรในภาคีเครือข่าย กระบวนการและเครื่องมือการมีส่วนร่วม ที่เป็นอัตลักษณ์และจุดแข็งของเรา

เป็นที่น่ายินดีว่า ครูบาอาจารย์และผู้หลักผู้ใหญ่ของสช.ตั้งแต่อดีต ได้ช่วยกันวางตำแหน่งแห่งที่ขององค์กรไว้ในชัยภูมิที่เหมาะสม  สช. จึงมีความมั่นคงปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่ปั่นป่วนผันผวนตลอดมา

มาถึงคำถามว่า บทบาทของ สช.ในช่วงเวลาเช่นนี้ ควรเป็นเช่นไร

ผมคิดว่า นอกจากงานประจำตามภารกิจหลักขององค์กรแล้ว สช.ยังต้องมีบทบาทเป็นฐานที่มั่นสนับสนุนขบวนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านปฏิรูปสังคม-ปฏิรูปสุขภาพ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาประเทศด้วยการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะขึ้นมาจากฐานล่าง

นอกจากนั้น สช. ยังต้องทำหน้าที่เป็นประภาคาร ที่คอยส่องแสงไฟ ให้ระมัดระวังกองหินโสโครกและบอกทิศทาง ท่ามกลางพายุฝนฟ้าคะนองในค่ำคืนอันมืดมิด. 

พลเดช ปิ่นประทีป

1 กันยายน 2560