รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 35) “คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น”

โครงการ “คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น” เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดขอนแก่นอย่างบูรณาการ

คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น

โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวขอนแก่นของครัวเรือนที่ยากจน ให้พ้นความยากจน โดยใช้รูปแบบประชารัฐและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  มุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะตามยุทธศาสตร์จังหวัดในอนาคต

โครงการมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 1,174 ครัวเรือน ในพื้นที่ 26 อำเภอ ครัวเรือนเหล่านี้มีรายได้เฉลี่ยจำนวน 38,000 บาทต่อปี  ซึ่งถือว่าตกเกณฑ์ จปฐ.

ขั้นตอนการดำเนิน​งาน

ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนที่ตกเกณฑ์​ จปฐ.​ จำนวน 1,174 ครัวเรือน จำแนกเป็นครัวเรือนที่สามารถพัฒนาได้ 661 ครัวเรือน ครัวเรือนที่ต้องให้การสงเคราะห์ 513 ครัวเรือน

มีคำสั่งจังหวัดขอนแก่นที่ 3091/2562​ ลงวันที่ 20 กันยายน 2562 เรื่องคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ “คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จน คนขอนแก่น” ประกอบด้วยคณะทำงาน 2 คณะ  คือ

1. คณะทำงานการขับเคลื่อนโครงการ

โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะทำงาน  มีปลัดจังหวัดเป็นรองประธานฯ   คณะทำงานประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดในจังหวัด หัวหน้าสถานศึกษา  ได้แก่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น  รวม 34 หน่วยงาน  โดยมีพัฒนาการจังหวัดเป็นคณะทำงานและเลขานุการ  มีหน้าที่ในการดำเนินงานตามโครงการ และประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมสรุปรายงานผลการดำเนินงานตลอดจนปัญหาอุปสรรคให้กับ “ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท” ทราบทุกราย

2. คณะทำงานสนับสนุนและกำกับติดตามการดำเนินงาน

มี 6 คณะย่อย  คือ 

– ด้านการพัฒนาอาชีพและรายได้ ประกอบด้วยหน่วยงานหลักๆ คือ เกษตรจังหวัด, พัฒนาการจังหวัด​, ประถมศึกษาจังหวัด, ปฏิรูปที่ดินจังหวัด โดยมีเกษตรกรเป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีนักวิชาการเกษตรที่ได้รับมอบหมายเป็นคณะทำงานและเลขานุการ มีหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือด้านการพัฒนาอาชีพ รายได้และการจ้างงานให้แก่ครัวเรือนที่ยากจน

– ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส ประกอบด้วย พมจ.,​ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, นายกอบจ ท้องถิ่นจังหวัด โดยมี​พมจ.เป็นประธานคณะทำงาน​ และมีนักพัฒนาสังคมที่ได้รับมอบหมายเป็นคณะทำงานและเลขานุการ โดยมีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ในครัวเรือน คนยากจนทั้งด้านสุขภาพอนามัย สวัสดิการการดูแลช่วยเหลือ

– ด้านการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน  และเงินทุนประกอบอาชีพ  ประกอบด้วย ปลัดจังหวัดขอนแก่น  เป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงานประกอบด้วย หัวหน้าสำนักงานจังหวัด, คลังจังหวัด, ผู้อำนวยการออมสินภาค 11, ผู้จัดการ ธกส. โดยมีเจ้าพนักงานปกครองที่ได้รับมอบหมายเป็นคณะทำงานและเลขานุการ มีหน้าที่แก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนหนี้นอกระบบการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ ดอกเบี้ยต่ำและการออม

– ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการตลาด มีประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เป็นหัวหน้าคณะทำงาน, ประธานสภาอุตสาหกรรมเป็นคณะทำงาน มีเจ้าหน้าที่หอการค้าเป็นเลขานุการ  คณะทำงานมีหน้าที่ให้การสนับสนุนในการทำงาน ข้าราชการคู่เสี่ยวและครัวเรือนยากจนด้านการตลาด การเป็นแหล่งรับซื้อและกระจายผลผลิตครัวเรือน  การจ้างงาน  การรับงานไปทำที่บ้าน

– ด้านการประชาสัมพันธ์โดยมีประชาสัมพันธ์จังหวัดเป็นหัวหน้าคณะทำงานมีหน้าที่ในการสร้างการรับรู้  เผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมต่างๆ

– ด้านที่ปรึกษาวิชาการ  มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นประธานคณะทำงานมีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาความยากจนแก่ข้าราชการคู่เสี่ยว

มีคำสั่งให้ข้าราชการจากทุกหน่วยงานในแต่ละอำเภอจับคู่โดยข้าราชการ 1 คนดูแล 2 ครัวเรือนในการดำเนินงานให้เน้นการบูรณาการ 4 กระบวนงาน คือ 1. ชี้เป้าชีวิต  2. จัดทำเข็มทิศชีวิต  3. บริหารจัดการชีวิต  4. ดูแลชีวิต

จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและศึกษาวิธีการแก้ปัญหาความยากจนจากประเทศจีนโดยศึกษาวิธีการจากเขตปกครองตนเอง กว่าง ซี จ้วง  และวางแผนการขับเคลื่อนงานโดยมีพัฒนาการจังหวัดเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน

ผลการดำ​เนิน​งาน

โครงการฯ เริ่มดำเนินงานเมื่อ 20 กันยายน 2562 ปัจจุบันยังคงดำเนินการอยู่ในพื้นที่ต่างๆของจังหวัดขอนแก่นเช่น ที่อำเภอเขาสวนกวางมีข้าราชการคู่เสี่ย 39 คนดูแลครัวเรือนยากจน 72 คนโดยข้าราชการมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแนะนำส่งเสริมการพัฒนาและดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนแก่ครัวเรือนเป้าหมายที่ตนเองรับผิดชอบ รวมทั้งประสานสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเป็นรายครัวเรือน

หมายเหตุจากผู้รายงาน

กรณีโครงการคู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น เป็นโครงการที่ริเริ่มจากผู้ว่าราชการจังหวัด นำแนวคิดการจับคู่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนแบบโมเดลของประเทศจีนมาปรับประยุกต์ใช้ในบริบทของจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย นับเป็นความริเริ่มที่น่าสนใจ 

แต่เนื่องจากเพิ่งเริ่มโครงการ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง และจะแก้ไขอย่างไร  อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างกรณีนี้ ทำให้เรียนรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ลักษณะการจับคู่ระหว่างคนแข็งแรงกับผู้อ่อนแอเพื่อแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย อาจมีความเป็นไปได้ในหลายลักษณะ ทั้งแบบปัจเจก(คนแข็งแรง)-ปัจเจก(ผู้อ่อนแอ) , ครอบครัว-ครอบครัว , กลุ่ม-ปัจเจก/ครอบครัว , องค์กร/สถาบัน-ปัจเจก/ครอบครัว ซึ่งควรมีการวิจัยและพัฒนากันต่อไป.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 27 ตุลาคม 2563