กสศ. เครื่องมือปฏิรูปการศึกษาไทย

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 3 กุมภาพันธ์ 2563

มีเยาวชนเพียง 5% จากครอบครัวยากจนกลุ่ม 20% ล่างสุดของประเทศมีโอกาสเรียนต่อระดับอุดมศึกษา 

แต่ไหนแต่ไรมา เมื่อพูดถึงเรื่องปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศ โดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนและเต็มไปด้วยความมืดมน แม้จะตระหนักว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ในที่สุดก็ต้องหันไปจับเรื่องอื่นทำแทน  ปล่อยให้คนอื่นที่เขากัดติดในเรื่องนี้ว่ากันไปก่อน โดยขอติดตามอยู่ห่างๆ

สิ่งหนึ่งที่ผมรอคอยและลุ้นอยู่ในใจมาตลอด คือแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา  คืออยากเห็นพิมพ์เขียวของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาว่าจะมีหน้าตาประการใด ซึ่งในที่สุดก็เสร็จสมบูรณ์และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในระหว่างเขากำลังจัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษากันอยู่นั้น  ได้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมและออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่หลายฉบับ รวมทั้งกรณีการควบรวมงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม และกรณีการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทั้งๆที่แผนแม่บทการปฏิรูปการศึกษายังไม่แล้วเสร็จ ก็ยิ่งทำให้เกิดความงุนงงหนักยิ่งขึ้น เพราะผู้ติดตามอยู่วงนอกอย่างเรามองภาพใหญ่ไม่ออก

เพิ่งได้มีโอกาสรับฟังรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561 ของกองทุน กสศ.ที่มานำเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาครั้งล่าสุด เมื่อประกอบภาพเข้ากับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 4 ด้าน 7 เรื่อง 29 ประเด็น จึงทำให้ผมได้มองเห็นจิ๊กซอว์สทั้งหมดเป็นครั้งแรก  ในใจนึกชื่นชมการทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาที่มีทั้งความลุ่มลึก มีกุศโลบายและได้สร้างเครื่องมือในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะกองทุน กสศ.นี่แหละอันหนึ่ง ที่มีสถานะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (มาตรา 54) ที่จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยมีพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 เป็นกฎหมายเฉพาะที่สร้างขึ้นมารองรับ

พรบ.ฉบับนี้ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้กองทุนอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และมีการบริหารงานที่เป็นอิสระ

กสศ.ระบุสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไว้ 3 ประการ ได้แก่ คุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา คุณภาพหรือประสิทธิภาพของครู  และฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมของผู้เรียน หมายความว่าความยากจนทำให้เด็กไทยมากกว่า 5 แสนคนต้องหลุดออกนอกระบบไปแล้ว และอีก 2 ล้านคนมีแนวโน้มไม่ได้เรียนต่อ

กล่าวคือมีเยาวชนเพียง 5% จากครอบครัวยากจนกลุ่ม 20% ล่างสุดของประเทศ ที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัญหาเกิดจากครอบครัวของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ของตน  กล่าวคือสูงกว่าครอบครัวร่ำรวยถึง 4 เท่า (ข้อมูลจากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ 2551-2559)

และทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา

กสศ. เพิ่งจัดตั้งและทำงานมาเพียง 10 เดือน มีเงินประเดิมก้อนแรกจากรัฐบาล 700 ล้านบาท และรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 500 ล้านบาท ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน 7 ประการตามมาตรา 5 ซึ่งมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่

1.โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. 26,500 แห่ง สามารถจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่เด็ก 510,000 คน ทุนละ 1,600 บาท/ปี รวมทั้งสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ รวม 1.7 ล้านคนทั่วประเทศด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของสถานศึกษาและชุมชน

2. โครงการพัฒนาสถาบันต้นแบบด้านการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เริ่มทำในลักษณะนำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง จันทบุรี ภูเก็ต และมหาสารคาม ได้พัฒนาศักยภาพสถานดูแลเด็กปฐมวัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 300 แห่ง เด็ก 60,000 คน

3. โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้ไปเป็นครูรุ่นใหม่ประจำท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน  กำลังอยู่ในระยะทดลอง 5 ปีแรกจำนวน 1,500 คน

4. โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  มีโรงเรียนขนาดกลาง 280 โรง สถาบันอุดมศึกษา 10 แห่งและครู 5,600 คนเข้าร่วม 

5. โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง   มุ่ง“สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน” ขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 โดยให้ทุนต่อเนื่อง 5 ปี จาก ม.3ถึงอนุปริญญา จำนวน 2,500 ทุน/ปี  จาก 52 โครงการ 39 สถาบันสายอาชีพทั่วประเทศ    

6.โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส มีพื้นที่ปฏิบัติการระดับตำบลหรือเทศบาล 50 พื้นที่ เน้นกลุ่มประชากรวัยแรงงานอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปที่มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน รายได้ต่ำกว่า 6,500 บาท/เดือน

7. โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  มุ่งพัฒนาคุณภาพและศักยภาพศูนย์เด็กเล็กต้นแบบ 300 แห่ง ใน 10-15 จังหวัด

เมื่อมองความเคลื่อนไหวและผลงานในภาพรวมของกองทุน กสศ.เพียงในปีแรก ทำให้ผมมีความรู้สึกว่า นี่น่าจะถือเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทยในภาคปฏิบัติจริงเป็นครั้งแรก หลังจากที่เรามัวเสียเวลาไปร่วม 20 ปี กับการประดิดประดอยออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษาลงมาจากยอดพระเจดีย์ และสิ้นเปลืองหัวสมองไปกับการจัดหาตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนผู้บริหารการศึกษา โดยที่เด็กและประเทศชาติไม่ได้อะไรเลย นอกจากคุณภาพการศึกษาที่ถดถอยลงทุกวัน

ในข้อสังเกตเบื้องต้น ผมคิดว่าจุดแตกต่างของการปฏิรูปการศึกษาในคราวนี้ น่าจะอยู่ที่

1)การมุ่งเป้าการปฏิรูปและให้บทบาทไปที่ตัวเด็ก ครูผู้สอนและโรงเรียนที่เป็นหน่วยปฏิบัติการ

2)การบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะการแบ่งงบประมาณการศึกษาส่วนหนึ่ง ให้มาบริหารในระบบกองทุนสนับสนุน ในอนาคตควรจะเพิ่มได้ถึง 25,000 ล้าน/ปี หรือ ร้อยละ 5 ของงบประมาณด้านการศึกษา 

3)การให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยนำมาใช้ในกระบวนการขับเคลื่อนงานทุกภารกิจ

4)มีกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั้งจากชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ.

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com