นวัตกรรมการศึกษาที่ระยอง

รายงานประชาชน (ฉบับที่ 32/2566)

คณะกรรมาธิการ ตสร. วุฒิสภา ได้รับฟังรายงานความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์การดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดระยอง

ซึ่งเป็น 1 ใน 6 พื้นที่ทดลองและพัฒนาโมเดลการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ อันได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นวัตกรรมการศึกษาที่ระยอง

พื้นที่ทดลอง

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นสนามปฏิบัติการ (Sand box) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศ เป็นนโยบายปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ มุ่งพัฒนาคนไทยให้เรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ ตรงตามความต้องการของพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาตามศักยภาพและความพร้อม ส่งเสริมสถานศึกษาเป็นนิติบุคคล สามารถบริหารจัดการได้อย่างอิสระและคล่องตัวมากขึ้น โดยมีพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นเครื่องมือทางนโยบาย  

จังหวัดระยองมีวิสัยทัศน์จังหวัดในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างระยองเป็นเมืองน่าอยู่ เข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการ โดยถือเป็นจุดเริ่มของการสร้างความเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศและตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีโรงเรียนที่สมัครใจเข้าร่วมแล้ว 4 รุ่น 4 ประเภท รวม 87 จาก 284 แห่ง คิดเป็น 1 ใน 3 ของโรงเรียนทั้งหมด มีทั้งโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยม กำลังดำเนินงานกันอย่างคึกคัก

มีโรงเรียนที่เป็นตัวอย่างการดำเนินงานที่ก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมมากมายหลายแห่ง อาทิ รร.นิคมสร้างตนเอง 8  รร.เขาชะเมาวิทยา  รร.ซำค้อวิทยาคม  รร.วัดถนนกระเพา  รร.อนุบาลนานาชาติตากสินระยอง  รร.อยู่เมืองแกลงวิทยา  รร.เทศบาลวัดลุ่มมหาชัยชุมพล  รร.เทศบาลเมืองเพ  รร.เทศบาลวัดปากน้ำ ฯลฯ

ปฏิรูปการศึกษาระดับโรงเรียน

โครงการนี้มุ่งปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนจากการใช้ฐานความรู้ไปเป็นฐานสมรรถนะ (Active learning) โดยผสานจุดแข็งการปฏิรูปแบบ Top-down กับ Bottom-up เน้นสร้างนวัตกรรมการบริหารและการเรียนการสอนในทุกมิติ ปรับระบบนิเวศในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เทียบได้กับโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ที่เป็นจุดเริ่มสร้างความเจริญในด้านอุตสาหกรรมและการเกษตรสมัยใหม่

นี่เป็นขบวนการปฏิรูปการศึกษาในระดับภาคสนามขบวนหนึ่ง ที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่ในเครือข่ายโรงเรียนรัฐและพื้นที่เป้าหมายที่กฎหมายกำหนด โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อคือ (1) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ยกระดับผลสัมฤทธิ์ (2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา (3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่สถานศึกษานำร่อง (4) พัฒนากลไกความร่วมมือทุกภาคส่วน

ผลการดำเนินงานในด้านวิชาการและด้านบุคลากร ได้มีการกำหนดคุณลักษณะของเด็กระยองให้เป็น world class citizen  ปรับกรอบหลักสูตรตามแนวคิด RAYONG MARCO  ใช้ระบบ SAR (self assessment report)ในการประเมินคุณภาพภายในตนเองของโรงเรียน และพัฒนาระบบ iQA (internal Quality Audit) ให้ความเห็นชอบหลักสูตรทั่วไปและหลักสูตรนานาชาติ สร้างกลไกหนุนเสริมวิชาการและนิเทศติดตาม พัฒนาการศึกษาเพื่อสุขภาวะแบบองค์รวม  พัฒนาคนระยองเป็นครูระยอง พัฒนาระบบนิเวศการศึกษาอย่างเป็นระบบ 7 ประการ รวมทั้งทำหลักเกณฑ์และวิธีการบรรจุ-แต่งตั้งข้าราชการครู

ประเมินผลสัมฤทธิ์แบบใหม่

ส.ว.เฉลิมชัย บุณยะลีพรรณ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ที่ประชุมว่า กฎหมายฉบับนี้มีลักษณะพิเศษ เนื่องจากกำหนดเวลาหมดอายุไว้ที่ 7 ปี ถ้าได้ผลดีก็ขยายผลต่อไป แต่หากไม่ได้ผลตามวัตถุประสงค์ก็ให้ยกเลิกไป หรือถ้ายังไม่สิ้นสงสัยก็สามารถขยายเวลาได้อีก 7 ปีเท่านั้น  มีลักษณะเป็น Sunset Law ออกในสมัย สนช.ที่ท่านมีส่วนร่วมและมีความภาคภูมิใจ ท่านจึงตั้งใจมาร่วมติดตามดูผลสัมฤทธิ์

ท่านยังได้ให้คำเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการไม่ควรนำวิธีประเมินการเรียนการสอนแบบฐานความรู้ (ONETและ ANET) แบบเดิมมาใช้ เพราะจะไม่สามารถประเมินงานที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรมใหม่ได้ แต่ขอแนะนำให้ใช้วิธีการประเมินในระบบการสอบมาตรฐานสากลที่วัดความถนัดด้านภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ (SAT) และ รูปแบบการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) มาปรับใช้จะมีความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งพื้นที่และโรงเรียนจะต้องช่วยกันคิดค้นและพัฒนากันขึ้นมาเอง

ในอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากระยองมีศักยภาพในพื้นที่ครบครัน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ติดอันดับโลก แหล่งท่องเที่ยว ผลไม้ และอาหารทะเล สภาพภูมิศาสตร์เหมาะสม ทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางการค้า ระบบโลจิสติกส์ และมีรากวัฒนธรรมเก่าแก่ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์  ทาง อบจ. ผวจ. และภาคีการพัฒนาต่างๆ

จึงรวมตัวกันจัดตั้ง “สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยขึ้น” (RILA – Rayong inclusive learning academy) เพื่อตอบสนองการก้าวไปสู่จังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเอง พัฒนาคนให้เท่าทันการพัฒนาเมืองตามแนวทางของ EEC โดยรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมความเป็นระยองอย่างเข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวกับสมาร์ทซิตี้ในอนาคต.

โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 4 กันยายน 2566