คลองกระ คลองไทย บริบทที่เปลี่ยนไป

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 25/2566)

ในช่วงสิบปีมานี้  มีกระแสการผลักดันยุทธศาสตร์การขุดคลองเชื่อมสองมหาสมุทรกลับมาโหมอีกครั้ง

โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในการนำพาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืน  จึงกลายเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายทางเลือกอันหนึ่ง ที่มีการขับเคลื่อนทางสังคมทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน รวมทั้งภายในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ก็มีจุดยืนและความคิดเห็นแตกเป็นสองแนวอย่างชัดเจน

คลองกระหรือคลองไทย เป็นคลองในจิตนาการที่เกิดจากแนวคิดการก่อสร้างคลองขนาดใหญ่ตัดผ่านแผ่นดินภาคใต้เพื่อสนับสนุนการขนส่งภายในพื้นที่และเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย อันจะเป็นทางเลือกในการสัญจรผ่านช่องแคบมะละกาและทำให้การขนส่งน้ำมันไปญี่ปุ่นและจีนสั้นลง 800-1,200 กิโลเมตร  

แต่เนื่องจากการขุดคลองแบบนี้ไม่เหมือนกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่โดยทั่วไป เพราะจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์และภูมิประเทศอย่างถาวรตลอดไป ซึ่งตามแบบแผนล่าสุด คลองไทยแนว 9 A จะมีความยาว 135 กิโลเมตร กว้าง 400 เมตร และลึก 25-30 เมตร  ตัดผ่านพื้นที่จังหวัดตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา งบประมาณลงทุน 2.3 ล้านล้านบาท มีการศึกษาสำรวจหลายครั้ง แต่หลายฝ่ายยังกังวลกันมาก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ และความคุ้มค่าการลงทุน

ย้อนรอยประวัติศาสตร์

ย้อนกลับไปในยุคอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา ตอนนั้นอาณาจักรสยามมีอิทธิพลแผ่คลุมไปทั่วทั้งคาบสมุทร เลยไปถึงหัวเมืองทางฝั่งทะเลอันดามัน ย่านปากแม่น้ำสาละวินและอิระวะดี คือ ตะนาวศรี มะริด ทวาย  ในตอนนั้นคงไม่มีแรงกดดันหรืออาจยังไม่มีความรู้และจินตนาการในเรื่องการขุดคลองข้ามคาบสมุทร  เพราะยังสามารถติดต่อเดินทางค้าขายออกสู่ทะเลได้ทั้งสองฟากฝั่งอย่างสะดวกสบาย

ภายหลังที่ทรงประกาศอิสรภาพจากพม่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้แผ่ขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง พระเอกาทศรถก็ทรงสานต่อการค้าต่างประเทศของกรุงศรีอยุธยาจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ มีความสัมพันธ์อันดีกับโปรตุเกส ฟิลิปปินส์ (ในการปกครองของสเปน) จีน ญี่ปุ่นและรีวกีว รวมทั้งควบคุมหัวเมืองตะนาวศรีและทวายทางฝั่งอ่าวเบงกอลด้วย   

มาในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงรับความช่วยเหลือของคนต่างด้าว อนุญาตให้เผยแผ่ศาสนาคริสต์และมีคณะเยซูอิตมาช่วยเหลือราชสำนักอยุธยาในด้านการช่าง ส่งทูตไปยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส  นักแสวงโชคชาวกรีกสามารถไต่เต้าตำแหน่งราชการในพระคลังจนสุดท้ายเป็นถึงสมุหนายก ตำแหน่งสูงสุดของขุนนางฝ่ายพลเรือน  เกิดความวุ่นวายภายใน กบฏและรัฐประหาร อย่างต่อเนื่อง

กล่าวกันว่าแนวคิดการก่อสร้างคลองมีมาตั้งแต่สมัยนั้น ราวปี ค.ศ.1677 ทรงศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างทางน้ำตัดผ่านคอคอดกระเพื่อเชื่อมต่อสงขลากับมะริด สองหัวเมืองสำคัญของราชอาณาจักร แต่เทคโนโลยีในขณะนั้นยังไม่เจริญก้าวหน้าพอ  

ยุคสมัยเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน

แนวคิดการขุดคลองกระมาถูกรื้อฟื้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 (ค.ศ.1793) มีข้อเสนอให้ก่อสร้างเพื่อป้องกันชายฝั่งด้านตะวันตกจากเรือรบของต่างชาติ  แต่ภายหลังเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  การสำรวจพื้นที่ในปี ค.ศ.1863 พบว่าไม่สามารถก่อสร้างได้  จนกระทั่งต่อมาเมื่อจักรวรรดิอังกฤษประสงค์จะให้ท่าเรือสิงคโปร์สามารถควบคุมการค้าในย่านนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงมีข้อตกลงระหว่างกันที่จะไม่มีการก่อสร้างคลองในบริเวณดังกล่าว

มาในสมัยประชาธิปไตย แนวคิดการขุดคลองกระยังคงไม่สูญหาย แต่เนื่องจากมีปัจจัยตัวแปรที่สลับซับซ้อนเพิ่มกว่าเดิมมาก ประเทศเมืองขึ้นรอบบ้านต่างได้รับเอกราชโดยพื้นที่เขตแดนที่สยามเคยเสียไปไม่อาจทวงคืน อีกทั้งอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจขั้วต่างๆมีการพลิกผันกันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ผ่านจากยุคจักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศส และยุโรป  สู่ยุคสงครามเย็น ยุคอเมริกาเป็นมหาอำนาจขั้วเดี่ยว จนกระทั่งมาถึงยุคการผงาดเติบใหญ่ของจีน ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อนโยบายการขุดคลองไทย

ในยุคสมัยอันใกล้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยประกาศว่าเรื่องการขุดคลองไทยไม่ใช่สิ่งสำคัญของรัฐบาลของท่าน  ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่แล้วได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาโครงการคลองไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เมื่อนำกลับเข้ามาเสนอในรายละเอียดอีกครั้ง มีความเห็นขัดแย้งกันมากจนต้องมีการลงมติ ซึ่งสมาชิกเสียงข้างมากไม่เห็นชอบ จึงล้มไป

ทางด้านพลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตเสนาธิการกองทัพเรือ ชี้ประเด็นจากผลการศึกษาสำคัญ 5 ชิ้น ได้แก่ รายงานของวุฒิสภา (พ.ศ. 2548) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พ.ศ.2561) ของสภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ. 2564) ของภาคธุรกิจจีน (พ.ศ. 2552-2558) และของสภาพัฒน์ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2565) ซึ่งทุกการศึกษาต่างสะท้อนความไม่คุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจการลงทุน เกิดกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้างมาก และมีความอ่อนไหวด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่ควรหลีกเลี่ยง .

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 17 กรกฎาคม 2566