EEC ในมิติที่ยังเป็นห่วง

โดย ส.ว. พลเดช  ปิ่นประทีป, 23 ตุลาคม 2562

ในการประชุมคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภาเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 ประธานสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้เชิญเลขาธิการสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (Eastern Economic Corridor) มาให้ข้อมูล ผมร่วมรับฟังการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอยู่ด้วย มีความรู้สึกห่วงใยในหลายประการ

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นับเป็นนโยบายในระดับธงนำของประเทศที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากภาวะกับดักประเทศรายได้ระดับกลางสู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 

EEC เป็นพื้นที่ที่แบกรับภาระการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคและศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจสำคัญของโลก นอกจากนั้นแล้วที่นี่ยังเป็นที่คาดหวังว่าจะเป็นโมเดลต้นแบบให้กับการพัฒนาภูมิภาคส่วนอื่นๆของประเทศอีกด้วย

นโยบาย EEC เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย คสช.และรัฐบาลในภาวะพิเศษ ได้ตัดสินใจปักธงด้วยความหนักแน่นมั่นคง โดยได้ออกคำสั่ง คสช.2/2560 และออก พรบ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 รวมทั้งจัดตั้งกลไกคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานที่เป็นนิติบุคคลของรัฐขึ้นมารองรับการขับเคลื่อนเป็นการเฉพาะ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและมีกองทุนพัฒนาเป็นเครื่องมือ

ระหว่างปี 2560-2562 คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้ประชุมรวม 17 ครั้ง มีมติพิจารณาเห็นชอบและรับรองมาตรการการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 67 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องกำลังอยู่ในกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าในภาพรวมการขับเคลื่อนดำเนินการตามมติต่างๆดูเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็มีบางเรื่องที่เริ่มเกิดกระแสต่อต้าน บางเรื่องเกิดการสะดุดในขั้นปฏิบัติการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน บางเรื่องมีการฟ้องร้องในทางกฎหมาย บางเรื่องยังมีความเสี่ยงจากความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นที่ จึงเปิดช่องให้มีการแทรกแซงจากกลุ่มพลังสังคมจากภายนอกและพรรคการเมืองที่มุ่งหาคะแนนเสียง

EEC มีพื้นที่ครอบคลุมค่อนข้างกว้างขวางมาก ทั้งจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง รวม 13,266 ตารางกิโลเมตร หรือ 8.29 ล้านไร่ มีเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 21 แห่งและนิคมอุตสาหกรรมอีก 31 แห่งกระจายอยู่เป็นหย่อมเป็นย่าน สลับกับเขตที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชุมชนดั้งเดิมและเมืองเกิดใหม่ ตามผังเมืองที่ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสนโยบาย

ที่นี่จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งด้านกายภาพและด้านดิจิทัล มุ่งขับเคลื่อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างสนามบินอู่ตะเภา สร้างท่าเรืออุตสาหกรรมที่มาบตาพุดและแหลมฉบัง สร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอัจฉริยะ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ที่ศรีราชา เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่ระยอง เมืองอุตสาหกรรม Blue Tech City ที่ฉะเชิงเทรา  มีระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระบบรถไฟรางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ  และมีมอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง

รัฐบาลคาดหวังว่าจะมีมูลค่าการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนรวม 1.7 ล้านล้านบาทในระยะ 5 ปีแรก มีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้น 4.75 แสนอัตรา  จัดให้มีแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนจำนวน 86 โครงการในวงเงินงบประมาณ 9,298 ล้านบาท และมีแผนผังการพัฒนาที่กระจายการใช้ทรัพยากรที่ดินอย่างสมดุล รวมทั้งให้ความมั่นใจที่จะอนุรักษ์พื้นที่เกษตรชั้นดีและป่าไม้ไว้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายและแผนงานโครงการพัฒนาอันร้อนแรงที่พุ่งเข้าสู่พื้นที่ด้วยความรวดเร็วเช่นนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบและกระแสความห่วงใยและวิตกกังวลจากคนในพื้นที่และสังคมวงนอก  

ในเบื้องต้นนี้ ผมมีความรู้สึกและข้อคิดเห็นบางประการ

ประการแรก

การกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีผลกระทบสูง ย่อมต้องการเทคนิควิธีการและการจัดกระบวนการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมและได้ขนาด  จึงจะสามารถสร้างการรับรู้ เข้าใจและเกิดพลังความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อน

แต่เมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านมาถึงขั้นนี้ EEC ได้ถูกกำหนดให้เป็นนโยบายธงนำ มีกฎหมายและกลไกรองรับการขับเคลื่อน มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามามากมาย ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเสี่ยงต่อปัญหาความขัดแย้งทางสังคมและอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่รออยู่

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า คนไทยโดยส่วนใหญ่ก็อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้าการพัฒนาไปตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ดังนั้นบทบาทของวุฒิสภาชุดนี้จึงควรต้องทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามการบังคับใช้กฎหมายและการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างเกาะติด

ประการที่สอง

กระบวนการมีส่วนร่วมในเชิงคุณภาพ ยังคงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการปัญหาความขัดแย้งและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในขั้นตอน ก่อน ระหว่างและหลังเหตุการณ์  บางครั้งจึงมีผู้กล่าวว่า “ไม่มีอะไรที่สายเกินไปสำหรับกระบวนการมีส่วนร่วม”

ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพ สามารถสร้างความเข้าใจและความเชื่อถือไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มักเริ่มต้นจากการวิเคราะห์กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุมทั่วถึง ทั้งฝ่ายรัฐ ภาคธุรกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น ชุมชนชาวบ้าน องค์กรเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ รวมทั้งนักการเมืองขั้วต่างๆ เพื่อที่จะนำมาใช้ออกแบบกระบวนการและขั้นตอนดำเนินงานอย่างเหมาะสม

สำหรับกรณีของ EEC ในขณะนี้ น่าจะจำเป็นที่ต้องมีกลไกที่เป็นอิสระขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลาง สร้างสรรค์กระบวนการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ ความหวังและการปรับตัวก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นใจ

ประการที่สาม

ในสถานการณ์บ้านเมืองที่มีกระแสความขัดแย้งทางสังคมที่ยืดเยื้อมานาน ตัวบุคคลและสถาบันต่างๆ ได้ถูกฉุดกระชากลากดึงลงมาต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างไม่ปรานีปราศรัย จนทำให้หมดความน่าเชื่อถือลงไปตามๆกัน ฐานทุนทางสังคมวัฒนธรรมถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย

ดังนั้นในการหากลไกที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น จึงไม่อาจโยนภารกิจให้เป็นหน้าที่ของสถาบันใดหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่อาจจำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างและองค์ประกอบที่มีความจำเพาะ 

ซึ่งในนาทีนี้ ผมคิดว่าระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการนั้น รัฐสภาน่าจะทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าเพื่อน.