รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 47) “กลุ่มคนรักเมืองเพชร”

ประชาคมจังหวัดเพชรบุรี

ปีที่ก่อตั้ง  พ.ศ. 2539  ระยะเวลานับถึงปัจจุบัน 23 ปี

ความเป็นมา ประวัติการก่อตั้ง

เริ่มจากการทำวิจัยชิ้นหนึ่งของบริษัทรีเจนท์ยืนยงพัฒนา ต้องการค้นหาสิ่งดีงามให้แก่จังหวัดเพชรบุรี เป็นการทำงานร่วมกับ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี และ คณะนักวิจัยท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านและคนในท้องถิ่น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

เวทีของการพูดคุยได้เริ่มเปิดวงขยายขึ้น มีการนัดหมายที่เป็นทางการ และมีหัวข้อการสนทนาที่ชัดเจนขึ้น จนนำไปสู่การประชุมครั้งใหญ่ เมื่อ วันที่ 22-23 มีนาคม 2539 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เครือข่ายต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรี ประชาชนในท้องถิ่นที่สนใจ และ หน่วยงานส่วนกลาง  

มีกระบวนการสำคัญ 3 ประการ คือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การร่วมกันประเมินศักยภาพ และ การวิเคราะห์ การมองร่วมกันถึงกลุ่มที่ควรจะเข้ามามีส่วนร่วม  ผลจากการประชุมนำมาสู่แนวทางการกำหนดแนวคิดที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่ท้องถิ่นที่ขัดเจนมากขึ้น  และผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนันท์ นีลพงษ์ เป็นผู้เสนอให้ใช้ชื่อเรียก “กลุ่มคนรักเมืองเพชร” ขึ้นเป็นครั้งแรก

แนวคิด/เป้าหมายขององค์กร

เป็นการรวมตัวกันของภาคส่วนต่าง ๆ ที่มารวมกันด้วยหัวใจ จากคนที่มีหัวใจเดียวกัน เปรียบเสมือนร่มคันใหญ่ที่โอบล้อมกลุ่มก้อนต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายตรงกันเข้าด้วยกันและก้าวไปพร้อมๆ กัน  ต้องการพัฒนาเมืองเพชรบุรีตอบแทนถิ่นกำเนิด และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่เมืองเพชร

ใน ปี พ.ศ. 2540 ได้มีข้อสรุปจากการประชุมที่เป็นภาพอนาคตที่ต้องการเห็นร่วมกันของเมืองเพชรบุรี 5 เรื่อง คือ เป็นเมืองงาม เป็นเมืองเข้มแข็ง เมืองอบอุ่น เป็นเมืองวัฒนธรรม และเป็นเมืองคน

รูปแบบการมีส่วนร่วม/การรวมตัว

เป็นการรวมตัวตามธรรมชาติอย่างหลวมๆ เป็นการเกาะเกี่ยวกันในลักษณะของเครือข่ายมากกว่าจะมีโครงสร้างที่แข็งกระด้างตายตัว เพราะแต่ละกลุ่มนั้นมีภารกิจอยู่แล้ว ก็จะมีการดำเนินกิจกรรมไปตามความถนัดของตน แต่จะมารวมกัน เมื่อมีการจัดกิจกรรมในนามของกลุ่มคนรักเมืองเพชร และ รับผิดชอบในภารกิจต่าง ๆ ไปตามความถนัดของตนเช่นเดิม

โครงสร้างการทำงานจึงสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสมของภารกิจแต่ละครั้ง ทำให้กลุ่มคนรักเมืองเพชร “ไม่มีประธานกลุ่ม” สมาชิกทุกคนในกลุ่มมีความเท่าเทียมกัน  โดยอาศัยหลักประชาธิปไตยชุมชน คือ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน และให้ความสำคัญกับทุกความคิดเห็น

ในระยะเริ่มแรก ในปี พ.ศ. 2540 มีการจัดประชุมเพื่อปรับแนวทางการดำเนินการให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และ มีกลุ่มที่มารวมกันเป็นเครือข่ายการทำงาน 8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน กลุ่มหอการค้า สำนักศิลปวัฒนธรรม (กลุ่มวัฒนธรรม) บริษัทรีเจนท์ยืนยงพัฒนา จำกัด ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี กลุ่มยายกับตา (กลุ่มเยาวชน) และ กลุ่มสื่อมวลชน

ต่อมามีการขยายการพัฒนากลุ่มเคือข่ายมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2545 มีการขยายกลุ่มเครือข่ายเป็น 28 กลุ่ม และ ในปี พ.ศ. 2548 ขยายเป็น 31 กลุ่ม

กิจกรรมต่างๆ ขององค์กร

จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการนำสิ่งที่ดีของเมืองเพชรบุรีให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในด้านความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม

เสนอและขับเคลื่อนแนวความคิดในการให้มอบต้นไม้แทนการมอบพวงหรีด การถวายต้นไม้แทนดอกไม้แก่พระภิกษุ  การสนับสนุนการใช้กระทงใบตองแทนกระทงที่ทำจากโฟม

ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมสำคัญๆ เพื่อระดมความเห็น หรือ เพื่อตัดสินใจในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชาวเพชรบุรี  รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาให้แก่กลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อช่วยแก้ปัญหา

กิจกรรมสำคัญ/ผลงานเด่น

เน้นการพัฒนา “การเมืองเชิงวัฒนธรรม” คือ การชูวัฒนธรรมนำการเมือง เช่น การอนุรักษ์และปกป้องลุ่มน้ำเพชรบุรี  การรื้อฟื้นประเพณีแห่เรือองค์ โดยมีการใช้กิจกรรมแห่กฐินและผ้าป่าเรือองค์ ใช้เป็นยุทธวิธีในการต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาแม่น้ำเพชรบุรีจากการตัดถนนได้สำเร็จ

สภาพปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน

ในช่วงแรกมีความท้าทายจากเรื่อง “ความไม่เข้าใจกันและยังขาดความไว้วางใจ” ระหว่างเครือข่ายที่มาเข้าร่วม ด้วยเกรงว่า จะเป็นการมารวมตัวกันแล้วเกิดประโยชน์ที่เอื้อกับภาคธุรกิจเอกชนใดเป็นพิเศษหรือไม่

นอกจากนี้ ยังพบว่า เกิดคำถามและข้อคลางแคลงใจจากบางกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมเครือข่ายว่า กลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมด้วยนั้น ไม่รักเมืองเพชรบุรีใช่หรือไม่

การมีเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการและการประสานงานอยู่บ้าง

กลุ่มไม่พบปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะ ไม่ได้มีการสะสมทุนกองกลางไว้มากนัก โดยงบประมาณที่จะใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ จะเป็นการระดมทุนกันในรายกิจกรรมแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละภารกิจ.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 3 ม.ค. 2564