โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
สิ่งที่ผมสนใจมากกว่ากลับเป็นเรื่องวิถีการจัดการน้ำแบบศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ภารกิจหลักประการหนึ่งในวุฒิสภาของผม คือ การเป็นประธานอนุกรรมธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นงานบูรณาการการปฏิรูปในด้านต่างๆ และเป็นเรื่องที่ต้องทำร่วมกันแบบข้ามกระทรวง ข้ามกรรมาธิการด้วยกันทั้งสิ้น
คณะของเราจึงร่วมกันกำหนดประเด็นในเชิงกลยุทธ์ที่จะใช้สำหรับเป็นเครื่องมือในการติดตาม รวบรวมและวิเคราะห์ผลงานความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะและเร่งรัดกระบวนการปฏิรูปงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกันต่อไป
ในเบื้องต้น เราสนใจในประเด็นการปฏิรูประบบที่ดินทำกินของคนจนในชนบทและปัญหาคนอยู่กับป่า ประเด็นการจัดการทรัพยากรน้ำระดับชาติและระดับชุมชนท้องถิ่น ประเด็นการจัดการที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง
ประเด็นการจัดการปัญหาที่ทำมาหากินของแม่ค้าหาบเร่และอาชีพของคนจนในเมือง ประเด็นงานกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประเด็นงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข
ประเด็นกฎหมายภาษีการขายฝาก ประเด็นการจัดตั้งกลไกสำนักงานบูรณาการการแก้ปัญหาความยากจน การจัดตั้งกลไกกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม รวมทั้งนโยบายการแก้ปัญหาคนจนแบบเฉพาะเจาะจงของรัฐบาล และการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น กรณี EEC
สำหรับเรื่องทรัพยากรน้ำ ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีทรัพยากรน้ำมากมายแต่ขีดความสามารถในการจัดการน้ำโดยรวมของประเทศยังไม่ดีนัก เราจึงมีทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเน่าเสียอยู่ตลอดทั้งปี ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก
ในรัฐบาลประยุทธ์ (1) มีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำทั้งระบบหลายฉบับ รวมทั้งจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาดูแล ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งมีมติ ครม.เห็นชอบร่างกฎหมายระดับรองสำหรับการบังคับใช้ พรบ.และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีกจำนวน 11 ฉบับ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562
นั่นก็เป็นเรื่องบทบาทหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐที่ต้องว่ากันไป ส่วนเราคงต้องติดตามดูผลลัพธ์ของงานว่าปัญหาของประเทศชาติและประชาชนจะได้รับการแก้ไขดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่
แต่สิ่งที่ผมสนใจมากกว่า กลับเป็นเรื่องของวิถีการจัดการน้ำแบบศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาของคนเล็กคนน้อยในระดับชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นระบบเหมืองฝาย ฝายแม้ว ฝายชะลอน้ำ ฝายมีชีวิต เขื่อนกั้นน้ำ โคกหนองนาโมเดล บึงรับน้ำ แก้มลิง บ่อเก็บน้ำในแปลงเกษตรแบบหลุมขนมครก
ล่าสุดเป็นเรื่องธนาคารน้ำใต้ดินที่กำลังมีความสนใจดำเนินการกันแพร่หลายมากขึ้น โชคดีที่ผมเพิ่งมีโอกาสไปเยี่ยมชมผลงานของ อบต. จอมศรี อ.เชียงคาน จ.เลย
ธนาคารน้ำใต้ดิน คือ การนำน้ำไปเก็บที่ชั้นใต้ดินในชั้นหินอุ้มน้ำ ในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำมาก ธนาคารน้ำใต้ดินจะช่วยดูดซับน้ำเพื่อนำไปกักเก็บไว้ เมื่อถึงช่วงหน้าแล้งก็สามารถสูบน้ำมาใช้ได้
ธนาคารน้ำใต้ดินที่นิยมทำกันอยู่ มี 2 ประเภท คือธนาคารน้ำใต้ดิน “ระบบปิด” และธนาคารน้ำใต้ดิน “ ระบบเปิด” กล่าวกันว่าหากทำธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 2 ประเภทควบคู่ไปด้วยกัน จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
โดยหลักการ เป็นการขุดบ่อ เจาะท่อ เพื่อส่งน้ำลงไปเก็บไว้ที่ชั้นน้ำบาดาล ขนาดและความลึกของบ่อขึ้นอยู่กับสภาพและชั้นดินของแต่ละพื้นที่ วิธีการชาวบ้านจะขุดบ่อให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ จากนั้นใส่ยางรถยนต์เพื่อป้องกันขอบบ่อพังทลาย ใส่วัสดุที่หาได้ในพื้นที่ เช่น อิฐหิน เศษปูน ขวดน้ำ ท่อนไม้ ใส่ให้เต็มช่องว่างด้านนอกยางรถยนต์ และนำท่อ PVC มาวางตรงกลางบ่อเพื่อเป็นช่องระบายอากาศ จากนั้นจึงนำวัสดุชนิดเดียวกันมาใส่ช่องว่างด้านในให้เต็ม คลุมด้วยผ้าไนล่อน แล้วทับด้วยก้อนหินและตามด้วยหินละเอียด เพื่อเป็นตัวกรองให้เศษดินหรือขยะไม่ให้เข้าไปอุดตันในบ่อ
เมื่อฝนตกลงมา น้ำจะไหลจากผิวดินลงสู่ชั้นใต้ดินโดยตรง ผ่านระบบธนาคารน้ำใต้ดินนี้ น้ำที่ถูกเติมลงในชั้นหินอุ้มน้ำจนปริมาณมากพอ ก็จะเอ่อล้นขึ้นมาที่บ่อโดยอัตโนมัติ เกษตรกรสามารถสูบน้ำจากบ่อนี้มาใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องขุดเจาะหาแหล่งน้ำหรือสูบน้ำจากแหล่งน้ำห่างไกล ประหยัดพลังงาน ช่วยลดค่าใช้จ่าย
ที่อบต.จอมศรี ได้ไปเห็นเขาเปลี่ยนรางระบายน้ำข้างถนนในเขตชุมชน มาเป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดตลอดแนว ทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังหมดไป ไม่มีขยะอุดท่อ ไม่ต้องมีท่อลอดหรือตะแกงเหล็กปูทับช่องทางเข้าตัวบ้าน และมีพื้นที่ถนนใช้สอยได้กว้างขึ้น
เรื่องนี้อาจมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสมัยใหญ่รู้สึกขัดแย้งและวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา แต่จากประสบการณ์ของชาวบ้าน เขาพบประโยชน์มากมายทั้งๆที่ลงทุนน้อยมาก

กล่าวคือมันสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังเพราะทำให้น้ำซึมลงใต้ดินได้ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งเพราะสามารถสูบน้ำจากธนาคารน้ำใต้ดินมาใช้ได้ตลอดเวลา ช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็มเพราะมวลน้ำเค็มจะมีน้ำหนักมากกว่าน้ำจืดจึงตกอยู่ด้านล่างลงไป และยังช่วยแก้ปัญหาน้ำสกปรกเน่าเสียเพราะระบบจะช่วยกรองน้ำให้สะอาดขึ้น
ขอบคุณรูปปกจาก https://www.nationweekend.com