ศจพ. และ บพท. กลไกขจัดความยากจนของรัฐบาลประยุทธ์

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 30/2566)

ปัญหาใหญ่ของงานพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่นในบ้านเมืองเราคือความไม่เป็นเอกภาพระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ และการทำงานแบบแยกส่วนระหว่างหน่วยงานซึ่งไม่เคยบูรณาการกันได้ ผลลัพธ์ก็คือทำงานซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์ต่ำ

ในคราวการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 ในวงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท เอาเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า มี 5 โครงการ เกี่ยวข้อง 14 กระทรวง 265 โครงการย่อย รวม 2.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านรายได้ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยต่างมีเป้าหมายให้คนจนในประเทศไทยลดลงอย่างยั่งยืนด้วยกันทั้งนั้น

ศจพ. และ บพท. กลไกขจัดความยากจนของรัฐบาลประยุทธ์

ศจพ.

ระหว่างปี 2562-2563 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้ลุกขึ้นทวงถามรัฐบาลและสภาพัฒน์ที่เข้ามานำเสนอรายงานการปฏิรูปประเทศหลายครั้ง ถึงเรื่องการจัดตั้งกลไกบูรณาการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำตามที่ได้แถลงนโยบายเอาไว้ต่อรัฐสภา

ต่อมารัฐบาลประยุทธ์(2) จึงได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ขึ้นโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการ และให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อน (ศจพ.) เป็นกลไกทำงานระดับพื้นที่ทั่วประเทศ

ศจพ. มีเป้าหมายในการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือ การตัดเสื้อให้พอดีตัว โดยให้ทุกจังหวัดใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform หรือ TPMAP) เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน ซึ่งในปี 2565 มีคนจนเป้าหมายในระบบ จำนวน 1,025,782 คน 

บพท.

ทางด้านกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานมันสมองและองค์ความรู้ มีหน่วยบริหารจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นกลไกร่วมขับเคลื่อนขจัดความยากจนที่มีนัยสำคัญ

บพท. ได้ใช้วิธีการทดลองและพัฒนาโมเดลนำร่องการแก้ปัญหาความยากจนเชิงพื้นที่ (Sand box) ที่ผ่านการพิสูจน์ประสิทธิผลการแก้ปัญหาความยากจนมาแล้วในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัดครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ มีชุดประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งชุดมาตรการที่จะเป็นแนวทางขยายผลต่อยอดความร่วมมือ พัฒนาเป็นชุดข้อมูลแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ นำเสนอให้รัฐบาลและรัฐสภาชุดใหม่ สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และแนวทางมาตรการแก้ปัญหาความยากจนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

จังหวัดนำร่องที่มีดัชนีความก้าวหน้าของคนด้านรายได้ของครัวเรือนต่ำที่สุด ชุดแรก 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ส่วนอีก 10 จังหวัดชุดหลัง คือ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา

ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 การสัมมนาที่จัดโดย บพท. นำเสนอสาระสำคัญระบุว่า “งานแก้ปัญหาความจนและลดความเหลื่อมล้ำเป็นงานที่ยากมาก ต้องการองค์ความรู้จากงานวิจัยแบบชี้เป้า เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ขณะเดียวกันก็ต้องการกลไก กระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคีหลายภาคส่วนในพื้นที่ เนื่องจากเป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาคือการช่วยคนจนที่อยู่ล่างสุด ให้ลุกขึ้นช่วยเหลือตัวเองได้ แล้วพัฒนายกระดับให้หลุดพ้นจากความยากจน” 

ข้อค้นพบจากระบบข้อมูลชี้เป้า ที่ บพท. พัฒนาร่วมกับทีมวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยในพื้นที่ บ่งชี้ว่าเหตุแห่งความจนในแต่ละภูมิภาคมีความแตกต่างกัน โดยภาคเหนือมีสาเหตุจากการขาดแคลนที่ดินทำกิน อันเนื่องมาจากเงื่อนไขสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา และขาดแคลนปัจจัยการผลิต ขาดทักษะด้านอาชีพ  

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสาเหตุจากการขาดแคลนแหล่งน้ำทางการเกษตร อีกทั้งระดับราคาพืชผลก็ขายได้ราคาต่ำ และมีการศึกษาน้อย ขาดทักษะด้านอาชีพ ส่วนภาคกลาง มีสาเหตุจากการศึกษาน้อย และเผชิญภาวะยากจนเฉียบพลัน จากปัญหาสุขภาพและภัยธรรมชาติ สำหรับภาคใต้ มีสาเหตุจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นคงด้านรายได้และอาชีพ

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ที่ประชุมสัมมนามีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เตรียมจะเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาชุดใหม่ รวม 5 ข้อ คือ 

  1. กลไกบูรณาการ  คงกลไก ศจพ. ทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือแบบต่อเนื่อง และควรเพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ องค์กรชุมชน ภาคประชาชาสังคม และบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย
  2. ท้องถิ่น  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
  3. สวัสดิการภาครัฐ  รัฐควรจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลชี้เป้าที่มีความแม่นยำ
  4. ระบบข้อมูล เพื่อชี้เป้าหมายในระดับพื้นที่ ควรดำเนินการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และมีการบริหารจัดการจากคนในพื้นที่
  5. การเสริมพลัง โดยให้คนยากจนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาความยากจนด้วยตนเอง

โดย ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 21 สิงหาคม 2566