การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้รายได้ต่อหัวของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 เท่า ในขณะเดียวกันจำนวนประชากรที่ขึ้นเป็น 67 ล้านคน ได้ส่งผลและกดดันต่อการใช้ทรัพยากร ทำให้เสื่อมโทรมและก่อมลภาวะมากขึ้น

มีการลดลงของพื้นที่ป่าและสัตว์ป่าสงวนอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในแต่ละปี ก่อความเสียหายอย่างมากทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน การลดลงของป่าชายเลน ความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำ ปะการัง น้ำทะเล และการกัดเซาะชายฝั่ง ต่างส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและรายได้ประชาชน โดยเฉพาะคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส
แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าหมายผลสัมฤทธิ์เอาไว้ 4 อย่าง คือ
1) สิ่งแวดล้อมได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ
2) มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ บนฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม
3) ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการรักษาและฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน
4) เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ ลดความขัดแย้งของการพัฒนาที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติ บรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และลดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ได้ตั้งค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดแบบรวบยอดไว้ 2 ประการ ซึ่งคนทั่วไปอาจเข้าใจยากสักหน่อย ได้แก่ ในปี 2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับ top 50 ของโลกในด้านความยั่งยืนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม (SDGs) และ top 114 ในด้านความหลากหลายทางพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และถิ่นที่อยู่ (BHI)
สำหรับประเด็น big rock และเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบสูง รวมทั้งตัวชี้วัดเป้าหมายที่ประชาชนสนใจ มีดังนี้
1. เพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ตามเป้าหมาย
– พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ 40% โดยเป็นป่าอนุรักษ์ 25% และป่าเศรษฐกิจ-ป่าชุมชน 15%
– ฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินป่าไม้ทั่วประเทศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (ทุกป่า ทุกจังหวัด-อำเภอ)
– จำนวนโครงการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ฯที่ได้รับอนุมัติอนุญาตในรอบปี และจำนวนประชาชนผู้รับประโยชน์(คน ครัวเรือน ชุมชน)
2. การบริหารเขตทางทะเลและชายฝั่งรายจังหวัด
– ร่าง พรบ.การกำหนดและปรับปรุงเขตการปกครองของจังหวัดทางทะเล พ.ศ….(23 จังหวัด)
3. การบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนนอกเขตชลประทาน
– จำนวนโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน งบประมาณ และ พื้นที่ดำเนินการ
4. ปฏิรูประบบบริหารจัดการเขตควบคุมมลพิษ
– กรณีมาบตาพุดเป็นต้นแบบที่มีผลสัมฤทธิ์
5. ข้อเสนอปรับปรุงกฎหมายและอื่นๆ
– ระบบฐานข้อมูล และระบบ Big Data ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึง
– ตัวอย่างรูปธรรมมาตรการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ (SEA) ที่ประชาชนสามารถเรียนรู้ได้
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา / 4 พฤศจิกายน 2564.
