ขวบปีแรก สภาองค์กรผู้บริโภค | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 7/2566)

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 46

และตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน  

องค์กรของผู้บริโภค เป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่สิบคนขึ้นไปรวมตัวกันจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าการรวมตัวจัดตั้งนั้นจะจัดตั้งเป็นรูปแบบใด และจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ตาม แต่ต้องไม่ถูกครอบงำโดยผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว หรือโดยหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพรรคการเมือง 

ขวบปีแรก สภาองค์กรผู้บริโภค | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 7/2566)

สอบ.มีพัฒนาการมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540  ปี 2552 ประชาชนได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแต่ตกไปเนื่องจากมีการยุบสภา ปี 2561 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ ให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายทะเบียนรับจดแจ้งสถานะองค์กรของผู้บริโภค  ปี 2563 องค์กรของผู้บริโภค 152 องค์กร แสดงตนเป็นผู้เริ่มจนกระทั่งมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563                      

ผลงานของ สอบ. 

การดำเนินงานปีแรก พ.ศ. 2564  หน่วยรับเรื่องร้องเรียน 10 จังหวัด ได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 2,816 ราย สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้สำเร็จลุล่วงถึงร้อยละ 90

ปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ 

1) ด้านการเงินการธนาคาร ร้อยละ 51.85 ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการถูกยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด ไม่จ่ายค่าสินไหมหรือจ่ายล่าช้า

2) ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ร้อยละ 27.34 เช่น ผู้จัดงานคอนเสิร์ตไม่สามารถจัดตามวันเวลาที่แจ้ง และไม่คืนเงินให้ผู้บริโภค

3) ด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ร้อยละ 5.33 เช่น ปัญหาเช่าซื้อบ้านพักอาศัยไม่ปิดจำนอง ปัญหาบ้านทรุดและสาธารณูปโภคในโครงการบ้านจัดสรร

4) ส่วนที่เหลือ มีเรื่องการใช้สิทธิจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ การร้องเรียนเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือปฏิบัติงานล่าช้า และเรื่องการฟ้องค่าเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น 

มีผลงานเด่นในการทบทวนนโยบายและมาตรการ 3 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่

  • CPTPP ด้านอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก รอการศึกษาวิจัยผลกระทบด้านบวกและด้านลบ
  • (UCEP) จัดทำวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางให้ผู้ป่วยที่เข้าข่ายอาการรุนแรงสามารถเข้าถึงสิทธิได้อย่างทั่วถึง เจ็บป่วยแค่ไหน และทำอย่างไรไม่ถูกเรียกเก็บเงิน 

ข้อเสนอแนะจาก กมธ.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน

(1) มีความท้าทายในด้านงบประมาณการดำเนินงาน ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแบบจิตอาสาให้มาก เสริมสร้างทัศนคติของภาคธุรกิจเอกชนต่อประโยชน์และผลดีจากการทำหน้าที่ของ สอบ. 

(2) ต้องทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรต่อภาคธุรกิจเอกชน เชื่อมประสานและทำให้มีการขับเคลื่อนในลักษณะ “เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนามีความยั่งยืน” โดยไม่มองแบบขาวกับดำ

(3) ต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ไม่ใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งผู้ประกอบที่ดีมีความสุจริตยุติธรรม

(4) ต้องดำเนินการในเชิงรุก เช่น การเฝ้าระวัง การแจ้งข่าวเตือนภัยสินค้าหรือบริการที่อาจก่อความเสียหายให้กับผู้บริโภค ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย เสนอแนะนโยบายการแก้ปัญหาและยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

(5) ต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีความฉลาด รู้เท่าทัน เข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือให้ทันสถานการณ์

(6) ต้องมีความโปร่งใส ทันสมัยและมีความเป็นสากล โดยต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย

(7) ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคให้สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง ทั้งการเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัย ไกล่เกลี่ยฟ้องคดีแทน รวมถึงการเสนอนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถปกป้องดูแลตนเองได้.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 13 มีนาคม 2566