ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (26) “การเมืองสร้างสรรค์ จุดเริ่มที่ท้องถิ่น”

ถึง เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด

ท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ (26) “การเมืองสร้างสรรค์ จุดเริ่มที่ท้องถิ่น”

ใกล้เวลาการเลือกตั้ง อบต. ทั่วประเทศเข้าไปทุกที บรรยากาศการหาเสียงกำลังเข้มข้นท่ามกลางโควิดและพายุดีเปรสชั่น  สำนักงาน กกต.รายงานผลการรับสมัคร อบต. 5,300 แห่ง มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวม 136,250 คน แบ่งเป็นผู้สมัครนายก อบต. จำนวน 12,309 คน และผู้สมัครสมาชิก อบต.จำนวน 123,941คน

การเมืองท้องถิ่น เป็นรูปธรรมของระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่ประชาชนในท้องถิ่นเลือกผู้นำเข้าไปบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดูแลงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่นของเขา  ในท้องถิ่นขนาดเล็ก เช่น อบต.และเทศบาลตำบล มักมีความใกล้ชิดกันระหว่างผู้นำที่เสนอตัวและประชาชนผู้เลือกเขาเข้าไป  ผิดกับท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา  ยิ่งขนาดใหญ่มากก็ยิ่งเหินห่างและมีช่องว่าง ทั้งในระดับอบจ. เทศบาลเมือง เทศบาลนคร กทม. พัทยา  รวมไปถึงการเมืองในระดับชาติ คือ ส.ส. ส.ว. ด้วย

ที่ผ่านมา ด้วยสาเหตุนานาประการ สังคมไทยมีพัฒนาการด้านกระบวนการประชาธิปไตยอย่างจำกัด   ประชาชนจึงขาดความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และไม่รู้เท่าทันทางการเมือง  ด้านหนึ่งมีภาพจำของนักการเมืองระดับชาติที่มีพฤติกรรมการตั้งก๊วนเพื่อต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์ ใช้เงินซื้อเสียง แบ่งขั้วแยกฝ่าย ทำการเมืองแบบทำลายล้าง เอาเปรียบคู่แข็งขันด้วยวิธีการสกปรก  อีกด้านหนึ่งเป็นตัวอย่างไม่ดีให้นักการเมืองท้องถิ่นลอกเลียนแบบ

ทุกวันนี้ ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบการเมืองตัวแทนดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่โดยทั่วไปยังขาดความศรัทธาเชื่อมั่นในพลังอำนาจอธิปไตยที่อยู่ในมือของตน ขาดสำนึกหวงแหนห่วงใยในประเทศชาติส่วนรวม  การเลือกตั้งแต่ละครั้งจึงลงคะแนนกันไปโดยไม่สนใจคุณค่าและไม่คาดหวังต่ออนาคตประเทศชาติ  เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากตัวเอง การซื้อสิทธิ์ขายเสียงจึงมีผลสัมฤทธิ์เสมอมา

การเมืองวิถีใหม่ ควรเป็นการเมืองในเชิงคุณธรรมจริยธรรม เป็นการเมืองเชิงจิตอาสา และเป็นการเมืองเชิงสร้างสรรค์ของสุภาพชน ที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นตัวตั้ง 

หลักการ “ 5 ต้อง ” สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น

1) ต้องยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   

ปัจจุบันมีกระแสแนวคิดในการโค่นล้มระบอบการปกครอง เพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบอบอื่น ชุมชนและประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องตรวจสอบตรวจตราอย่างถี่ถ้วน มิให้มีผู้นำท้องถิ่นที่มีแนวคิดและความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับขบวนการดังกล่าว

2) ต้องทำงานการเมืองแบบจิตอาสา 

ผู้นำท้องถิ่นควรเป็นผู้ขันอาสาทำงานส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทนในทางที่ผิด ควรเลือกผู้ที่รู้จักหัวนอนปลายเท้า เห็นผลงานและมีลักษณะนิสัยซื่อสัตย์ซื่อตรง ให้เข้าไปบริหารเงินงบประมาณส่วนรวมจำนวนมาก ต้องถามใจตัวเองให้ดีเสียก่อน อย่าเลือกเพราะอามิสสินจ้าง อย่าทำลายศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในตัวเอง 

3) ต้องเสริมสร้างความรักสามัคคีของคนในชาติ ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีไทย

ทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ทั่วโลก ดำรงคงอยู่ได้ด้วยความสามัคคีเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ  มีวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นเป็นรากเหง้า(รากแก้ว)  อย่าเลือกพวกแบ่งแยกแล้วปกครอง ต้องสร้างความรักสามัคคีระหว่างชุมชนทุกกลุ่ม ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 

4ต้องเชื่อมั่นหลักนิติรัฐ เคารพกฎหมาย

กฎหมายเป็นกติกาสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างในการเคารพกฎหมาย  อย่าเลือกคนที่สังคมเห็นว่าทุจริตคดโกง ชอบฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ว่าจะถูกพิพากษาลงโทษหรือไม่ก็ตาม 

5) ต้องมีสปิริตความเป็นนักกีฬา 

การแข่งขันเลือกตั้งย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้  ผู้นำท้องถิ่นต้องมีสปิริตของนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้ขอโทษ และรู้อดทนรอคอย  ไม่ควรเลือกคนที่มีนิสัยขี้แพ้ชวนตีเข้าไปบริหารท้องถิ่น

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป

สมาชิกวุฒิสภา  /  23 ตุลาคม 2564 .