เรื่อง สภาประชาสังคมไทย เรียนพี่น้องเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ทุกจังหวัด ทุกกลุ่ม

1. ตามที่เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ได้มีฉันทามติในครั้งการประชุมสมัชชาเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ว่าจะร่วมกันจัดตั้งสภาประชาสังคมไทย

เพื่อให้เป็นกลไกและพื้นที่กลางในการประสานงานและสร้างความเข้มแข็งของขบวนการภาคประชาสังคมไทยนั้น บัดนี้กระบวนการจัดตั้งสภาประชาสังคมไทยได้จัดเตรียมโครงสร้างและองค์ประกอบพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว ทั้งในด้านธรรมนูญ ข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติ สำนักงานเลขานุการสภา คณะกรรมการ (ชั่วคราว)

เรื่อง สภาประชาสังคมไทย

2. เพื่อเตรียมการจัดประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย, ที่ประชุมภาคีเครือข่ายสภาประชาสังคม ครั้งล่าสุดเมื่อ 14 ตุลาคม 2563 จึงเห็นร่วมกันว่าให้แจ้งข่าวและเปิดรับองค์กรภาคประชาสังคมให้สมัครเข้ามาสมาชิกสภาประชาสังคมไทยอย่างเป็นกิจลักษณะ, ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 14-30 ตุลาคม 2563

3. ในโอกาสนี้ ผมในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนขบวนการภาคประชาสังคมไทยกับทุกๆท่านมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี, ขอให้ข้อเสนอแนะบางประการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมไทยในจังหวะสถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะ พ.ศ. นี้.

4. ภาคประชาสังคมไทยมีธรรมชาติที่หลากหลายเป็นพิเศษ. มีทั้งระดับองค์กรชุมชนฐานรากหลายสิบประเภท กว่า 2 แสนองค์กร, มีทั้งองค์กร NGO กว่า 10,000 องค์กร ,และองค์กรแบบ CSO อีกกว่า 10,000 องค์กร

แต่ละองค์กรแต่ละเครือข่ายมีวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายกันไปตามบริบท. 

ยังไม่มีใครสามารถรวบรวมให้เป็นปึกแผ่นและเอกภาพได้ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและคงรวมไปถึงอนาคต. สภาประชาสังคมไทยที่เกิดขึ้นจากฉันทมติของสมัชชาเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 13 สิงหาคม, 14 กันยายน และ 14 ตุลาคม ตระหนักและเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เราจึงเริ่มต้นจากความเป็นจริง โดยเชิญชวนองค์กรที่มีความมุ่งมั่นและมีความพร้อม ให้เข้ามาช่วยกันบุกเบิก แผ้วถางทาง เปิดโอกาสให้องค์กรอื่นๆได้เข้ามาร่วมขบวนในระยะต่อๆ ไป.

5. เมื่อครั้งการประกาศเจตนารมณ์ก่อตั้งสภาประชาสังคมและรับรองธรรมนูญองค์กร เมื่อ 14 สิงหาคมนั้น พวกเรา 137 องค์กรได้ร่วมกันลงนาม. อันดับแรก ผมขอเชิญชวนทุกองค์กรผู้ร่วมก่อการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกด้วยกัน. ถ้าสมัครเข้ามาเมื่อไร ก็ควรที่คณะกรรมการจะถือว่าองค์กรเหล่านี้ผ่านคุณสมบัติและรับรองสถานะได้โดยอัตโนมัติ.

6. ในแต่ละจังหวัด องค์กรภาคประชาสังคมทุกประเภท ทุกระดับ ย่อมสามารถสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกได้โดยไม่จำกัดจำนวน

1 องค์กร คือ 1 ที่นั่งในสภา หรือเท่ากับ 1 เสียง ทั้งนี้ขอให้เป็นไปตามความมุ่งมัน ความสมัครใจและความพร้อม เพื่อจะได้เข้ามาช่วยบุกเบิกงานและฟันฝ่าความยากลำบากด้วยกัน.

7. ผมอยากเห็นการประชุมสามัญ ครั้งแรก ของสภาประชาสังคมไทย มีฐานสมาชิกมาจากทุกจังหวัด รวมทั้งฐานเครือข่ายเชิงประเด็นอย่างน้อย 100 องค์กร

ถ้าต่ำกว่านี้ จะดูด้อยพลังไปสักหน่อย ยิ่งได้มากกว่า 137 ที่เราเริ่มต้นก็ยิ่งดูว่ามีพัฒนาการนะครับ.

8. ในสถานการณ์บ้านเมืองที่มีวิกฤติจาก “ขบวนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบ” ที่กำลังเขม็งเกลียวอยู่ในขณะนี้, สภาประชาสังคม น่าจะเป็นปัจจัยตัวแปรหนึ่ง ที่จะขับเคลื่อนพลังทางบวกและมีทางออกทางเลือกที่ดีกว่า สำหรับสังคมไทย.

มาร่วมกันนะครับ.

พลเดช ปิ่นประทีป

19 ต.ค. 2563