รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 80) “ระบบการให้ทุนวิจัยของรัฐ ถึงเวลาต้องทบทวน”

เพื่อให้กฎหมาย (ร่าง)พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. สามารถบังคับใช้กับหน่วยงานให้ทุน ผู้รับทุนและผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการรับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ได้อย่างบรรลุเป้าหมาย สอวช. และ สกสว. ควรทำงานร่วมกับกระทรวงทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 79) “ระบบการให้ทุนวิจัยของรัฐ ถึงเวลาต้องทบทวน”

ควรเน้นงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความครอบคลุม ทั้งเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจมหภาคและการสร้างความสามารถในการแข่งขันตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต้องตอบโจทย์เขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์มากที่สุด

ในร่างมาตรา 2 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป  ดังนั้นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายจึงควรต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ โดยเฉพาะการจัดทำกฎหมายลำดับรอง การสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือสถาบันการศึกษาหรือนักวิจัย  

โดย สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  ควรต้องเตรียมรายละเอียดในการออกระเบียบข้อบังคับ อย่างน้อยใน 4 มาตรา ได้แก่ ม.3 ม.10 ม.16 และ ม.17   

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีมาตราที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 11 มาตรา ได้แก่ ม.4 ม.6 ม.7 ม.8 ม.9 ม.11 ม.12 ม.13 ม.14 ม.16 และ ม.17 

นอกจากนั้น ยังมีข้อสังเกตเรื่อง “การให้ทุนของหน่วยงานรัฐ”  6 ประการ ดังนี้

1) ระเบียบใหม่ของ สอวช. ควรต้องปรับแก้ไขให้มีความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้นและมีมาตรฐานที่สูงกว่าระเบียบฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

2) ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ ควรต้องมุ่งตอบโจทย์ใหญ่และปัญหาใหญ่ของประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม

3) ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐที่ตอบโจทย์เรื่องเฉพาะหรือขนาดเล็ก หากไม่มีการทบทวนให้เป็นอื่น ก็ควรพิจารณาความสำคัญกับงานวิจัยที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ระบบการให้บริการด้านสุขภาพของรัฐ รวมถึงการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ การใช้เทคโนโลยีติดตามการจราจรเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เทคโนโลยีสำหรับการจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง  และสนับสนุนการเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการในการเป็นผู้สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญให้แก่ประเทศ               

4) ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของส่วนราชการที่เป็นการช่วยเหลือภาคเกษตรกรหรือภาคสำคัญอื่นๆ ควรได้รับการพิจารณาจัดสรรให้อย่างเพียงพอ เพื่อการยกระดับภาคเกษตรและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร หรือภาคเหล่านั้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

5) ควรต้องมีบทบังคับหรือมาตรการทางปกครอง กำหนดให้กระทรวงหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นำเอาผลงานวิจัยฯไปขับเคลื่อนใช้ประโยชน์เพื่อให้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ

6) ควรระมัดระวังป้องกันผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ จากการที่นักวิจัยวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure Research) หรือการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research)  อันเป็นการวิจัยเพื่อหาทฤษฎี สูตรหรือสร้างกฎ เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาเรื่องอื่นๆ  อาจจะมีจำนวนลดลงจนไม่มีคนทำ เพราะงานวิจัยประเภทนี้มักมีผลประโยชน์ตอบแทนและโอกาสที่น้อยกว่า ดังนั้นจึงควรกำหนดสัดส่วนระหว่างทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ กับวิจัยพื้นฐานให้มีความเหมาะสมชัดเจน  และควรสนับสนุนให้มีทุนการวิจัยพื้นฐานเพิ่มขึ้น มุ่งสร้างบุคลากรนักวิจัยที่มีคุณภาพของประเทศในระยะยาว.   

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป / 8 .. 2564