รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 124) “พรป.พรรคการเมือง ระวังเลยธง”

ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565  มีข้อเสนอร่างแก้ไข พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯเข้าสู่การพิจารณา รวม 6 ฉบับ

ได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2. ทวี สอดส่อง 3.ชลน่าน ศรีแก้ว 4.วิเชียร ชวลิต 5.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 6. อนันต์ ผลอำนวย

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 124) “พรป.พรรคการเมือง ระวังเลยธง”

ในร่างของรัฐบาลและฝ่ายพรรคร่วม เน้นเฉพาะมาตราที่จะให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่  ส่วนร่างของพรรคฝ่ายค้านได้ถือโอกาสพ่วงประเด็นแอบแฝงเข้ามามากมาย จนทำท่าจะ “เลยธง”

ในที่สุด เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบรับหลักการในวาระที่ 1 เฉพาะของฝ่ายรัฐบาลทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1  4  และ 6  ส่วนที่เหลือไม่ผ่านความเห็นชอบ 

สาระสำคัญที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมในคราวนี้ มี 11 ประเด็น บางส่วนตกไปแล้วเพราะไม่ผ่านหลักการในวาระที่ 1 แต่ก็ต้องเฝ้าระวังมิให้หลุดลอดสายตาในชั้นกรรมาธิการอีก ได้แก่

1.ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรค

พรรคฝ่ายค้านเสนอลดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมือง( 100 บาท/ปี  2,000 บาทตลอดชีพ)

2.ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

ให้สำนักงานตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทำหน้าที่ โดยไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลื่องตั้งสาขาพรรคประจำเขต 

3.จำนวนสมาชิกขั้นต่ำและสาขาพรรค

ให้ยกเลิกเงื่อนไขจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองขั้นต่ำ 5,000 คน และบังคับให้ขยายเป็น 10,000 คนภายใน 4 ปี  รวมทั้งการตั้งสาขาพรรคการเมืองครบทุกภาค

4.การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ให้ยกเลิกเงื่อนไขบังคับพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

5.การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ยกเลิกระบบการเลือกตั้งขั้นต้น โดยให้ใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นเสนอแนะจากสมาชิกพรรคในเขตเท่านั้นเป็นพอ

6.การสรรหาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ 

ให้แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ดังนี้ 

1)ให้ระบุชัดเจนว่า ผู้มีสิทธิเสนอรายชื่อ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 

2)ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเปลี่ยนจากจำนวนไม่เกิน 150 รายชื่อ เป็นไม่เกิน 100 รายชื่อ 

3) สมาชิกพรรคการเมืองสามารถลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับการสรรหาได้ไม่เกิน 10 รายชื่อ 

7.ความเท่าเทียม

การส่งผู้สมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้คำนึงถึง“ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” และความหลากหลายทางเพศ

8.ข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัคร

ยกเลิกข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

9.การจัดสรรเงินสนับสนุนพรรค

ให้จัดสรรเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ตามจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง

10.อำนาจในการยุบพรรคการเมือง 

ให้ยกเลิกอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง

11.บทกำหนดโทษ

ให้ยกเลิกบทกำหนดโทษการฝ่าฝืนข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัคร สส. แบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

นอกจากรัฐสภาลงมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองทั้ง 3 ฉบับแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้น เมื่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นชอบให้ใช้ร่าง พรป.ฉบับของนายวิเชียร ชวลิตกับคณะ เป็นหลักในการพิจารณาในวาระที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 309 / 141 แทนที่จะใช้ร่างของ ครม.เป็นหลักกันตามปกติ 

มติยังได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ เป็นผู้พิจารณาควบคู่กันไป กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน

น่าสังเกตุว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ ตามที่เสนอกันมา รวมทั้งที่อภิปรายกันมีการแตกประเด็นออกไปอีกมาก ทั้งๆที่จุดเริ่มต้นของการแก้ไขเพิ่มเติม พรป.ในครั้งนี้ มาจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 83  86  และ 91 ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยน สัดส่วน สส.เขต/บัญชีรายชื่อ จาก 350/150 เป็น 400/100 และเปลี่ยนระบบบัตรลงคะแนนจากใบเดียวเป็นระบบบัตรสองใบ เท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่า ประเด็นที่เสนอเข้ามาส่วนใหญ่เป็นลักษณะที่ “อาศัยโดยสาร” เข้ามากันมากมาย จนดูจะเกินขอบเขตดังกล่าวไปไกล  ดังนั้นถ้าหากว่ากรรมาธิการหรือรัฐสภาเกิดใช้เสียงข้างมากลากไปจนถึงขั้น “เลยธง”  ดังกล่าว ก็เป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มประชาชน องค์กร หรือสถาบันที่เกี่ยวข้อง ทำการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย 

จึงควรที่สังคมจะได้ช่วยกันจับตาและติดตาม อย่างรู้เท่าทัน.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา /  4 เม.ย. 2565