เมื่อพายุก่อตัวจากเบื้องซ้าย | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 17/2566)

การเลือกตั้ง 2566 สะท้อนชัดเจนว่าการเมืองไทยเข้าสู่ยุคแห่งการสร้างภาพลักษณ์ สงครามข้อมูลข่าวสาร และการแบ่งขั้วแยกฝ่ายที่ชัดเจน 

จะด้วยเหตุปัจจัยนำเข้าอะไรบ้างก็ตาม ผลการเลือกตั้งขั้นต้นตามที่ กกต. และสื่อมวลชนรายงาน ได้ส่งสัญญาณจากอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ให้ซีกฝ่ายค้านเดิมมาบริหารประเทศดูบ้างจะเป็นไง

เมื่อพายุก่อตัวจากเบื้องซ้าย | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 17/2566)

แต่นั่นก็เป็นเพียงขั้นตอนการผ่านด่านแรกเท่านั้น เงื่อนไขสำคัญอยู่ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดชนะเด็ดขาดจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ดังนั้นในขั้นตอนที่สองจึงเป็นภารกิจที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย (ในฝั่งเดียวกัน) ผู้ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งและสอง จะต้องใช้ความพยายามประสานความร่วมมือหาพรรคอื่นๆมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ให้มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้เสียก่อน อย่าเพิ่งไปห่วงว่าสมาชิกวุฒิสภาจะโหวตรับรองหรือไม่

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ควรรับทราบก็คือ เป็นหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้นที่จะต้องตกลงกันให้ได้ว่าเสียงส่วนใหญ่จะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีหน้าที่รับรองหรือไม่รับรอง โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ถ้าพรรคการเมืองใดสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. (251 เสียง) จะมี ส.ว. จำนวนมากเพียงพอที่จะให้การรับรองการจัดตั้งรัฐบาลได้ (เกิน 376 เสียง) ไม่ว่าแกนนำจะเป็นพรรคลำดับ 1 หรือ 2 หรือ 3 ก็ตาม

การลงมติให้การรับรองบุคคลผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภา เป็นหน้าที่และอำนาจที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 272 ซึ่งเป็นภารกิจที่เขาออกแบบไว้ให้ทำหน้าที่ส่งผ่านระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวุฒิสภาชุดเฉพาะกาลนี้จะหมดวาระลงภายอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าพร้อมกับระยะเวลาของบทเฉพาะกาลดังกล่าว  แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขไปเป็นอย่างอื่น ทุกฝ่ายก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะบางประการ

  1. สังคมต้องเรียนรู้และปรับตัว   รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นไม่ว่าจะมีหน้าตาอย่างไร มีพรรคการเมืองใดเป็นแกนนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดขึ้นมาตามกระบวนการประชาธิปไตย ต่างก็เป็นรัฐบาลของคนไทยและเป็นตัวแทนของประเทศ ในสถานการณ์เช่นนี้ สังคมไทยควรต้องยอมรับ เรียนรู้และปรับตัวที่จะดำเนินชีวิต ทำหน้าที่การงานและทำมาหากินภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลฝั่งซ้ายกันดูบ้าง 
  2. ร่วมกันทำเรื่องใหญ่เรื่องยาก   ภาคประชาสังคม นักพัฒนาและพลังพลเมืองอิสระทั้งหลาย ควรสนับสนุนให้รัฐบาลใหม่ทำเรื่องสำคัญหรือเรื่องใหญ่เรื่องยากที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในรัฐบาลฝั่งขวา อีกทั้งลงทุนลงแรงช่วยกันทำให้สำเร็จ อาทิ ปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน กระจายอำนาจ แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แก้ยาเสพติด ฯลฯ  ส่วนนโยบายใดที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงภายในสังคม ก็ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง เตือนสติรัฐบาล ไม่ให้บุ่มบ่าม สุดโต่ง ไม่ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน อีกทั้งพร้อมปฏิบัติการในเชิงปกป้องคุ้มครองสถาบันหลักของชาติอย่างถึงที่สุดเช่นกัน
  3. ปรับโหมดการทำงาน  พรรคแกนนำในรัฐบาลผสมต้องปรับเปลี่ยนโหมดการทำงานจากเดิมที่เคยใช้วิถีต่อสู้ฟาดฟันคู่แข่งในสนามมวยหมู่ อีกทั้งบุคลิกท่าทีที่ใช้ในการทำงานตรวจสอบและสถานะของผู้ท้าชิง บัดนี้เมื่อได้ฝ่าอุปสรรคขวากหนามมาจนได้รับการชูมือแล้ว  ควรเปลี่ยนมาเป็นโหมดการเจรจาหาพันธมิตรมาร่วมทำงาน เป็นภารกิจของแชมป์ที่ต้องมีการเจรจาต่อรอง การประนอมอำนาจและผลประโยชน์ การเคารพ จริงใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมทั้งเคารพฐานมวลชนของพรรคพันธมิตรที่เลือกพวกเขาเข้ามาด้วย จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้และทำงานตลอดรอดฝั่ง
  4.  สามัคคีเป็นปึกแผ่น  นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีหน้าที่และอำนาจในการสร้างความสามัคคีปรองดองและความสงบเรียบร้อยในสังคม ต้องรักษากฎหมาย ไม่ให้ท้ายหรือยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด ผู้นำต้องกำกับดูแลพฤติกรรมการทำหน้าที่ของ ส.ส. และพลพรรคทั้งในและนอกสภา รวมทั้งกองกำลังในโลกไซเบอร์ ปรับเปลี่ยนเข้าสู่โหมดการสร้างสรรค์พัฒนา ประสานมือประสานใจภายใต้ธงนำของรัฐบาลและรัฐสภา ที่ผ่านมาการพูดวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคนอื่นนั้นอาจทำได้ง่าย บัดนี้ถึงเวลารับผิดชอบแก้ปัญหาให้ประชาชนแล้ว ต้องแสดงฝีมือกันให้เต็มที่ พร้อมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ มุ่งสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 22 พฤษภาคม 2566