ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เศรษฐกิจชุมชนในเมืองท่องเที่ยวระดับโลก | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 15/2566)

คณะติดตามเสนอแนะยุทธศาสตร์ชาติด้านการแข่งขันของวุฒิสภา ลงไปเยี่ยมพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในฐานะที่เป็นจังหวัดสำคัญในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ

โชคดีที่ได้สัมผัสบรรยากาศของ เศรษฐกิจชุมชนย่านเมืองเก่า นับเป็นเสน่ห์ซ่อนเร้นที่น่าค้นหาในเมืองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกระแสหลักระดับโลก

“ย่านเมืองเก่าภูเก็ต เศรษฐกิจชุมชนในเมืองท่องเที่ยวระดับโลก” | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 15/2566)

ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต

ย่าน เป็นชุมชนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้านหรือชุมชนทั่วไป อย่างเช่นย่านเมืองเก่าของภูเก็ตที่กำลังพูดถึงนี้ ประกอบด้วยชุมชนที่ตั้งเรียงรายตามแนวถนนสั้นๆ 10 สาย อาทิ ถนนรัษฎา ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระบี่ ถนนดีบุก และถนนถลาง 

ชุมชนในย่านเมืองเก่าที่นี่ ได้หล่อหลอมวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบมารวมกันและยังคงมีการอนุรักษ์อาคารและบ้านพักอาศัยเป็นสไตล์ชิโนโปรตุกีส ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสิงคโปร์และปีนัง  ผสมผสานระหว่างตะวันออกและตะวันตกในแหลมมลายูยุคจักรวรรดินิยม

ภูเก็ต มีสมญาว่าไข่มุกอันดามัน มีทรัพยากรธรรมชาติสวยงามดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเยือน ที่นี่เคยรุ่งเรืองในการทำเหมืองแร่ดีบุก ก่อนที่จะเป็นเมืองท่าเมืองตากอากาศ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศในปัจจุบัน

ท่ามกลางการท่องเที่ยวกระแสหลัก ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ตบังเกิดความตระหนักในความเติบโตทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางสังคมในด้านต่างๆ จึงลุกขึ้นมารวมตัวกันอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ โดยคำนึงถึงเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นที่เอื้อต่อความอยู่รอดและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน มากกว่าที่จะกอบโกยและเอาตัวรอดเฉพาะตัว 

เราจึงเห็นความรัก สามัคคี เคารพกติกาชุมชนและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อาคารเก่าในย่านเมืองเก่าภูเก็ตมีอายุกว่า 100 ปี โดยเจ้าของหรือผู้ที่ครอบครองยังเป็นคนเดิม เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ความเป็นชุมชนที่เข้มแข็งทำให้สืบสาน ส่งต่อ จนกลายเป็นมนต์เสน่ห์ของย่านเมืองเก่าที่แตกต่าง 

ปี 2560 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าภูเก็ต บนเนื้อที่ 2.7 ตารางกิโลเมตร มีอาคารเก่าเรียงรายในพื้นที่ประมาณ 210 ไร่ หลายหน่วยงานเข้ามาร่วมกันส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ต่อมากรมศิลปากรร่วมกับจังหวัดภูเก็ตได้นำเสนอให้ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 

ชุมชนได้นำอาคาร สถาปัตยกรรมมาเป็นทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงอาคารให้สวยงามมากขึ้น  ทำให้ CNN ยกให้เป็น 1 ใน 13 เมืองสวยในเอเชีย เป็นที่ภาคภูมิใจ ทำกิจการร้านค้ารองรับนักท่องเที่ยว บ้านที่อยู่อาศัยเดิมเคยปิดไว้ก็เปิดเป็นร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก มีเรื่องราวของบ้าน มีขนมโบราณ ผัดหมี่ฮกเกี้ยน เครื่องดื่มบริการทุกคนที่มาเยือน เป็นที่พึงพอใจ 

ปัจจุบันมีคณะกรรมการชุมชนช่วยกันดูแล การก่อสร้างต่อเติมอาคารในเขตนี้จะได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบจากหลายภาคส่วน รวมทั้งเทศบาลนครภูเก็ตเริ่มกำลังศึกษาแนวทางการออกเทศบัญญัติคุ้มครองอาคารเก่าและการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิต

ททท. สนับสนุนส่งเสริมขับเคลื่อนชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตมากว่า 10 ปี ได้นำเสนอข้อมูลส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไปยังเอเย่นต์ทัวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นสินค้าหลักของท่องเที่ยวภูเก็ต ทำโรดโชว์ จัดพบปะบริษัทนำเที่ยวในตลาด ทั้งยุโรปและเอเชีย

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว 

สถานที่ตั้ง ถนนกระบี่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต  เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนของภาคเอกชน จัดตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงประวัติศาสตร์เรื่องราวของชาวจีนที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาอยู่จังหวัดภูเก็ต ให้ลูกหลานคนจีนและคนไทยได้รู้จักที่มาของบรรพชนอย่างถูกต้อง ตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริง รวมทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างประเทศที่สนใจศึกษาและเข้าใจความเป็นอยู่ วัฒนธรรมและอุปนิสัยใจคอของชาวภูเก็ต เป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่นที่ครบถ้วน

พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว สร้างขึ้นเมื่อปี 2447 โดยชาวจีนฮกเกี้ยน บรรพบุรุษรุ่นแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ใช้อาคารที่เคยเป็นศาลเจ้าเดิม มีโรงเรียนสอนภาษาจีนชั้นสูง ฮั่วบุ่น ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เป็นอาคาร 2 ชั้น มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนภูเก็ตจุงหัว และภูเก็ตไทยหัวตามลำดับ พิพิธภัณฑ์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2551 ดำเนินการโดยมูลนิธิกุศลสงเคราะห์ จังหวัดภูเก็ต 

อาคารพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัวผ่านการบูรณะให้มีสภาพสมบูรณ์สวยงามละเมียดละไมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ด้านบนยังใช้เป็นห้องเรียนภาษาจีน ด้านล่างเป็นห้องแสดงนิทรรศการ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาวจีนฮกเกี้ยนที่เดินทางมายังภูเก็ต 

จัดแสดงเป็น 15 ห้อง ประกอบด้วย 1) ห้องจากแดนพญามังกร 2) สายธารสัมพันธ์ 3) สัมพันธ์ภูเก็ตจีน 4) น้ำใจพี่น้อง 5) ดูอดีต 6) วิถี 7) หนึ่งยุคสมัย 8) สีสันพันกาย 9) ครูสุ่นปิ่น 10) โรงเรียนจีน 11) คนจีนสร้างเมือง 12) สืบทอด 13) วัฒนธรรมการกิน 14) ล๊อกเซี่ยนก๊ก 15) กิจกรรม นำเสนอด้วยสื่อมัลติมีเดีย ทันสมัย สนุกสนาน เข้าใจง่าย นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางศิลปะวัฒนธรรมที่น่าสนใจจำนวนมาก เช่น งานไหว้พระจันทร์ งานวิวาห์บาบ๋า เป็นต้น.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 8 พฤษภาคม 2566