มนต์รักป่าซาง พลังเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ไม่อาจมองข้าม | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 14/2566)

ด้วยชื่อเสียงผลงานชุมชนจัดการขยะที่ได้รับรางวัลในระดับชาติจำนวนมากมาย  ทำให้คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปฯของวุฒิสภา สนใจลงไปศึกษาดูงานพื้นที่ชุมชนบ้านป่าบุก เทศบาลตำบลแม่แรง จังหวัดลำพูน

อีกทั้งยังได้สังเกตุพบประเด็น “เศรษฐกิจท้องถิ่น” ที่ไม่อาจมองข้าม

ชุมชนจัดการขยะ

บ้านป่าบุกเป็นชุมชนขนาดเล็ก บรรพบุรุษดั้งเดิมเป็นชาวไทยองที่อพยพมาจากเมืองยอง รัฐฉานของพม่า  บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นบุกขึ้นหนาแน่นจึงตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน มีประชากร 385 คน 90 หลังคาเรือน เกือบทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีสวนลำใยหลังบ้านและพืชผักสวนครัว 

ปี 2548 มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกและระบบทางเดินหายใจ ชาวบ้านล้มป่วยกันมาก พ่อหลวงสนั่น สมจันทร์ นำพาชาวบ้านกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเผาหญ้า จัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน สมาชิกทุกหลังคาเรือนเข้าร่วมกันอย่างแข็งขัน จนกลายเป็นชุมชนปลอดขยะ (ขยะเป็นศูนย์)

ส่วนเทศบาลตำบลแม่แรง ช่วยให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการคัดแยกขยะจากเศษอาหาร อบรมการจัดการขยะอย่างครบวงจร พาศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพื้นที่ใกล้เคียง ทางวัดมีกิจกรรม “บิณฑบาตรักษ์โลก” ลดการใช้ถุงพลาสติกใส่อาหาร ทำต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี มีส่วนช่วยกระตุ้นจิตสำนึกชาวบ้าน โรงเรียนมีพื้นที่สร้างอาหารปลอดสารพิษและใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตเองในชุมชน

กระบวนการเวทีประชาคม ผู้นำชุมชนพุ่งเป้าจัดการขยะชุมชน 4 อย่าง คือ ขยะในงานศพ ขยะในสวน ขยะตามท้องถนน และขยะในบ้าน  จัดทำเป็น “ธรรมนูญบ้านป่าบุก” ที่ชุมชนยึดถือปฏิบัติร่วมกัน เด็กๆในหมู่บ้านตั้งกลุ่มสารวัตรขยะ ออกตระเวนขี่จักรยานเก็บขยะทั่วหมู่บ้านทุกวันอาทิตย์ คัดแยกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ พลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว และขยะอันตราย คัดแยกแล้วนำไปพักไว้ที่ “ตลาดรีไซเคิล” ของหมู่บ้าน ทุกเดือนจะมีรถมารับซื้อขยะไปรีไซเคิลต่อ ส่วนขยะอันตรายจะส่งมอบให้เทศบาลไปกำจัดอย่างถูกวิธี เงินที่ได้จากขายขยะนำไปฝากไว้ในกองทุนของหมู่บ้านและนำมาจัดสวัสดิการชุมชน

เศรษฐกิจท้องถิ่นป่าซาง

เมื่อได้ฟังว่าชุมชนนำเศษผ้ามาเย็บเป็นกระเป๋า ถุงย่ามและผ้าเช็ดเท้า ทำเท่าไรก็ขายหมด คณะศึกษาดูงานจึงสนใจซักถามว่ามีเศษผ้าเหล่านั้นเพียงพออยู่หรือ เอามาจากไหน 

ท่านนายกเทศมนตรีให้ข้อมูลว่า ชุมชนมีหลายกลุ่ม มีอาชีพทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งขายทั่วภาคเหนือ ส่งตลาดโบ้เบ้และคนประเทศตะวันออกกลางชอบใช้มาก ที่นั่นเขาใช้เสื้อผ้าซ้ำเก่าทุกวันจนหมดสภาพ ไม่มีการซัก สินค้าของเราจึงเป็นที่นิยมมาก แต่ไม่วายโดนพ่อค้าคนกลางกดราคา จึงต้องขวนขวายหาทางส่งออกกันเอง รวมทั้งการซื้อขายผ่านออนไลน์ มีมูลค่าเป็นหลักร้อยล้าน เศษผ้าไม่ต่ำกว่า 5 ตัน ถูกรีไซเคิลร้อยเปอร์เซ็นต์

คณะดูงานของเราจึงหันไปสนใจเรื่องเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นหรือเศรษฐกิจฐานราก โดยมองเปรียบเทียบกับระบบเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขัน ในขณะที่จังหวัดลำพูนมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นฐานผลิตสินค้าส่งออกและเป็นเครื่องปั้ม GDP ให้กับประเทศ คนลำพูนส่วนใหญ่ยังคงยากจนอยู่กับต้นลำใยและการเกษตรแบบดั้งเดิม  

“ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่แข็งแรงน่าจะเป็นคำตอบ”

เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น แตกต่างจากระบบเศรษฐกิจเพื่อการแข่งขันตรงที่ การมีเป้าหมายอยู่ที่การกินดีอยู่ดีร่วมกันของสมาชิกในชุมชน ไม่มีคนยากจน-คนถูกทอดทิ้ง มีความพอดีพอเพียง มีปัจจัยสี่ครบถ้วน มีสัมมาชีพถ้วนหน้า ชุมชนรักสามัคคี  อยู่เย็นเป็นสุข (GDH)  รู้สึกปลอดภัย บ้านช่อง-ถนนหนทางสะอาด ชุมชนมีสวัสดิการเสริมของตนเองอย่างหลากหลาย  ทั้งนี้ระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นของเรามักตั้งอยู่บนฐานของเกษตรกรรม การแปรรูปสินค้าเกษตร หัตถอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติ

ป่าซาง เป็นชุมชนเก่าแก่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา อำเภอตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำทากับแม่น้ำปิง  ในอดีตเมื่อครั้งพระเจ้ากาวิละขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินล้านนาได้แล้ว ทรงรวบรวมสะสมไพร่พลไว้ที่ป่าซาง ตั้งชื่อว่าเวียงเวฬุคาม  ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำกวงด้านทิศตะวันตก มีแนวกำแพงเมืองลักษณะในรูปเกือกม้าหรือรูปครึ่งวงเดือน คูน้ำที่ล้อมรอบเวียงใช้น้ำไหลเข้าจากน้ำแม่ทา กำแพงเมืองกว้าง 1 เมตร มีป้อมยามรักษาการณ์ตลอดแนวกำแพง ระยะห่างประมาณ 100 เมตร ปัจจุบันยังคงมีซากกำแพงเมืองให้ได้เห็น

ป่าซางมีประชากร 55,000 คน ประกอบด้วย 9 ตำบล 90 หมู่บ้าน 4 เทศบาลตำบล และ 4 องค์การบริหารส่วนตำบล ด้วยรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีโบราณที่ร่วมกันมากับเมืองหริภุญไชยและพระนางจามเทวี ป่าซางยังคงมีโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนมากมาย อาทิ  แหล่งศิลาแลง วัดป่าเหียง หอศิลป อุทยานธรรมะ ตลาดสินค้าพื้นเมืองป่าซาง วัดพระบาทตากผ้า วัดหนองเงือก แหล่งทอผ้าบ้านหนองเงือก ถ้ำเอราวัณ วัดบ้านเหล่าพระเจ้าตาเขียว ฯลฯ.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 1 พฤษภาคม 2566