[ข้อมูลพื้นที่ประสบอุทกภัย] บ้านหนองบัว หมู่ที่ 5 ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน

1. บริบทชุมชน

            บ้านหนองบัว  หมู่ที่ 5 เป็นหนึ่งใน 7 หมู่บ้านของตำบลป่าคา อยู่ในความปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าคา สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ

มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ผู้คนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา และปลูกพืชไร่อายุสั้นในช่วงฤดูแล้ง จำพวก ข้าวโพด ยาสูบ พริก มีการเลี้ยงวัวเนื้อและวัวนมเล็กน้อย ผู้คนสืบเชื้อสายไทยลื้อจากแคว้านสิบสองปันนา มณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ชุมชนแห่งนี้ยังได้รับการสนับสนุนให้กลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ด้วยเอกลักษณ์ทางด้านศิลปกรรมของอาคารจิตรกรรมฝาผนังแบบไทลื้อที่วัดหนองบัว ผ้าทอลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยังคงสืบทอด มีที่พักแบบโฮมสเตย์พร้อมบริการ รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสาหร่ายน้ำจืด ที่ชุมชนเรียกว่า “ไก”

2. อาณาเขต

ทิศเหนือ            ติดต่อ บ้านท่าค้ำ หมู่ที่ 1 ตำบลริม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

ทิศใต้                ติดต่อ บ้านดอนแก้ว หมู่ที่ 6 ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

ทิศตะวันออก      ติดต่อ  แม่น้ำน่าน

ทิศตะวันตก        ติดต่อ บ้านสบขุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

3. จำนวนประชากร และจำนวนครัวเรือน

บ้านหนองบัว มีประชากรราว 700  คน   ประมาณ  250  ครัวเรือน

4. สถานที่สำคัญ

1) วัดหนองบัว

2) ศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP

3) โรงเรียนหนองบัว

4) โรงเรียนหนองบัวพิทยาคม

5) อนุสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองล้า

6) หนองบัวใหญ่

7) ป่าสุสาน

5. ผังวาดชุมชนแสดงพื้นที่น้ำท่วม/ดินโคลนถล่ม

6. เส้นทางน้ำ

            เส้นทางการไหลของน้ำที่ไหลเข้าท่วมหมู่บ้านหนองบัว ประกอบด้วย 3 ทางหลัก คือ 

เส้นทางที่ 1 ร่องหนองหลง เป็นร่องน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างสระหนองหลง และแม่น้ำน่าน เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านสูงจะไหลเข้าสู่ร่องน้ำหนองหลง และเอ่อท่วมพื้นที่ทุ่งนาทั้งสองข้างร่องน้ำ ไหลล้นข้ามถนนทางหลวงชนบทท่าค้ำ-หนองบัว เข้าไปยังเขตชุมชนที่อยู่อาศัยใกล้กับร่องน้ำ สำหรับหนองหลงยังเป็นที่รับน้ำจากแม่น้ำริมเมื่อมีปริมาณมากจะทำให้น้ำไหลมาสมทบเพิ่มผ่านร่องหนองหลงเช่นกัน

เส้นทางที่ 2 ห้วยร่องแหย่ง เป็นห้วยที่มีขนาดยาวไหลผ่านกลางหมู่บ้าน เชื่อมต่อกับแม่น้ำน่าน และหนองบัวใหญ่ หากน้ำน่านสูงน้ำจะไหลเข้ามาตามลำห้วยผ่านโรงเรียนหนองบัว ต่อมายังชุมชนทั้งสองฝั่งของลำห้วย น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมกระจายไปทั้งชุมชนที่อยู่อาศัย ห้วยร่องแหย่งยังเป็นสายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำริม หากมีน้ำปริมาณมากจะไหลมาสมทบเข้าท่วมหมู่บ้านเช่นกัน

เส้นทางที่ 3 ร่องน้ำกิโน เป็นร่องน้ำที่ทอดยาวจากบ้านดอนแก้วบริเวณริมฝั่งน้ำน่าน ไปสุดยังหนองบัวใหญ่ในเขตพื้นที่บ้านหนองบัว ร่องน้ำนี้จึงรับน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าท่วมพื้นที่บ้านดอนแก้ว และไหลเอ่อล้นตามร่องน้ำมายังเขตบ้านหนองบัวเข้าท่วมชุมชน และพื้นที่เกษตร

7. พื้นที่เสี่ยง 

            พื้นที่ที่น้ำท่วม 2549 และ 2554  (หนักที่สุดในปี 2549) น้ำท่วมกระจายทั้งพื้นที่ของหมู่บ้าน ระดับความสูงในปี 2549 สูงสุด 3 เมตร และปี 2554 สูงสุด 1 เมตร  จุดที่น้ำท่วมหลักคือบ้าน 4 หลัง ติดกับห้วยร่องแหย่ง ใกล้กับสะพานข้ามห้วย เนื่องจากเป็นบ้านดั้งเดิมปลูกสร้างบนพื้นที่ต่ำกว่าถนน รวมทั้งกลุ่มบ้านที่ติดกับห้วยร่องแหย่งบริเวณสะพาน เขตพื้นที่ใกล้กับตลาดสดประชารัฐ เนื่องจากอยู่ใกล้ลำห้วย และเป็นพื้นที่ต่ำ

8. ผลกระทบ

            ในปี 2549 น้ำท่วมครอบคลุมทั้งหมู่บ้าน และมีตัดไฟฟ้าในชุมชนเมื่อระดับน้ำที่สูงเข้าท่วมบริเวณชั้นล่างของบ้าน จึงต้องอาศัยในบริเวณชั้นสอง ชาวบ้านจำนวนกว่า 200 คน ต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิงที่โรงเรียนหนองบัวพิทยาคมซึ่งเป็นพื้นที่สูง  น้ำท่วมเกิดในช่วงเดือนสิงหาคม ตรงกับฤดูกาลเพาะปลูกข้าว ต้นข้าวกำลังเจริญเติบโต และยืนต้นตายเนื่องจากจมน้ำอยู่ราว 3-4 วัน  (ในระยะข้าวยังไม่ตั้งท้อง)  แม้ถนนในหมู่บ้านไม่เสียหายจากกระแสน้ำ แต่ระดับน้ำที่สูงไม่สามารถสัญจรเข้าออกหมู่บ้านได้ 

9. การจัดการภัย

  • ก่อนภัย  ชุมชนติดตามข่าวจากสถานีวิทยุลำไยเรดิโอ  การสอบถามสถานการณ์จากญาติในพื้นที่ต้นน้ำ การประกาศแจ้งเตือนจากผู้นำชุมชนผ่านทางหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน รวมทั้งการสังเกตปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำในชุมชน  จากนั้นเริ่มเก็บสิ่งของไว้บนที่สูง  เตรียมสิ่งของจำเป็น  ได้แก่ อาหารแห้ง เทียน ฯลฯ
  • ระหว่างเกิดภัย มีอาหารกล่อง และถุงยังชีพ จาก อบต. และหน่วยงานต่าง ๆ โดยชาวบ้านที่นี่โดยมากจะมีเรือไว้สำหรับการสัญจรในช่วงน้ำท่วมเพื่อเดินทางไปรับสิ่งของบริเวณจุดช่วยเหลือที่ตั้งใกล้กับบริเวณสุสานของหมู่บ้าน
  • หลังเกิดภัย มีสำรวจและจ่ายค่าชดเชยความเสียหายด้านการเกษตร

10. ข้อเสนอแนะ

    ขุดลอกลำห้วย ร่องน้ำ ซึ่งมีสภาพตื้นเขิน รกทึบไปด้วยวัชพืช

11. พิกัดพื้นที่

            จัดเก็บพิกัดพื้นที่สำคัญในหมู่บ้านบ้านหนองบัว จำนวน 4 จุด

จุดที่ 1 สะพานข้ามหนองหลงเส้นทางน้ำไหลเข้าสู่หมู่บ้านจากริมแม่น้ำน่าน ก่อนจะไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนทั้งสองฝั่ง

จุดที่ 2 สะพานข้ามห้วยร่องแหย่ง เส้นทางน้ำเข้าหมู่บ้านจากริมแม่น้ำน่านติดกับบริเวณโรงเรียนหนองบัวและศูนย์ OTOP และท่วมบ้านในจุดที่ท่วมหนักสุด

จุดที่ 3 ท่อรอด บริเวณตลาดสดประชารัฐ  เส้นทางห้วยร่องแหย่ง  และบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บริเวณริมห้วยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สูงราว 3 เมตร

จุดที่ 4 หนองบัวใหญ่  แหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้าน  เป็นแหล่งกักเก็บน้ำและพักผ่อนของผู้คนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านหนองบัว เนื่องจากมีบัวจำนวนมาก ปัจจุบัน หนองบัวได้รับการขุดลอก

12. ข้อมูลผู้ร่วมสำรวจ

            1)  นายสมคิด ปารมย์  สมาชิก อบต.หนองบัว

            2) นายชูศักดิ์  อินต๊ะแสน  สมาชิก อบต.หนองบัว

            3) นายสุเทพ  พรหมปัญญา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองบัว

             รวบรวมข้อมูลโดย :  ศศินันท์ กีรติธนจารุพงษ์   09-1754-1507

*เอกสารส่วนหนึ่งของการประชุมปฏิบัติการ “การพัฒนาแนวทาง/แผนการลดทอนความเสี่ยงภัยพิบัติ ระดับพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน” โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงภัยพิบัติ วันที่ 28-31 พฤษภาคม 2562