ธุรกิจไม้ขุดล้อม เศรษฐกิจชุมชนที่แก่งคอย

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 22/2566)

คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ลงพื้นที่ไปศึกษาเครือข่ายธุรกิจไม้ขุดล้อม

ที่ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ก่อนไปได้ตั้งประเด็นส่งไปว่าในตำบลชะอมมีคนยากจน รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปีบ้างหรือไม่ อยากรับทราบปัญหาจากคนเหล่านั้น

ธุรกิจไม้ขุดล้อม เศรษฐกิจชุมชนที่แก่งคอย | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 22/2566)

เมื่อลงไปถึงพื้นที่ ลุงสายบัว พาศักดิ์ ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านกิจการไม้ขุดล้อมและคณะผู้นำชุมชนท้องถิ่น ให้ข้อมูลว่าไม่สามารถหาคนจนตามโจทย์ที่ส่งมาได้เลย  เพราะคนที่นี่เขามีรายได้ขั้นต่ำ 30,000 บาท/เดือน หรือบางคนต่อสัปดาห์ก็มี จากการทำอาชีพธุรกิจไม้ขุดล้อม ที่มีการพัฒนาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ต่อเนื่องมา 30 ปี 

จุดเริ่มการทำธุรกิจไม้ขุดล้อมที่นี่ เกิดขึ้นเมื่อครั้งท่านอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ แห่งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน แนะนำชาวบ้านว่าสนามกอล์ฟและบ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย ตลาดน่าจะต้องการผืนหญ้าและต้นไม้ที่โตแล้วเพื่อเอาไปตกแต่งสถานที่ให้สวยงามแบบสำเร็จรูป

ด้วยวิสัยทัศน์เช่นนี้ เริ่มแรกมีผู้เข้าร่วมเพียง 4-5 ครัวเรือน แต่เมื่อบุกเบิกพัฒนาเรื่อยมาจนเกิดความรู้ความเชี่ยวชาญ ธุรกิจเจริญเติบโตอย่างมั่นคง ปัจจุบันเกษตรกรชาวบ้านในตำบลชะอม 5,000 ครัวเรือน ร้อยละ90 ทำงานที่เกี่ยวข้องกับไม้ขุดล้อม มีตั้งแต่เพาะปลูกเอง ขายอย่างเดียว หรือรับจ้างปลูกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไม้ขุดล้อม 

ธุรกิจการทำเกษตรแบบใหม่นี้เป็นที่นิยมขยายตัวไปสู่จังหวัดใกล้เคียงและต่างภูมิภาคอีกหลายจังหวัด เช่น นครนายก ปราจีนบุรี นครสวรรค์ ชลบุรี อุบลราชธานี ราชบุรี ฯลฯ เกิดความรู้และภูมิปัญญาที่แตกแขนงกันออกไปโดยมากเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน  

สำหรับตำบลชะอม ครัวเรือนที่ทำไม้ขุดล้อม เฉลี่ยมีที่ดินประมาณ 10 ไร่ และมีหน้าร้านหรือซุ้มขายเองประมาณ 400 ราย เพิ่มขึ้นทุกปี ที่ล้มเลิกกิจการไปแทบไม่มี  ค่าแรงขั้นต่ำในตำบลนี้อยู่ที่ 500 บาทเพราะธุรกิจมีกำไรมากพอสมควร

จากรายงานการศึกษาของ ดร.โสภณ พรโชคชัย แห่งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย พบว่าไม้ที่ขายกันในตำบลนี้มีนับร้อยชนิด ที่นิยมมากได้แก่ ต้นคูน อินทนิล เสลา ตะแบก เสม็ดแดง มั่งมี ฯลฯ  ในการทำธุรกิจไม้ขุดล้อมชุมชน เริ่มจากการปลูกต้นกล้า ส่วนมากเพาะจากเมล็ด ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกถี่มาก ระยะห่างต้นละ 1 เมตร จำนวน 1,600 ต้น ผ่านไป 1 ปี จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ส่วนที่เหลือรอดจะมีมูลค่าประมาณ 35,000-50,000 บาท รายได้นี้ดีกว่าการปลูกข้าว มันสัมปะหลัง ข้าวโพด ( 8,500-10,000 บาท/ไร่)  ถ้าอายุ 2 ปี ขนาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 นิ้ว จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นไร่ละ 55,000 บาท

กรรมวิธีในขั้นตอนการขุดล้อม เกษตรกรจะขุดห่างจากรอบลำต้นเพียงแค่หนึ่งฝ่ามือและขุดลึกลงไปราว 20 เซนติเมตร และนำมาตั้งไว้รอขาย เป็นกระบวนการย้ายต้นไม้โดยขุดดินโดยรอบพร้อมราก เก็บรักษาและบำรุงระบบรากแก้วและรากฝอยให้ครบถ้วน การขุดดินจะไม่ลึกลงไปมากนัก  แม้เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่อายุ 50 ปี ก็ขุดให้เหลือรากไว้ไม่เกิน 60 เซนติเมตรจากโคนต้น ห่อหุ้มรากและดินเป็นตุ้มกลมๆเอาไว้เท่านั้น

กำไรของการปลูกไม้ขุดล้อมดีกว่าธุรกิจการเกษตรอื่นมาก โดยไม้ขุดล้อมมีต้นทุนในปีแรกประมาณ 10,000 บาทต่อไร่ หากขายได้ 35,000 บาท ก็ได้กำไรถึง 25,000 บาทต่อไร่แล้ว (250%)  ปกติไม้ที่ขุดล้อมขึ้นมาตั้งไว้ขาย จะสามารถขายได้ในเวลา 3 เดือน โดยต้นหนึ่งอาจซื้อมาในราคา 300 บาท แต่เมื่อเลี้ยงจนแตกยอด (รอดตายแน่แล้ว) ก็อาจขายได้ถึง 1,500 บาท

กลุ่มผู้ซื้อก็คือหมู่บ้านจัดสรร โครงการอาคารชุด สนามกอล์ฟ นิคมอุตสาหกรรม สถานีบริการน้ำมัน บ้านคหบดี หรือกระทั่งตลาดไม้ดอกซึ่งจะซื้อไม้ขุดล้อมไปวางขายด้วย ฯลฯ  ลูกค้าประจำมีประมาณ 40%-60%  ปัจจุบันยังมีบริการขายไปถึงต่างประเทศอีกด้วย

นอกจากการปลูกและขายไม้ขุดล้อมแล้ว ชุมชนตำบลชะอมยังไปเร่หาซื้อไม้ในพื้นที่อื่นโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีทั้งต้นไม้ใหญ่บริเวณหัวไร่ปลายนาที่เจ้าของไม่ต้องการ อยากให้เอาออกเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในการทำนา ขายเป็นไม้ขุดล้อมมีราคาดีกว่าการเผาถ่านแน่นอน ปัจจุบันตลาดซื้อขายไม้ตามหัวไร่ปลายนามีมากขึ้น ราคาสูงขึ้น 

การซื้อและขนส่งไม้เหล่านี้ต้องมีสัญญาซื้อขาย ระบุหมายเลขโฉนดที่ดิน แสดงที่ตั้งของต้นไม้  เพื่อจะไม่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการไปแอบขุดไม้จากในป่า  การขุดไม้ตามป่าเขาทำได้ยากกว่าและต้นทุนสูง เพราะอยู่ตามซอกหินหรืออยู่ในป่าลึก ไม่คุ้มค่า และเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย

นี่เป็นตัวอย่างของการทำการเกษตรอีกรูปแบบหนึ่ง สามารถสร้างรายได้จากผืนดินได้มากกว่าการทำเกษตรพืชหลักแบบดั้งเดิม ทั้งยังพัฒนาเป็นธุรกิจครัวเรือน ธุรกิจชุมชนท้องถิ่น และขยายตัวเป็นเครือข่ายธุรกิจข้ามจังหวัด ข้ามภูมิภาคได้อย่างมั่นคง. 

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 26 มิถุนายน 2566