การศึกษาศักยภาพของ “ทุนทางสังคม” ของชุมชนไซเบอร์

การศึกษาศักยภาพของ “ทุนทางสังคม” ของชุมชนไซเบอร์ (A STUDY “SOCIAL CAPITAL” POTENTIAL OF CYBER COMMUNITIES)

พีระ ลิ่วลม (วท.ม.)สาขาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล
กชกร ชิณะวงศ์ : รวบรวม

เครือข่ายทางสังคมบนอินเตอร์เน็ท มีชื่อเรียกแตกต่างหลากหลายกันไป แต่ชื่อที่นิยมใช้แพร่หลายมากที่สุดก็คือ “ชุมชนไซเบอร์”ซึ่งบุคคลที่สื่อผ่านอินเตอร์เน็ทเข้ามานั้น จะมีความสัมพันธ์กันเป็นกลุ่ม
โดยมีกิจกรรมหลักก็คือการแลกเปลี่ยนความคิดข้อมูลข่าวสารกัน และมีบางส่วนที่พัฒนาเป็นกิจกรรมร่วมกัน เช่น งานบริจาค หรืออาสาสมัครต่าง ๆ เป็นต้น กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ชุมชนไซเบอร์มีสถานภาพที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น เพราะนั่นเท่ากับว่า ชุมชนไซเบอร์มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ ในกิจกรรม ที่เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวม และกลไกสำคัญอันหนึ่ง ที่สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือดังกล่าวก็คือ “ทุนทางสังคม”

“ทุนทางสังคม” ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ที่ง่ายขึ้น ดีขึ้น และสามารถคงอยู่ในเครือข่ายทางสังคมนั้น ดังนั้นการพัฒนาการเกิดขึ้นของ “ทุนทางสังคม” ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ก็คือการเกิดขึ้นของศักยภาพของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่สนับสนุนความร่วมมือในกิจกรรมสาธารณะทางกายภาพร่วมกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าการก่อเกิดของทุนทางสังคม ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาสังคม

ด้วยเหตุนี้เอง จากประเด็นความสำคัญของ “ทุนทางสังคม” ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ดังเช่นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงเป็นเสมือนแรงผลักดันให้เกิดวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมา โดยมุ่งความสนใจไปที่ “การศึกษาชุมชนไซเบอร์ ในแง่มุมของการเป็นทุนทางสังคม” เพื่อทำการศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดว่า

เครือข่ายทางสังคมที่เชื่อมโยงผ่านสื่อสมัยใหม่อย่างอินเตอร์เน็ทนั้น มีลักษณะทุนทางสังคมที่ก่อเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีลักษณะเด่นอะไรบ้าง และประเด็นศึกษาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ
ชุมชนไซเบอร์จะมีศักยภาพในการส่งเสริมสนับสนุนทุนทางสังคมทางกายภาพ หรือการมีกิจกรรมทางกายภาพได้ดีร่วมกันเพียงใด ตลอดจนสามารถพัฒนาเป็นทุนทางสังคมที่มีศักยภาพที่ดีขึ้นได้หรือไม่

ความคาดหวังของผู้วิจัย ต่อการทำงานวิจัยในครั้งนี้ ก็คือความสามารถในการสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ สามารถอธิบายลักษณะเครือข่ายทางสังคมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในแง่มุมของการเป็นทุนทางสังคม ที่สามารถประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้พร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาวิจัยของพีระ ลิ่วลม มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นการเปิดประเด็นหรือกระตุ้นให้ผู้คนได้หับกลับมาคิด โดยเฉพาะผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อทางคอมพิวเตอร์ เพราะหลาย ๆ ประเด็นที่ค้นพบในงานวิจัย เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวหรือคิดไม่ถึง ซึ่งงานวิจัยของพีระ ได้นำเสนอให้เห็นว่า คอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร หรือการทำงานในโลกสมัยใหม่เท่านั้น

แต่คอมพิวเตอร์เป็นเหมือนเป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้คนในชุมชนไซเบอร์ ดังจะเห็นได้จากข้อค้นพบประเด็นหนึ่งที่กล่าวว่า “ชุมชนไซเบอร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้เกิดการสื่อสาร” โดยเป็นกลไกที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือน “จุดนัดพบ” ของกลุ่มสื่อสาร และเป็นช่องทางคัดเลือกบุคคลที่คล้าย ๆ กัน หรือมีโครงสร้างความคาดหวังที่คล้ายกัน จึงเลือกที่จะมาพบกัน และเกิดปฏิสัมพันธ์เป็นกิจกรรมร่วมกัน ได้จริง
นอกจากนี้ชุมชนไซเบอร์ยังช่วยลดลักษณะความสัมพันธ์ “คนแปลกหน้า” เพิ่มลักษณะความสัมพันธ์แบบ “คนที่รู้จักที่เจอกันบ่อย ๆ” มากขึ้น และยิ่งเมื่อมีกิจกรรมชุมชนไซเบอร์ร่วมกัน ก็จะยิ่งเพิ่มลักษณะความสัมพันธ์แบบ “เพื่อนสนิท” รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเรื่องความสัมพันธ์ ที่เกิดขึ้นผ่านอินเตอร์เน็ท ที่มีความสมจริงไม่ต่างจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจริง ในชีวิตประจำวัน และนั่นหมายความว่าปัจจัยที่ทำให้ทุนทางสังคมในองค์ประกอบย่อยมีเพิ่มมากขึ้นคือ ความไว้ใจในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น การเคารพในกฎระเบียบของสังคม การแสดงน้ำใจ ความสนิท เป็นต้น

ลองกลับมาดูประเด็นอื่น ๆ ดูบ้าง ในเรื่อง “บทบาทของทุนทางสังคม และชุมชนไซเบอร์ในการร่วมกิจกรรมสาธารณะ”

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการร่วมกิจกรรม ของกลุ่มผู้ใช้อิสระกับการร่วมกิจกรรมของสมาชิกชุมชนไซเบอร์ โดยพบว่าการร่วมกิจกรรมของผู้ใช้อิสระ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลเป็นหลัก ในขณะที่การร่วมกิจกรรมของสมาชิกชุมชนไซเบอร์จะมี “ทุนทางสังคม” ที่คอยช่วยให้เกิดกิจกรรมร่วมกันได้ ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ การร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ของสมาชิกกลุ่มเดิม ที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่ากิจกรรมของผู้ใช้อิสระ โดยพบว่าข้อได้เปรียบของชุมชนไซเบอร์ ในการส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะ คือเรื่องของ “เครือข่ายความสัมพันธ์” ในชุมชนที่มีอยู่เดิมแล้ว และเมื่อศึกษาเจาะลึกลงไป ถึงการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นพิเศษของสมาชิกชุมชนไซเบอร์ ในกรณีที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน แต่เคยแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในชุมชนไซเบอร์เท่านั้น เมื่อได้มาพบเจอกันจริง ๆ

ปรากฏว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 67 แสดงความเห็นว่า “ลักษณะของเพื่อนเหมือนดังที่คาดไว้เป็นส่วนใหญ่” ความเห็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนไซเบอร์มีการนำเสนอหรือแสดงออกถึงลักษณะส่วนบุคคล หรือข้อมูลส่วนบุคคล สู่สาธารณะมากพอสมควร ที่จะทำความรู้จักกัน แม้ว่าจะไม่เคยเจอกันมาก่อนก็ตาม
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสมาชิกชุมชนไซเบอร์จะมีความรู้สึกถึงคำว่า “คนแปลกหน้า” น้อยมาก เมื่อมาพบกัน ทั้งนี้เพราะเคยติดต่อสื่อสารกันผ่านชุมชนไซเบอร์มาบ้างแล้ว แต่เมื่อมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันจริง ๆ กลับพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงลักษณะความสัมพันธ์ในเชิงคุณภาพ ที่แตกต่างไปจากเมื่ออยู่ในชุมชนไซเบอร์ คือ มีลักษณะของ “เพื่อนสนิท” น้อยลงและความรู้สึกของ “คนที่รู้จักกันบ่อย ๆ” น้อยลงไปมาก

โดยส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกปฏิสัมพันธ์กับคนที่ร่วมกิจกรรมด้วยกันในลักษณะของ “เพื่อนร่วมงาน” ที่มีลักษณะที่เป็นทางการมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความรู้สึกหรือลักษณะความสัมพันธ์แบบ “คนแปลกหน้า” มีน้อยมาก ซึ่งลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า การมาพบกันได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะความสัมพันธ์ในเชิงคุณภาพ ที่ปรากฏความห่างเหินมากขึ้น แต่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นใหม่แบบ “คนแปลกหน้า” โดยมีลักษณะเป็นทางการมากขึ้น แต่สร้างลักษณะความสัมพันธ์ที่สมจริงมากขึ้น

ภายหลังการทำกิจกรรมร่วมกัน กลับพบว่า ลักษณะความสัมพันธ์ของสมาชิกชุมชนไซเบอร์แต่ละบุคคลมี “ความสนิทแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น” นั่นแสดงให้เห็นว่า “ความห่างเหิน” ขณะมีกิจกรรมร่วมกันนอกอินเตอร์เน็ท เกิดจากการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ที่ให้ความรู้สึกเหมือน “สัมพันธ์ใหม่ในสภาพแวดล้อมใหม่” มากกว่า “การสูญหาย” ทั้งนี้เนื่องจากการสื่อสารในอินเตอร์เน็ทสร้างความสะดวกใจคุ้นเคยมากกว่าการได้มาเจอตัวจริง และการได้มาร่วมกันทำกิจกรรม ยังส่งผลให้ทุนทางสังคมเพิ่มขึ้น เพราะสมาชิกส่วนใหญ่มีความสนิทสนมกันมากขึ้น อีกทั้งการร่วมกันทำกิจกรรมยังทำให้การสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ท มีลักษณะที่สมจริงมากยิ่งขึ้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นเพียงข้อค้นพบที่สำคัญบางส่วน ที่ประมวลมาจากงานวิจัยของ
คุณพีระ ลิ่วลม ซึ่งยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก

งานวิจัยเรื่องนี้น่าจะเป็นเป็นมิติใหม่ของการทำงานวิจัยที่เกี่ยวกับเครื่องมือสื่อสารในโลกสมัยใหม่ ซึ่งในที่นี้หมายถึง “คอมพิวเตอร์” ที่โดยทั่วไปแล้ว มักจะถูกมองในแง่ของการเป็น “เทคโนโลยีหรือเครื่องมือ” มากกว่า แต่ในงานวิจัยของคุณพีระครั้งนี้ กลับสามารถผูกประเด็นในเรื่องความเป็นแค่เครื่องมือสื่อสาร เข้ากับประเด็นเรื่อง “ทุนทางสังคม” ได้อย่างน่าชื่นชม เพราะโดยทั่วไปงานวิจัยที่จะทำการศึกษาร่วมกัน ระหว่างเทคโนโลยีที่ทันสมัย กับเรื่องทางสังคมนั้น ไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งนัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะมองแยกส่วนกันระหว่างประเด็นใน เรื่อง “สังคมกับวิทยาศาสตร์”
ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองอย่างจะต้องมองอย่างเป็น “องค์รวม” ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

 

Be the first to comment on "การศึกษาศักยภาพของ “ทุนทางสังคม” ของชุมชนไซเบอร์"

Leave a comment

Your email address will not be published.