ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (6) “การเมืองเรื่องวัคซีน”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (6) “การเมืองเรื่องวัคซีน”

เมื่อสิ้นสุดโควิดระลอกที่ 1 (4 พค.2563) ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมเพียงแค่ 3,028 ราย จนเป็นที่ยกย่องชื่นชมกันไปทั่วโลก  ต่อมาในระลอกที่ 2 สถานการณ์ชักรุนแรงขึ้น เพียงแค่ 12 สัปดาห์ (จน ถึง 31มี.ค.2564) มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 29,000 ราย  ส่วนระลอกที่ 3 นั้นสุดที่จะต้านทานได้  เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.2564 เพียงแค่ 7 สัปดาห์ มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 135,000 รายและตายสะสม 830 คนแล้ว.

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยทั้ง 3 ระลอก นับวันยิ่งทวีความ “โหด-เร็ว-แรง”  เช่นเดียวกับทุกประเทศทั่วโลก  ความหวังสุดท้ายจึงอยู่ที่การคิดค้นวิจัย “ยาและวัคซีน” ที่สามารถใช้ต่อสู้กับโควิดได้แบบเฉพาะเจาะจง 

ยารักษาโควิดยังต้องรอคอยกันอีกนาน ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี  นับว่าโชคดีที่โลกสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันสำเร็จได้ภายใน 1 ปีของการระบาดใหญ่  บัดนี้มนุษยชาติมีวัคซีนโควิดขึ้นมาใช้ป้องกันแล้วหลายยี่ห้อ  ทั้งของยุโรป อเมริกา รัสเซีย จีน และอินเดีย.  

รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ด้วยตนเอง  ต่างก็พร้อมที่จะเตรียมงบประมาณเพื่อจัดซื้อจัดหามาให้ประชาชนของตนแบบถ้วนหน้า (100%) เพื่อปกป้องรักษาชีวิตของประชากรและฟื้นคืนชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมในเร็ววัน.

โชคร้ายหน่อยสำหรับประเทศไทย  มีเรื่องแปลกประหลาดกึ่งน่าสมเพชเวทนา  ที่นักการเมืองผู้ทรงเกียรติในสภาและกลุ่มการเมืองฝ่ายแค้น ยังคงทำทุกวิถีทางที่จะดีสเครดิตและขัดขวางการทำงานของรัฐบาลในทุกวิถีทาง เล่นการเมืองทุกเม็ดแบบไม่รู้เวล่ำเวลา.   

แทนที่จะช่วยกันนำพาประชาชนและประเทศชาติให้ผ่านพ้นภาวะสงครามแห่งมนุษยชาติ ต่อสู้กับเชื้อโรคร้าย  แต่กลับใช้เฟคนิวส์ออกมาละเลง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนปั่นป่วน ทั้งเรื่องผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีน  ประสิทธิภาพวัคซีน  วัคซีนทางเลือก  รวมทั้งบั่นทอนขวัญกำลังใจแพทย์พยาบาล เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่แนวหน้าและทุกแนวรบ  ราวกับว่าถ้าประเทศจัดการปัญหาได้เร็ว จะเป็นผลงานของรัฐบาล  ความคิดที่คับแคบและเห็นแก่ตัวเช่นนี้เป็นคุณสมบัติติดตัวของ “นักการเมืองวิถีเก่า”.

อย่างไรก็ตาม  ในด้านของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐเองก็มีข้อบกพร่องที่ควรแก้ไขและสรุปบทเรียน  ไม่ว่าจะเป็นกรณีประสิทธิภาพของ แอพ ”หมอพร้อม”ที่ไม่สามารถบริการประชาชนจำนวนมากๆ  จนทำให้หลายจังหวัดต้องทำแอพขึ้นมาเอง เช่น “ลำปางพร้อม” และโชคดีที่รัฐบาลหันกลับมาใช้แอพ “เป๋าตังค์”ที่มีอยู่แล้ว มาเป็นตัวเสริมจนสามารถแก้เกมได้.

แง่คิดประจำสัปดาห์สำหรับ เครือข่ายชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม

  1. ทำอย่างไรจะเก็บรวบรวมข้อมูลนักการเมืองวิถีเก่าและพรรคการเมืองน้ำเน่า ที่กำลัง “ออกแร้งออกกา”เรื่องโควิดและสร้างสถานการณ์ปั่นป่วนในบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้  โดยเฉพาะนักการเมืองทุกคน ทุกพรรคในจังหวัดของท่าน  เก็บทั้งภาพข่าวและคลิปภาพ คลิปเสียง  เพื่อรอวันเช็คบิลในการเลือกตั้งปี 2566 ในอีก 2 ปีข้างหน้า  อย่าให้พวกนี้กลับมาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับประเทศชาติได้อีก.
  2. ทำอย่างไรจะควบคุมสถานการณ์ความสับสนเรื่องวัคซีนในหมู่ประชาชนในชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัดของเราให้ได้โดยเร็ว  ประชาชนที่เข้าใจและต้องการฉีดวัคซีนต้องได้ลงทะเบียนโดยทั่วถึง  ส่วนประชาชนที่ยังรู้สึกหวาดกลัวและไม่ประสงค์ ก็ต้องปล่อยไปก่อน  รอเมื่อคนอื่นฉีดกันหมดแล้วคงคิดได้เอง  เรื่องนี้บังคับกันไม่ได้.
  3. ทำอย่างไร ในฐานะของชุมชนท้องถิ่นและประชาชนในพื้นที่ จะช่วยให้กำลังใจและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิดในพื้นที่ของเรา ให้สามารถเปิดบ้าน เปิดเมืองได้  ภายใน  1 มกราคม 2565.

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา  /  31 พฤษภาคม  2564.