รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 47) สภาฮักแพง เบิ่งแงง คนสารคาม

ประชาคมจังหวัดมหาสารคาม

ปีที่ก่อตั้ง  22 มิถุนายน พ.ศ. 2555  ระยะเวลานับถึงปัจจุบัน 9 ปี

ความเป็นมา/ประวัติก่อตั้ง

การเรียนรู้และวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อค้นหาทางเลือกแล้วร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและดำเนินการพัฒนาอย่างยั่งยืน สภาฮักแพง ฯ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ จำนวน 15 เครือข่าย   

เป้าหมายมุ่งสร้างรูปธรรมทางเลือกในการแก้ไขปัญหาและสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของชุมชนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์

รูปแบบการรวมตัว

เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ จำนวน 15 เครือข่าย 1) เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 142 กองทุน 2) เครือข่ายเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหารของชุมชน 7 เครือข่าย 60 พื้นที่ 3) เครือข่ายเด็กและเยาวชน 26 เครือข่าย 4) เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 61 ตำบล 5) เครือข่ายเศรษฐกิจทุนชุมชน 30 ตำบล 6) เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ชุมชน 2 อำเภอ 7) เครือข่ายการจัดการที่ดิน 8 ตำบล 8) เครือข่ายปัญหาภัยพิบัติ 6 ตำบล 2 อำเภอ 9) เครือข่ายผู้บริโภค 32 กลุ่ม 10) เครือข่ายป่าชุมชน 29 แห่ง 11) เครือข่ายผู้สูงอายุ 12) เครือข่ายภูมิปัญญา 13) เครือข่ายผู้หญิง 7 อำเภอ 20 ตำบล 14) เครือข่ายครูสอนดี 15) เครือข่ายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  

ต้นปี 2555 มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรในมหาสารคามที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อหาทางบูรณาการการทำงานโครงการในพื้นที่ ให้เกิดพลังการสร้างสุขภาวะในจังหวัดมหาสารคาม ในที่สุดจึงเกิดเป็น“โครงการเสริมสร้างสุขภาพแบบบูรณาการสู่จังหวัดมหาสารคามน่าอยู่” หรือ “โครงการ ฮักแพง เบิ่งแญง คนสารคาม” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. เป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มต้น ดำเนินงานในเดือนกันยายน พ.ศ.2553 มีเนื้อหาการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่สังคมสุขภาวะใน 3 ประเด็น คือ การสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารโดยแนวทางเกษตรกรรมทางเลือก การพัฒนาเด็กและเยาวชน และการนำภูมิปัญญามาใช้เป็นแนวทางในการสริมเสร้างสุขภาวะของคนมหาสารคาม 

การดำเนินงานตามโครงการฮักแพง เบิ่งแงงคนสารคามข้างต้น ก่อให้เกิดการรวมตัวของคนมหาสารคามในลักษณะของ “บูรณาการ” จากหลากหลายอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล อาจารย์มหาวิทยาลัย นักพัฒนาเอกชน ข้าราชการบำนาญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล พระสงฆ์ และข้าราชการสังกัดหน่วยงานในจังหวัดมหาสารคาม 

คนกลุ่มนี้มีเจตนารมณ์และมาทำงานร่วมกันเพื่อต้องการจะเห็นคนมหาสารคามมีความสุขกายสุขใจ อยู่ร่วมกันในสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีสุขภาวะ และเรียกตนเองว่า “เครือข่ายฮักแพง เบิ่งแญง คนสารคาม” ขยายผลสู่กระบวนการจังหวัดจัดการตนเอง ต่อมาในปี พ.ศ.2555 มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามในฐานะกลไกหลักในการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยของจังหวัดมหาสารคามได้เชิญชวนเครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรภาครัฐ และนักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อค้นหาแนวทาง ในการปฏิรูปเชิงพื้นที่เพื่อการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน

กิจกรรมต่างๆ ขององค์กร

เนื้อหาการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่สังคมสุขภาวะใน ๓ ประเด็น คือ การสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารโดยแนวทางเกษตรกรรมทางเลือก การพัฒนาเด็กและเยาวชน และการนำภูมิปัญญามาใช้เป็นแนวทางในการสริมเสร้างสุขภาวะของคนมหาสารคาม ขยายผลสู่กระบวนการจังหวัดจัดการตนเอง

ต่อมาในปี พ.ศ.2555 การจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยของจังหวัดมหาสารคาม ได้ก่อให้เกิดกลไกการทำงานและผนึกกำลังในลักษณะของ การบูรณาการของภาคประชาชนในจังหวัดมหาสารคามอย่างกว้างขวางขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการสนับสนุน ช่วยเหลือ แบ่งปัน กันและกัน ผลักดันให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนไปสู่กระบวนการจังหวัดจัดการตนเอง ภายใต้ชื่อ “สภาฮักแพง เบิ่งแงง คนมหาสารคาม”

ผลงานเด่น

สร้างสรรค์บทเรียนและรูปธรรมการขับเคลื่อนงานเชิงประเด็น เช่น ประเด็นสวัสดิการ ประเด็นเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร ประเด็นเด็กและเยาวชน ประเด็นสภาองค์กรชุมชน ประเด็นเศรษฐกิจทุนชุมชน ประเด็นป่าชุมชน

บูรณาการงาน โครงการ กิจกรรมต่าง ๆ ในจังหวัดให้เกิดพลังของการสร้างสุขภาวะในจังหวัดมหาสารคาม และ ในที่สุดได้เกิดเป็น “โครงการเสริมสร้างสุขภาพแบบบูรณาการสู่จังหวัดมหาสารคามน่าอยู่” หรือ “โครงการ ฮักแพง เบิ่งแยง คนสารคาม”

ผลักดันประเด็นงานสู่สังคมสุขภาวะในจังหวัดมหาสารคาม 3 ประเด็น คือ 1)การสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารโดยแนวทางเกษตรกรรมทางเลือก 2)การพัฒนาเด็กและเยาวชน และ 3)การนำภูมิปัญญามาใช้เป็นแนวทางในการสริมเสร้างสุขภาวะของคนมหาสารคาม

ขยายผลสู่กระบวนการจังหวัดจัดการตนเอง  ร่วมเป็นกลไกหลักร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการจัดสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยของจังหวัดมหาสารคาม ในการปฏิรูปเชิงพื้นที่เพื่อการจัดการตนเองอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกิดกลไกการทำงานและผนึกกำลังในลักษณะของการบูรณาการของภาคประชาชนในจังหวัดมหาสารคามอย่างกว้างขวาง การรวมตัวกันของภาคีความร่วมมือ ในส่วนราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ และชาวบ้าน ในลักษณะเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ในชื่อ “เครือข่ายองค์กรประชาสังคมระดับอำเภอ” (สภาฮักแพง เบิ่งแงง คนมหาสารคาม, 2560) โดยจังหวัดมหาสารคามสร้างเครือข่ายระดับอำเภอโดยใช้เงื่อนไขความสัมพันธ์ ในรูปแบบเครือข่ายทางสังคมเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะกรณี อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม  เป็นการจัดการความสัมพันธ์ใหม่ 

พัฒนาความสัมพันธ์ของตัวแทนหน่วยงาน ภาคราชการ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชนเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมที่เป็นเครือข่ายตามลักษณะโครงการ ต่อมาได้พัฒนารูปแบบความสัมพันธ์ใหม่เป็นเครือข่ายลักษณะประเด็นร่วมและเครือข่ายลักษณะแยกประเด็น (เป็นการเปลี่ยนรูปความสัมพันธ์ เป็นการกระจายตัวเพื่อสร้างพื้นที่รูปธรรม เพื่อกระทำการในระดับตำบลและอำเภอมากขึ้น) ทำให้เกิดการประสานความร่วมมือของตัวแทน หน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนในอำเภอ จังหวัด 

มีข้อค้นพบจากประสบการณ์ว่าควรมีการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบเครือข่ายทางสังคมจากเครือข่ายลักษณะแยกประเด็น เป็นเครือข่ายลักษณะเชิงพื้นที่ตำบลหรือชุมชน เพื่อเพิ่มบทบาทในการทำงาน ให้กับสมาชิกรายใหม่ที่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมทำงานกับเครือข่ายทางสังคม รวมถึงใช้พื้นที่ตำบลหรือชุมชน เพื่อช่วยเกี่ยวโยงประเด็นการทำงานที่ แยกออกจากกันในแต่ละประเด็น

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 12 ม.ค. 2564