พุ่งเป้าแก้ปัญหาแบบตรงจุด 

จีนแก้จน (ฉบับที่ 6)

จีนได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานแก้ความยากจนและฟื้นฟูพัฒนาประเทศต่อเนื่องไว้อย่างชัดเจน  โดยแบ่งเป็นแผน 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ช่วงปี ค.ศ. 2020  ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

ระยะที่ 2 ช่วงปี ค.ศ. 2035   จีนเป็นสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่เจริญรุ่งเรืองรอบด้าน  

ระยะที่ 3 ช่วงปี ค.ศ. 2049  จีนเป็นประเทศมหาอำนาจ

” พุ่งเป้าแก้ปัญหาแบบตรงจุด ” จีนแก้จน (ฉบับที่ 6)

พิสูจน์อย่างตรงจุด

การจัดทำประวัติครอบครัวที่ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมาย มีบันทึกเป็นระบบฐานข้อมูลครอบครัว ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป สาเหตุที่ทำให้ยากจน เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบช่วยเหลือ แผนการช่วยเหลือ และผลการช่วยเหลือ รายชื่อครอบครัวที่ผ่านการพิสูจน์ในรอบแรกจะติดประกาศในหมู่บ้าน 

หลังจากนั้น ยื่นขอพิจารณาต่อรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อคัดเลือกครอบครัวที่ยากจนในภาพรวมทั้งอำเภอ และประกาศรอบที่ 2 หากไม่มีการคัดค้าน จะส่งไปยังคณะกรรมการลดความยากจนในท้องถิ่นเพื่อพิจารณาอนุมัติ 

เกณฑ์การพิสูจน์ “ครอบครัวยากจน” ในชนบท กำหนดเส้นแบ่งความยากจนกลางไว้ที่ระดับรายได้ 2,736 หยวนต่อคนต่อปี (หรือ 12,400 บาท/คน/ปี โดยประมาณ) โดยแต่ละมณฑลสามารถคัดเลือกจำนวนครอบครัวที่มีฐานะยากจนได้ตามสัดส่วนคนจน (Poverty Incidence) ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศไว้เป็นรายมณฑล และอาจบวกเพิ่มได้อีกร้อยละ 10 

เกณฑ์การพิสูจน์ “หมู่บ้านที่ยากจน” พิจารณาตามรายได้โดยเฉลี่ยของสมาชิก หากต่ำกว่าร้อยละ 60 ของรายได้โดยเฉลี่ยต่อปีของมณฑลและหมู่บ้านไม่มีรายได้จากธุรกิจอื่นใด คณะกรรมการลดความยากจนของมณฑล จะส่งรายชื่อไปยังคณะรัฐมนตรีของจีนเพื่อขออนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้านที่ยากจน

ช่วยเหลืออย่างตรงจุด

เป็นขั้นตอนการวิเคราะห์เชิงลึกในสาเหตุที่ทำให้ยากจนของครอบครัวและหมู่บ้านที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว หลังจากนั้น กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ เพื่อจัดทำแผนการช่วยเหลือลดความยากจนเป็นรายครอบครัวและรายหมู่บ้าน พร้อมทั้งระดมกำลังดำเนินการตามแผน ดังนี้

2.1) รัฐบาลระดับเมืองและมณฑล สร้างระบบเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้าน มีเป้าหมายเพื่อให้หมู่บ้านยากจนมีคณะทำงานประจำ เป็นเจ้าหน้าที่ลดความยากจนทุกหมู่บ้าน ครอบครัวยากจนมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบทุกครอบครัว พร้อมสร้างฐานข้อมูลของคณะทำงานประจำหมู่บ้านและผู้รับผิดชอบช่วยเหลือครอบครัวยากจน

2.2) เจ้าหน้าที่ที่จะได้รับการคัดเลือกให้ทำงานในคณะทำงานช่วยเหลือลดความยากจนประจำหมู่บ้าน ต้องมีศักยภาพการทำงานในระดับหนึ่ง ต้องแสดงฝีมือว่ามีคุณค่าแก่การได้รับโอกาสในอนาคต โดยกำหนดภาระหน้าที่ โครงการ วิธีตรวจสอบผลงาน และมาตรการรับผิดชอบการทำงานประจำหมู่บ้านอย่างชัดเจน

2.3) คณะทำงานประจำหมู่บ้าน มีหน้าที่สำรวจสภาพหมู่บ้านเพื่อได้ตัวเลขความยากจนที่แท้จริง วิเคราะห์สาเหตุความยากจน กำหนดแผนการช่วยลดความยากจน ระดมทรัพยากรและจัดสรรเงินทุนเพื่อลดความยากจน และกำกับการดำเนินงานของโครงการลดความยากจน

2.4) รัฐบาลระดับเมืองและมณฑล จัดทำระบบเจ้าหน้าที่ลดความยากจนซึ่งครอบคลุมด้านการคัดเลือก การฝึกอบรม การบริหาร การตรวจสอบ การให้รางวัลและสวัสดิการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน เจ้าหน้าที่ที่มีผลงานดีเด่นจะมีสิทธิ์ได้รับโอกาสการทำงานพิเศษในอนาคต สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีผลงานเท่าที่ควร จะให้พ้นจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ลดความยากจนและอาจถูกดำเนินการตรวจสอบการปฏิบัติงาน 

2.5) รัฐบาลระดับเมืองและมณฑล ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สามารถช่วยลดความยากจน โดยมีโครงการหลักที่รัฐบาลส่วนกลางกำหนดเป็นกรอบแนวทาง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการการศึกษา โครงการสินเชื่อขนาดเล็ก และโครงการอพยพเพื่อลดความยากจน

  • โครงการการศึกษา จะมีหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น หน่วยงานบริหารจัดการการศึกษา กรมสวัสดิการและกรมการคลัง เป็นต้น นักเรียนจากครอบครัวที่ยากจนของโรงเรียนอาชีวศึกษาชั้นกลางและชั้นสูง จะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อชีวิตความเป็นอยู่และทุนการศึกษาดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ของครอบครัวที่ยากจน มีทักษะในการทำงานและสร้างชีวิตที่ดีขึ้นด้วยตนเอง ส่งเสริมคนทำงานเรียนรู้ทักษะใหม่และเปลี่ยนอาชีพ จัดการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นในชนบทและสร้างผู้นำพ้นความยากจนในหมู่บ้านที่ยากจน
  • โครงการสินเชื่อขนาดเล็ก จัดโดยหน่วยงานลดความยากจน การคลังและสถาบันการเงิน เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ครอบครัวยากจนที่มีทักษะและความประสงค์ที่จะทำธุรกิจเอง สนับสนุนการเปลี่ยนจากธุรกิจที่ไม่สามารถพ้นจากความยากจนได้ 
  • โครงการอพยพเพื่อลดความยากจน จัดขึ้นสำหรับครอบครัวยากจนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยการพัฒนาต่อ มีต้นทุนสูงในการพ้นจากความยากจน หรือมีความยากลำบากที่จะหลุดพ้นจากความยากจนตามสภาพของพื้นที่เดิม รัฐบาลท้องถิ่นสามารถวางแผนและจัดการให้มีการอพยพไปยังที่อื่น โดยต้องจัดการและดูแลปัญหาด้านการประกอบอาชีพ การศึกษา การรักษาพยาบาล สวัสดิการสังคมและการเข้าร่วมสังคมในที่อยู่อาศัยแห่งใหม่.

ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 3 พฤศจิกายน 2566