Pandemic, Panic : ผลกระทบโควิดไวรัส

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 17 มีนาคม 2563

ถ้านำแบบแผนระบาดในจีนมาเทียบเคียง อาจทำนายอย่างคร่าวๆสถานการณ์จะไปสิ้นสุดราวเดือน มิ.ย.

การระบาดของโคโรนาไวรัสกำลังดำเนินไปอย่างกราดเกรี้ยว จากจุดเริ่มที่นครอู่ฮั่น ในเดือนธันวาคม 2019  มาบัดนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้เป็น โรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก (Pandemic) อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2020   

ตามความหมายของ WHO โควิดไวรัสเป็นเชื้อโรคใหม่ที่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้จำนวนการป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยล่าสุดในขณะที่ประกาศนั้น เชื้อได้แพร่ระบาดลุกลามไปแล้ว 118 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 121,000 คน อีกทั้งยังคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 4,300 คน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพียง 2 สัปดาห์ มีการแพร่ระบาดเพียง 30 ประเทศเท่านั้น

คลื่นการระบาดระลอกแรก เกิดขึ้นในแผ่นดินใหญ่จีน จากนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย แพร่กระจายไปเกือบทุกเมืองในทุกมณฑล มีคนจีนป่วยมากกว่า 80,000 คน รวมทั้งกระจายไปยังต่างประเทศ เข้าสู่ไทย ประเทศและทวีปต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก จากจุดนี้จึงเป็นเสมือน คลื่นการระบาดระลอกที่สอง ที่เกิดนอกประเทศจีน มีจำนวนผู้ป่วยรวมล่าสุด (16มีนาคม2020) มากกว่าในประเทศจีนแล้ว และกำลังทวีจำนวนและขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ลูกคลื่นการระบาดของโคโรนาไวรัสกำลังขยายตัวออกไปตามธรรมชาติของโรคระบาดใหม่ ในสภาวะที่ประชากรโลกยังไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อมันมาก่อน จึงป่วยและตายกันจำนวนมาก เกิดอาการตื่นตระหนกและสติแตกของสังคมด้วยความหวาดกลัวต่อไวรัสตัวนี้ (Panic) กลายเป็น ผลกระทบทางสังคมจิตวิทยาที่รุนแรงอีกลูกคลื่นหนึ่ง ที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

อันที่จริงคลื่นของความตื่นกลัวแบบนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกประเทศ จะมากหรือน้อยย่อมแตกต่างกันไปตามพื้นความรู้ความเข้าใจ กระแสวัฒนธรรมความเชื่อ และวิถีในการจัดการปัญหาของแต่ละสังคม

สำหรับประเทศไทยนั้น การระบาดของโรคยังคงอยู่ในระยะที่ 2  แต่ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรทางการแพทย์ ได้เตรียมมาตรการป้องกันล่วงหน้า เพื่อยันไว้ไม่ให้เข้าสู่ระยะที่ 3 หรือชะลอให้เข้าได้ช้าที่สุด

มีข้อน่าสังเกตุประการหนึ่งว่า ทันทีที่องค์การอนามัยโลกประกาศการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในวันรุ่งขึ้น (12 มีนาคม 2020) ประเทศจีนก็ได้ประกาศว่าการระบาดของโควิดไวรัสในประเทศจีนได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้วและกำลังลดระดับลงสู่ภาวะที่ควบคุมได้ โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงแค่ไม่กี่คนต่อวัน

หากเป็นจริงอย่างที่ประกาศก็หมายความว่า การระบาดในประเทศจีนเกิดขึ้นจากกลางเดือนธันวาคม 2019 มาจนถึงกลางเดือนมีนาคม 2020 รวมระยะเวลาประมาณ 3 เดือน  ซึ่งถ้านำแบบแผนการระบาดในประเทศจีนมาเป็นตัวเทียบเคียง เราอาจทำนายอย่างคร่าวๆได้ว่าการระบาดใหญ่ทั่วโลกที่เริ่มต้นในเดือนมีนาคม (ตามที่ WHO ประกาศ) ก็อาจจะไปสิ้นสุดในราวเดือนมิถุนายน

แต่พึงตระหนักว่า เราจะคิดเอาง่ายๆแบบนี้ไม่ได้เสียทีเดียว ต้องนำปัจจัยตัวแปรด้านการบริหารจัดการของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เฉียบขาดและมีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งพลังความร่วมไม้ร่วมมือของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ เข้ามาบวกลบคูณหารเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย เพราะประเทศอื่นทั่วโลกเขาไม่ได้มีและไม่ได้เป็นแบบจีน

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์โคโรน่าไวรัสทั่วโลกจะยุติลงเมื่อไร แต่ที่แน่นอนคือชีพจรเศรษฐกิจของทุกประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ อันได้แก่การเดินทางท่องเที่ยวและกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งการกีฬา การติดต่อซื้อขายและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ มีอันต้องสะดุดหยุดกึกลงแบบฉบับพลัน เพราะทุกประเทศต้องงัดเอามาตรการการเฝ้าระวัง การตรวจคัดกรองและการกักกันโรคอย่างเข้มงวดตามกติกาองค์การอนามัยโลก (2005) มาบังคับใช้

ทางด้านธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ประเมินผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 77,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – 347,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.1% – 0.4% ของจีดีพีโลก ซึ่งระดับความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่แน่นอน

ทั้งนี้ หากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงในระดับปานกลาง โดยมีการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างเช่นการจำกัดการเดินทางติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกราว 156,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นสัดส่วน 0.2% ของจีดีพีโลก

ในด้านเศรษฐกิจจีนเองนั้น น่าจะได้รับความเสียหายราว 103,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 0.8% ของจีดีพีจีน ขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆในเอเชียจะอยู่ที่ 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 0.2% ของจีดีพีประเทศเหล่านั้น

สำหรับประเทศไทย เอดีบีคาดไว้ว่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจราว 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 1.11% ของจีดีพีไทย ซึ่งในเรื่องนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เห็นว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2563  มีทั้งผลทางตรงและทางอ้อม การลดการจ้างงาน-ปิดกิจการ ซ้ำเติมประเด็นด้านกำลังซื้อของครัวเรือนที่เปราะบางจากหลายปัจจัยลบอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีภัยแล้งที่รุนแรงเข้ามาอีกด้วย

กกร. จึงทบทวนประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563  ภายใต้สมมติฐานที่การระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งในจีนและนอกจีนผ่านจุดสูงสุดได้ภายในกลางปีนี้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ในปี 2563 จะอยู่ที่ 1.5-2.0% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.0-2.5% ขณะที่ยังคงประมาณการการส่งออกและเงินเฟ้อไว้ตามเดิม

นี่ก็เป็น ลูกคลื่นอีกระลอกหนึ่ง ที่กำลังจะปรากฏตัว ทั้งใหญ่ ทั้งรุนแรงและอาจลากยาวข้ามปี อาจยังมาซึ่งภาวะความยากจน อดอยากหิวโหยและความฝืดเคืองของเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานาน.

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com