รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 88) “ ประเด็นปฏิรูป…ใน พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่ ”

โจทย์การปฏิรูปตำรวจไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะเคยมีการจัดทำรายงาน ผลศึกษา หรือข้อเสนอแนะให้ คำตอบเอาไว้แล้วมากมายตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ฯลฯ ไปจนถึงข้อเสนอจากภาคประชาชน 

ปัญหาสำคัญที่พูดถึงกันมาก คือเรื่องโครงสร้างและภารกิจของ สตช. ที่เห็นว่าควร “กระจายอำนาจ” ไปให้ส่วนภูมิภาค และ “กระจายงาน” ที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจ ไปให้หน่วยงานอื่น  เรื่องแยกผู้ทำงานด้านการสอบสวนออกจากผู้ที่ทำงานด้านอื่น เพื่อให้การทำงานมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซงและได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม  และเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่สังคมอยากเห็น “การซื้อขายตำแหน่งหมดไป”

ปี 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชรเป็นประธาน ได้ยกร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ สนช. หมดวาระลงเสียก่อน

ปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งคณะกรรมการชุดเดิมทำงานต่อ แต่ต้องเร่งรีบจัดการเลือกตั้งทั่วไปจึงไม่ทันอีก

ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ชุด พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ใช้เวลาเพียง  9 เดือน ทำรายงานเสนอรัฐบาล แต่ถูกเสียงคัดค้านจากภาคประชาสังคม  รัฐบาลจึงมอบหมายให้คณะของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ดำเนินการ แต่ รายงานชิ้นนั้นก็ถูกต่อต้านจากตำรวจและส่วนราชการจำนวนมาก เดินหน้าไปต่อไม่ได้  สุดท้ายรัฐบาลจึงดึงกลับมาทำเสีย โดยมอบรองนายกวิษณุ เครืองามเป็นผู้รับผิดชอบ

(ร่าง)พรบ.กิจการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…ฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่ในรัฐสภาขณะนี้ มีหลักการสำคัญอยู่ 10 ประการ ดังนี้

1) การจำแนกตำรวจที่มีชั้นยศ กับ ตำรวจที่ไม่มีชั้นยศ อย่างชัดเจน

2) โอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปให้แก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ภารกิจของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎ หมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภารกิจการอำนวยความสะดวกในการจราจร

3) มีส่วนราชการ  3 ระดับที่สำคัญ คือกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค(บช.) กองบังคับการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรจังหวัด(บก.) และสถานีตำรวจ(สน.)  ให้ความสำคัญแก่หน่วยบริการและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยตรง จัดอัตรากำลังให้แก่สถานีตำรวจและตำรวจภูธรจังหวัดอย่างครบถ้วน

4) แบ่งสายงานตำรวจ 290,000 นาย ออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ สร้างความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่และความก้าวหน้าในสายงาน

5) ​​การแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ  กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา

6) ​​​กำหนดกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ ให้พนักงานสอบสวนสามารถเติบโตก้าวหน้าในสายงานตามความรู้ความสามารถ

7) ​​​มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการร้องทุกข์ที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือก สามารถทำงานได้เต็มเวลา มีความเป็นอิสระจาก สตช. และ ก.ตร.

8) มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  กรรมการโดยตำแหน่ง 5 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน  กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจและกำกับดูแล สตช.

9) มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของตำรวจหรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสีย และกระทำผิดวินัยของตำรวจ

10) จัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ 

โปรดติดตามได้ ตามอัธยาศัยครับ.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 14 ส.ค. 2564

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 88) “ ประเด็นปฏิรูป…ใน พ.ร.บ.ตำรวจ ฉบับใหม่ ”